เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 29, 2013 14:24 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2556 เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงชะลอลง โดยการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ขณะที่ปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบกลับมาขยายตัวในอัตราเร่ง บ่งชี้แนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2556 มีสัญญาณชะลอตัวในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกรกฎาคม 2556 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -1.9 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) มีสัญญาณหดตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -0.2 ต่อเดือน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.5 สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกรกฎาคม 2556 ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.0 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อเดือน สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกรกฎาคม 2556 ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -26.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปีก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2556 หดตัวร้อยละ -6.2 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อเดือน โดยมาจากยอดขายรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพมหานครที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากเดือนก่อนหน้า เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 70.6 ซึ่งเป็นการลดลงเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรในภาคชนบท ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวลดลง

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน          2555                  2556
                                             Q1     Q2    มิ.ย.   ก.ค.    YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)         14.1    6.9   -0.2   -2.4   -1.9     2.6
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -0.8   -3.1   -3.3   -0.2       -
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)     -0.4    4.4    7.8    5.2    9.0     6.5
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -4.4   -1.0    5.6    7.6       -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)           86.6   97.2   -3.3  -17.7  -26.3    24.1
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -3.0  -29.1   -7.9   -3.3       -
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)     5.8    5.4   -6.2  -10.8   -6.2    -1.5
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -1.1   -4.9  -10.1    6.7       -
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                  67.6   73.8   72.8   71.8   70.6    72.9

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2556 มีสัญญาณดีขึ้นเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกรกฎาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 29.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 17.1 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยหลักจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มกลับสู่สภาวะปกติจากเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศ และการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ และที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกรกฎาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวร้อยละ -3.6 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2556 ยังคงหดตัวร้อยละ -29.6 ต่อปี เนื่องจากมีการเร่งผลิตและส่งมอบไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า และปัจจัยฐานสูงจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปีก่อนหน้า

    เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                   2555                   2556
                                                       Q1      Q2     มิ.ย.    ก.ค.    YTD
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                     22.1      3.8    -1.5    -5.1    -3.6     0.3
   %qoq_SA / %mom_SA                           -    -12.5     0.6   -13.1     8.7       -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือและรถไฟ (%yoy) 23.2     -0.7   -11.2   -13.5    -7.9    -6.4
   %qoq_SA / %mom_SA                                 -8.5    -5.8    -6.4     7.4       -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)             76.2     19.4     3.2   -10.7   -24.5     5.6
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -2.8    -6.2    -9.4   -11.5       -
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)         21.4     35.2    10.9   -10.4    29.9    22.6
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -1.7    -2.4    -7.5    17.1       -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                   10.6     15.9    14.6     9.9     0.9    13.1
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -0.7     1.2    -1.9    -3.0       -

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนกรกฎาคม 2556 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากการขาดดุลงบประมาณ ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนกรกฎาคม 2556 มีจำนวน 132.7 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ต่อปี สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนกรกฎาคม 2556 มีจำนวน 171.1 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 158.4พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -7.5 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 137.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -6.1 และ (2) รายจ่ายลงทุน 20.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -15.9 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 12.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 58.4 ต่อปี สำหรับดุลเงินงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2556 ขาดดุลจำนวน -34.4 พันล้านบาท

    เครื่องชี้ภาคการคลัง                         FY2555                              FY2556
                                                     Q1/FY56    Q2/FY56    Q3/FY56     ก.ค.     YTD
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)    1,975.6     508.3      469.8      642.2   132.7  1,753.0
   (%y-o-y)                                    4.4      27.6       13.8        3.4     4.6     12.4
รายจ่ายรัฐบาลรวม                             2,295.3     785.9      585.7      482.0   171.1  2,014.7
   (%y-o-y)                                    5.4      60.5      -24.9        4.8    -4.6      6.1
ดุลเงินงบประมาณ                               -314.7    -284.2     -108.9      155.0   -34.4   -272.5

4. การส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2556 หดตัวในอัตราที่ลดลงและมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2556 มีมูลค่า 19.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลดลงที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) สามารถกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อเดือน เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเชื้อเพลิง ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.1 และ 13.3 ตามลำดับ ประกอบกับตลาดอาเซียนสามารถขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักสำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.3 -10.5 และ -0.6 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2556 มีมูลค่าอยู่ที่ 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี และเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 2556 ขาดดุลอยู่ที่ -2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

           ประเทศคู่ค้าหลัก                               2556
     (สัดส่วนการส่งออกปี 2555)        2555      Q1       Q2    มิ.ย.    ก.ค.     YTD
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)                3.1     4.3     -2.2   -3.4    -1.5      0.6
%qoq_SA / %mom_SA                         -0.9     -3.4   -3.9     0.8        -
1.จีน (11.7%)                       2.5     7.3    -13.4  -16.7    -5.3     -3.8
2.ญี่ปุ่น (10.2%)                     -1.6     1.5     -6.2  -11.9   -10.5     -3.7
3.สหรัฐฯ (9.9%)                     4.6     2.6     -3.5   -9.4    -0.6     -0.5
4.สหภาพยุโรป (8.5%)                -9.2     8.7     -5.2   -2.4     0.0      1.2
5.ฮ่องกง (5.7%)                     9.6    11.2      7.8    9.7    -7.8      6.8
6.มาเลเซีย (5.4%)                   0.2    -0.8      5.9    9.5     9.6      3.5
7.สิงคโปร์ (4.7%)                   -5.1    10.6    -10.6    1.0    41.5      4.3
8. ตะวันออกกลาง (5.0%)              6.6     4.4     -5.6   -2.9   -13.9     -2.7
9.ทวีปออสเตรเลีย (4.9%)             22.1    30.4     14.5    6.1    17.3     21.2
PS.อาเซียน-9 (24.7%)                5.0     5.9      2.5    5.5     8.6      4.7

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2556 ยังคงหดตัวในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2556 หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวลดลงที่ร้อยละ -0.4 ต่อเดือน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหมวดอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวในเดือนกรกฎาคม 2556 ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งจากโรคระบายหรือโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ทำให้ขาดแคลนกุ้งในการผลิต (2) อุตสาหกรรมเครื่องประดับ (3) อุตสาหกรรมเครื่องหนัง (4) อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ประสบปัญหาอุปสงค์ (Demand) ในตลาดโลกที่ชะลอลง และ (5) อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน เนื่องจากนโยบายรถคันแรกที่สิ้นสุดลง เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมปิโตรเลียมกลับมาขยายเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 10.6 เนื่องจากการใช้น้ำมันภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งจากดีเซล และเบนซิน ประกอบกับการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Cap U) ในเดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 64.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 91.9 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับจากต้นปี 2556 โดยมีปัจจัยหลักจากความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรมีสัญญาณหดตัวลง โดยในเดือนกรกฎาคม 2556 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ายังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.5 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวดีจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 69.0 26.2 และ 41.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน            2555                   2556
                                               Q1       Q2      มิ.ย.      ก.ค.     YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)               2.5    3.0     -5.2     -3.2      -4.5     -0.9
   %qoq_SA / %mom_SA                     -   -3.1     -5.9     -3.5      -0.4        -
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)               2.6    2.2      1.3      7.6      -2.7     -0.4
   %qoq_SA / %mom_SA                     -   -1.5      0.8      7.4      -7.4        -
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)                16.2   18.9     21.3     25.0      22.5     20.4
   %qoq_SA / %mom_SA                     -    1.1      8.1      6.1      -3.3        -

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวของผักผลไม้ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาไข่ไก่ปรับลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศและราคาสินค้าหมวดเนื้อสัตว์เป็ดไก่มีการปรับตัวสูงขึ้นไม่มากนัก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 คงที่จากเดือนก่อนหน้า ส่วนอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 2.2 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 44.3 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 172.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.6 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ            2555                   2556
                                               Q1     Q2      มิ.ย.    ก.ค.    YTD
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                   3.0    3.1    2.3      2.3     2.0     2.6
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                  2.1    1.5    1.0      0.9     0.9     1.2
   อัตราการว่างงาน (yoy%)                0.7    0.7    0.7      0.5     n.a.    0.7
   หนี้สาธารณะ/GDP                      44.0   44.3   44.3     44.3     n.a.   44.3
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)              2.7    1.3   -5.1     -0.7     n.a.   -3.8
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)           181.6  177.8  170.8    170.8   172.2   172.2
   ฐานะสุทธิ Forward  (พันล้าน $)         24.1   23.7   23.7     23.7    23.0    23.0

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ