รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 7, 2013 11:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2556

Summary:

1. หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.56 ลดลง

2. อินเดียปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าทองคำ เพื่อลดการขาดดุลการค้า

3. ยอดส่งออกออสเตรเลียเดือน เม.ย. 56 กลับมาหดตัว

Highlight:

1. หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.56 ลดลง
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. 56 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมพ.ค.อยู่ที่ 72.8 จุด ลดลงจากเดือน เม.ย. 56 ที่ระดับ 73.9 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 74.4 จุด ลดลงจาก 76.4 จุดในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 100.4 จุด ลดลงจาก 101.8 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 56 ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 5.3 และปรับลดคาดการณ์ปี 56 เหลือร้อยละ 4.2 - 5.2 มนอกจากนี้ การส่งออกเดือนเม.ย.56 ขยายตัวในระดับต่ำ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งเงินบาทแข็งค่า นอกจากนี้ ราคาพืชผลการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก ส่วนหนึ่งมาจากการที่คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 อีกทั้งเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมาเล็กน้อย
  • สศค. วิเคราะห์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือน พ.ค. 56 ที่ปรับตัวลดลงดังกล่าว สอดคล้องกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนที่แสดงสัญญาณการชะลอตัวลงมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 56 ไม่ว่าจะเป็นยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ในเดือน เม.ย. 56 ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงมากจากไตรมาส 1 ปี 56 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งยอดจำหนายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในเดือน เม.ย. 56 เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาคการบริโภคภาคเอกชนไทยได้รับอานิสงส์จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดเดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งระดับราคาที่มีเสถียรภาพจะช่วยเอื้อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยได้ดีขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ มี.ค. 56 ว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 56 นี้จะขยายตัวร้อยละ 4.6 และจะมีการปรับประมาณการครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 56 นี้
2. อินเดียปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าทองคำ เพื่อลดการขาดดุลการค้า
  • นาย Sumit Bose อธิบดีกรมสรรพสามิตอินเดีย ประกาศปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าทองคำจากร้อยละ 6.0 เป็นร้อยละ 8.0 วานนี้ (5 มิ.ย. 56) และมีผลบังคับใช้ทันที โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมปริมาณการนำเข้าทองคำ ทั้งนี้ ในเดือนเม.ย. 56 ราคาทองคำปรับตัวลดลงอย่างมาก อุปสงค์ต่อทองคำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อินเดียจึงนำเข้าทองคำเป็นปริมาณมากจนส่งผลให้อินเดียขาดดุลการค้ามากถึง 967 พันล้านรูเปียห์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อินเดียเป็นประเทศที่นำเข้าทองคำมากที่สุดในโลก เนื่องจากชาวอินเดียมีความนิยมในทองคำเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ใช้ทองคำเป็นสินสอดในการแต่งงานจนถึงการถือครองเพื่อลดความเสี่ยงจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อ (Inflation Hedge) โดยในปี 55 อินเดียนำเข้าทองคำคิดเป็นร้อยละ 11.5 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ทั้งนี้ ในช่วงเดือน เม.ย. 56 ราคาทองคำในตลาดโลกลดลลงมาก เนื่องจาก (1) EU บังคับให้รัฐบาลไซปรัสนำทองคำสำรอง มูลค่ากว่า 400 ล้านยูโร ออกมาขายเพื่อระดมทุนในการช่วยเหลือภาคธนาคารที่กำลังประสบวิกฤติ (2) ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ออกมาไม่ดีเท่าที่คาด โดย GDP จีน ไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวพียงร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำกว่าที่นักวิคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 8.0 (3) คำแถลงของธนาคารกลางสหรัฐในการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค 56 และมีการแถลงเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 56 ว่า Fed อาจชะลอหรือลดปริมาณการทำมาตรการ QE ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาของนักลงทุน ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าราคาทองคำกำลังปรับตัวลดลง จึงมีการเทขายทองคำแท่ง (Physical Gold) และสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) ทำให้ราคาทองคำในช่วงนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว และราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคา ณ 5 มิ.ย. 56 อยู่ที่ 1 ,398.44 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากราคา ณ ต้นปี มากถึงร้อยละ -16.2 ซึ่งราคาที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นอุปสงค์ทองคำของอินเดียได้ การปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าทองคำจึงเป็นมาตรการที่เหมาะสมมาตรการหนึ่งในการป้องกันการขาดดุลการค้าของอินเดีย
3. ยอดส่งออกออสเตรเลียเดือน เม.ย. 56 กลับมาหดตัว
  • มูลค่าการส่งออกออสเตรเลีย เดือน เม.ย. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเมื่อขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -1.2 จากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่ยังคงหดตัวเป็นสำคัญ ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าในเดือนเดียวกัน หดตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ออสเตรเลียเกินดุลการค้ามูลค่า 629 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียพึ่งพาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในสัดส่วนที่น้อยมาก จากสัดส่วนการส่งออกสุทธิในปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของGDP สะท้อนว่าอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียผ่านช่องทางการค้าอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม GDP ออสเตรเลีย ไตรมาส 1 ปี 56 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 56 นั้น ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาสที่ผ่านมา จากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวเป็นสำคัญ ผนวกกับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียที่เป็นไปอย่างเปราะบาง ทั้งนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน มิ.ย. 56 ไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี ภายหลังจากการปรับลดร้อยละ 0.25 ในเดือน พ.ค. 56 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อต่อการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศซึ่งเป็นเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจออสเตรเลียให้ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ