รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 7, 2013 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2556

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) เดือน ส.ค. 56 ลดเหลือ 42.7

2. สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดเป้าส่งออกข้าวปี 56 อยู่ที่ 6.8 ล้านตัน

3. ปิดรัฐบาลชั่วคราว กระทบการตัดสินใจลด QE

Highlight:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) เดือน ส.ค. 56 ลดเหลือ 42.7
  • นายชาวันย์ สวัสดิ์ชู-โต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือน ส.ค. 56 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 56 ว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 42.7 จากระดับ 43.3 (ลดลง 0.6) สำหรับดัชนีคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.8 จากระดับ 46.2 (เพิ่มขึ้น 6.6) และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกประเภทกิจการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของดัชนี TSSI ในเดือน ส.ค. 56 สะท้อนว่าผู้ประกอบมีความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจลดลง เนื่องจากดัชนีมีค่าอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นผลมาจากดัชนีภาคการค้าส่งจากระดับ 46.4 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 43.8 โดยเฉพาะในหมวดกิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ประกอบกับดัชนีภาคการค้าปลีกลดลงเช่นเดียวกันมาอยู่ที่ระดับ 42.0 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 44.6 โดยเป็นผลมาจากการลดลงในหมวดกิจการร้านค้าปลีกดั้งเดิม และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับขึ้นราคาสาธารณูปโภค และอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมีสัดส่วนร้อยละ 13.4 ต่อ GDP ในปี 55 อย่างไรก็ตาม ดัชนี TSSI ในภาคบริการเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 43.2 สะท้อนผู้ประกอบการเริ่มส่งสัญญาณว่ามีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นบ้างในภาคธุรกิจบริการ แม้ว่าดัชนีจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ก็ตาม
2. สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดเป้าส่งออกข้าวปี 56 อยู่ที่ 6.8 ล้านตัน
  • สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดซุ้มจำหน่ายข้าวหอมมะลิเป็นของฝากและของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว 3 จุด ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายปลายเดือน ต.ค. 56 นั้น จะช่วยให้ชาวต่างชาติรู้จักข้าวหอมมะลิไทยมากขึ้น นอกจากนี้ จากนโยบายการเร่งระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ทำให้ราคาขายปัจจุบันปรับลดลงเหลือ 420-430 ดอลลาร์ต่อตัน จาก 500 ดอลลาร์ต่อตัน จะช่วยให้ประเทศไทยขายข้าวได้มากขึ้น และคาดว่าเป้าส่งออกข้าวปี 56 จากที่คาดไว้ที่ 6.5 ล้านตัน จะเพิ่มเป็น 6.8 ล้านตัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่กดดันการส่งออกข้าวไทยในปี 56 นั้น ได้แก่ ประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวสำคัญของโลก ได้แก่ เวียดนามและอินเดีย ต่างมีการปรับลดราคาส่งออกข้าว เพื่อเร่งระบายสต็อกข้าวที่มีอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากการที่มีอุปทานส่วนเกินค่อนข้างสูงในปีเพาะปลูกที่ผ่านมา จากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยในการเพาะปลูกและไม่ประสบปัญหาภัยพิบัติ โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 ต.ค. 56 พบว่า ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ระดับ 360 -370 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน (ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในตลาด) ขณะที่ข้าวขาว 5% ของอินเดียอยู่ที่ 415-425 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยมีทั้งสิ้น 4.14 ล้านตัน หรือหดตัวร้อยละ -4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และประเทศคู่ค้าหลักในการนำเข้าข้าวไทย ได้แก่ อิรัก เบนิน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และไอวอรี่โคสต์
3. ปิดรัฐบาลชั่วคราว กระทบการตัดสินใจลด QE
  • การปิดรัฐบาล (Government Shutdown) ชั่วคราวของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเหตุให้ ผู้ดำเนินนโยบาย ขาดข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE นั้นคือ รายงานสถานการณ์ตลาดแรงงานในเดือน ก.ย. 56 และหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจไม่สามารถดำเนินการรายงานในเดือน ต.ค. 56 ได้อีกด้วย ทั้งนี้ การปิดรัฐบาลนั้นยังไม่ทราบวันสิ้นสุดที่แน่ชัด เนื่องจากการเจรจาระหว่างสภาล่างและสภาสูงเกี่ยวกับงบประมาณปี 57 ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ อย่างไรก็ดี ในอดีตนั้น การปิดรัฐบาลในลักษณะนี้ใช้เวลามากที่สุด 21 วันในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน เมื่อปี 38
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปิดรัฐบาลชั่วคราวกระทบต่อ QE ในสองส่วน ส่วนแรกคือ การขาดข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจดำเนินนโยบาย ซึ่งอาจทำให้ทางธนาคารกลางเลื่อนการตัดสินใจออกไปเพื่อรอดูข้อมูลดังกล่าว หลังหน่วยงานทางสถิติสามารถกลับมาปฏิบัติงานได้อีกครั้ง ส่วนที่สองคือ การกระทบโดยตรงในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการหยุดงานลงแบบไม่จ่ายค่าตอบแทนย่อมกระทบกำลังซื้อบางส่วนทันทีแม้เป็นเพียงในระยะสั้น ซึ่งย่อมกระทบกับภาคการผลิตอีกต่อหนึ่ง และในด้านการจ้างงาน อาจมีการลดชั่วโมงการทำงานของแรงงานบางส่วนลงโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระหว่างการเจรจานี้ อาจส่งผลทำให้สถานการณ์ตลาดแรงงานไม่ดีขึ้นอย่างที่ธนาคารกลางคาดหวัง เพื่อเป็นเงื่อนไขในการปรับลด QE ในปลายเดือนนี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ