รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 4, 2013 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. รมว.คลัง ไม่ห่วงเงินทุนไหลออก เชื่อว่ายังมีสภาพคล่องมากพอ

2. SCB ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.6

3. เฟดเผยยังไม่เร่งคุมเข้มนโยบายการเงิน

Highlight:

1. รมว.คลัง ไม่ห่วงเงินทุนไหลออก เชื่อว่ายังมีสภาพคล่องมากพอ
  • รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลต่อปริมาณเงินทุนที่ไหลออกในช่วงนี้ เพราะยังเชื่อมั่นว่ายังดีกว่าช่วงที่เงินทุนไหลเข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์จากการเก็งกำไรระยะสั้น นอกจากนี้เชื่อมั่นว่าสภาพคล่องในระบบยังมีมากพอ ซึ่งความผันผวนของเงินทุนไหลเข้า-ออกนั้น อาจจะกระทบตลาดหุ้นบ้างแต่สุดท้ายแล้วราคาตลาดหุ้นก็สะท้อนสภาพความเป็นจริง โดยเชื่อว่าขณะนี้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสมแล้ว แต่ก็ฝากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูเรื่องมเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 175.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนพ.ค. 56 ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า สะท้อนถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าสูงสุดที่ระดับ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันค่าเงินอ่อนค่าที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้รายงานสถานะบัญชีทุนเคลื่อนย้ายของปี 56 อยู่ที่ระดับ 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
2. SCB ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.6
  • ศูนย์วิจัย SCB คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานในปี 56 มาที่ร้อยละ 2.6 และ 1.3 ตามลำดับ จากเดิมที่ได้คาดการณ์ไว้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ร้อยละ 2.8 ถึง 3.4 หลังจากอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 2.25 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า โดยชะลอลงจากร้อยละ 2.27 ในเดือน พ.ค. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.88 ชะลอลงจากร้อยละ 0.94 ในเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.15 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom) จากการเพิ่มขึ้นสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแฮลกอฮอล์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -0.07 จากราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบก็ได้ปรับลดลงร้อยละ -8.6 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี จากการที่อัตราเงินเฟ้อในช่วง 6 เดือนแรกปี 56 อยูที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 ถึง 3.0 คาดการณ์ ณ มิ.ย.56)
3. ธนาคารกลางสหรัฐเผยยังไม่เร่งคุมเข้มนโยบายการเงิน
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขานิวยอร์ก กล่าวว่า Fed ยังไม่พร้อมที่จะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่มีความเข้มงวด โดยระบุว่าการที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) มีแนวโน้มจะเริ่มลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรลงในปีนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสัญญาณของการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของ Fed ประธานเฟดสาขานิวยอร์กกล่าวย้ำว่า การลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ในทันที จะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจด้วย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ Fed ยังไม่ได้เร่งรัดการคุมเข้มนโยบายการเงินดังกล่าว เนื่องจากต้องดูความชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 1 ปี 56 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (qoq_sa) จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ1.9 และ4.0 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ยอดสร้างบ้านใหม่ในเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากเดือนก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ระดับ 81.4 จุด สูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 74.3 จุด (ตัวเลขปรับปรุง) ผลจากทั้งดัชนีภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะจากภาคการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ