รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 31, 2013 10:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์เผยผลผลิตไข่ไก่ลดลงจากสภาพอากาศร้อนจัด

2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์เผยผลผลิตไข่ไก่ลดลง จากสภาพอากาศร้อนจัด
  • คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์รายงานว่าผลผลิตไข่ไก่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 32 ล้านฟองต่อวัน ลดลงจากปกติที่ 36 ล้านฟองต่อวัน โดยมีไก่ไข่ยืนกรงคิดเป็นจำนวน 46-47 ล้านตัว ผลผลิตที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิร้อนจัด ทำให้ล้มป่วยและผลิตไข่ได้น้อยลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ไข่ไก่เป็นสินค้าจำเป็นซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้เป็น 1 ใน 42 รายการสินค้าและบริการควบคุม ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงอาจทำให้เกษตรกรขาดทุนเนื่องจากไม่มสามารถปรับเพิ่มราคาไข่ได้สอดคล้องตามผลผลิตที่ลดลง อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อพิจารณาสถานะการขาดทุนของเกษตรกร ต้นทุนการผลิตไข่ไก่อยู่ที่ 2.85 บาทต่อฟอง ส่วนราคาไข่ไก่คละขนาดหน้าฟาร์มขั้นสูงอยู่ที่ 3.28 - 3.42 บาทต่อฟอง และขั้นต่ำอยู่ที่ 2.99 บาทต่อฟอง ซึ่งยังถือว่าเกษตรกรยังคงมีกำไรจากการผลิตอยู่ และยังไม่น่าส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนในระยะสั้น
2.ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ ประกาศตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้เดือน เม.ย. 56 โดยกลับมาขยายตัวร้อยละ1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ภายหลังจากหดตัวร้อยละ -2.7 ในเดือนก่อนหน้า ผลจากการผลิตสินค้าหมวดสินค้าไม่คงทนสินค้าสำหรับก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่กลับขยายตัวได้ดี
  • สศค. วิเคราะห์ว่าตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 ที่ร้อยละ0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -1.3 ในปี 55 สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตของเกาหลีใต้ที่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้นั้นพึ่งพาภาคการส่งออกในสัดส่วนถึงร้อยละ53.0 ของGDP (สัดส่วนปี 55) ซึ่งภาคการค้าระหว่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญนับเป็นแรงสนับสนุนอีกทางหนึ่งต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 56 นี้ประกอบกับธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ลง 25 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปีนั้นเป็นปัจจัยเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศอีกทางหนึ่ง
  • อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ยังคงมีความเสี่ยง 2 ประเด็นสำคัญคือ (1) กรณีสงครามคาบสมุทรเกาหลีที่ถึงแม้ณขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า แต่จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในทุกด้าน (2) การอ่อนค่าลงของเงินเยนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้าส่งออกเกาหลีใต้
3. GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 53 ผลจากการบริโภคภาครัฐที่ขยายตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ของฟิลิปปินส์ไตรมาสที่ 1 ปี 56 ที่ขยายตัวดีเป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐเป็นสำคัญ ได้แก่ การเร่งการดำเนินการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน ในทางตรงข้ามรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็เพิ่มอัตราภาษีสินค้าในหมวดบุหรี่และเครื่อมดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นการชดเชยรายได้เพิ่มเติม และรักษาระดับไม่ให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70.5 ของ GDP นั้นยังคงชะลอตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่องมายังเดือน เม.ย.56 สะท้อนจากยอดขายยานพาหนะที่ขยายตัวร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดย ชะลอลงอย่างมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 34.2 ทั้งนี้ ณ เดือน มี.ค. 56 สศค.คาดการณ์ว่าในปี 56 GDP ของฟิลิปปินส์จะขยายตัวร้อยละ 5.1 (ช่วงคาดการณ์ 4.6 - 5.6)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ