รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 26, 2013 11:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2556

Summary:

1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัติโนมัติ (FT) ในงวด ก.ย. - ธ.ค. 56

2. ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ 16 ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 1.720 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

3. ภาคเอกชนญี่ปุ่นเมินจ้างงานเพิ่มในปีหน้า

Highlight:

1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัติโนมัติ (FT) ในงวด ก.ย. - ธ.ค. 56
  • นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้รับทราบมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) งวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 56) จำนวน 6-7 สตางค์ต่อหน่วย โดยกล่าวว่า "แม้เคยพูดว่าค่าเอฟทีงวดใหม่นี้จะไม่ปรับขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน แต่ในขณะนี้เงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไป เพราะต้นทุนค่าเอฟทีงวดใหม่โดยรวมความจริงปรับเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 14 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น หากค่าไฟฟ้าไม่ปรับเพิ่มขึ้นบ้างต้นทุนเหล่านี้จะไปรวมในปี 57"
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของค่า FT ในงวด ก.ย. - ธ.ค. 56 มาอยู่ที่ 46.98-46.99 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวด พ.ค. - ส.ค. 56 ที่อยู่ 46.92 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัจจัยค่าเงินบาท และความไม่สงบทางการเมืองในประเทศอิยิปต์ที่อาจส่งผลให้ ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่า FT อาจเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 56 โดย สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 (ณ พ.ค. 56) ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ก.ย. 56
2. ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ 16 ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 1.720 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ 16 ส.ค.56 อยู่ที่ระดับ 1.720 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (Forward) อยู่ที่ระดับ 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ซึ่งรวมทุนสำรองฯ ในปัจจุบันและ Forward แล้วอยู่ที่ระดับ 1.956 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของทุนสำรองฯ เพียงเล็กน้อยที่ระดับ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ บ่งชี้ว่า ธปท. อาจเข้าไปดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนมากนัก และให้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด อย่างไรก็ดี การที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ที่อยู่ระดับ 1.720 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นั้นถือได้ว่ายังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และสะท้อนถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกของไทย ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และสามารถรองรับความผันผวนทางปัจจัยภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกอื่นๆ เช่น ทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ที่ 2.6 เท่า และทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่านำเข้าเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 9.2 เดือน ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 56
3. ภาคเอกชนญี่ปุ่นเมินจ้างงานเพิ่มในปีหน้า
  • จากผลสำรวจโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับมุมมองและแผนการดำเนินงานทางธุรกิจในปี 57 ของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นขนาดใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 1 พันล้านเยน พบว่า บริษัทส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะไม่จ้างงานเพิ่ม นอกจากนี้ มากกว่า 1 ใน 6 ของกลุ่มตัวอย่างยังมีแผนการเพิ่มเติมที่จะลดรายจ่ายด้วยภายในปีหน้า สาเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลของนายชินโสะ อาเบะ มีแผนที่จะขึ้นภาษีการขาย (Sales tax) ในเดือน เม.ย. 57 จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7 จากความจำเป็นที่ต้องนำรายได้มาชดเชยภาระทางการคลังขนาดใหญ่ภายในประเทศ โดยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการแสดงความกังวลว่าจะไม่สามารถผลักภาระทางภาษีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคได้ ซึ่งจะทำให้ทางภาคการผลิตต้องแบกรับต้นทุนทางภาษีไว้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากนโยบายการขึ้นภาษีดังกล่าว ผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก เช่น กลุ่มค้าปลีก ร้านอาหาร ที่ไม่สามารถผลักภาระทางภาษีไปยังผู้บริโภคได้มากนัก จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. อยู่ที่ระดับ 43.6 ลดจาก 44.3 ในเดือนก่อนหน้า (ต่ำกว่า 50 แสดงถึงความไม่เชื่อมั่น) ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตเพื่อส่งออกน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากสามารถปรับราคาขึ้นได้ง่ายกว่า โดยอาศัยความได้เปรียบด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนลงมามาก อย่างไรก็ดี ในภาพรวมนโยบายดังกล่าวจะกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญผ่านผลกระทบด้านการจ้างงานที่จะชะงักงันจากแผนการลดต้นทุนของบริษัทส่วนใหญ่ที่จะทำให้กระทบกำลังซื้อภายในประเทศที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดที่ประมาณร้อยละ 60 ขณะที่การส่งออกมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 ทำให้เป้าหมายที่จะดึงญี่ปุ่นออกจากยุคเงินฝืดอันยาวนานของ นายอาเบะ อาจมีอุปสรรคภายในที่สำคัญที่ต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ