รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2013 13:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556

Summary:

1. ไทยติดอันดับ 3 ในการสำรวจดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลก ไตรมาสที่ 3 ปี 56 ของ ACNielsen

2. เศรษฐกิจไต้หวัน ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ดัชนี PMI ของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 56 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี

Highlight:

1. ไทยติดอันดับ 3 ในการสำรวจดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลก ไตรมาสที่ 3 ปี 56 ของ ACNielsen
  • AC Nielsen เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลกประจำไตรมาส 3 ปรากฏว่าดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังเกาะกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากที่สุดของโลก โดยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยอยู่ที่ 112 จุด ลดลงจากเดิม 2 จุดจากไตรมาสก่อนหน้า อยู่อันดับ 3 ของโลกร่วมกับอินเดีย นอกเหนือจากไทยแล้ว ประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้นล้วนแต่มีดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน โดยผู้บริโภคอินโดนีเซียมีความเชื่อมั่นมากที่สุดอยู่ในอันดับ 1 ของโลก ที่ 120 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 4 จุด ขณะที่อันดับสอง คือ ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 117 จุด ลดลงมา 3 จุด บริษัทวิจัยตลาดชื่อดังดังกล่าวระบุว่ากาปรับตัวลดลงของความเชื่อมั่นดังกล่าวในกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่เป็นการหดตัวในความเชื่อมั่นด้านสถานะการเงินส่วนบุคคลของผู้บริโภคเอง โดยผู้บริโภคไทยมีความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินส่วนบุคคลลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 68
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดังกล่าวที่จัดทำโดยบริษัท AC Nielsen มีแนวโน้มไปในทางเดียวกับตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคซึ่งจัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มีแนวโน้มลดลง โดยล่าสุดในเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 67.9 จุด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาประเทศอื่นๆ ที่ได้รับอันดับที่ 1 และ 2 พบว่าความเชื่อมั่นไม่ได้ขึ้นกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว โดยในกรณีของอินโดนีเซียที่ประสบปัญหาวิกฤตเงินทุนไหลออก ประกอบกับวิกฤตเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงกลางปี 56 เป็นต้นมา แต่ผู้บริโภคกลับมีความเชื่อมั่นสูงเป็นอันดับ 1 ปัจจัยสำคัญที่เป็นประเด็นร่วมใน 2 อันดับแรก คือ บทบาทของภาครัฐที่เข้ามาดูแลสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างแข็งขัน โดยในกรณีอินโดนีเซีย รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤตเงินทุนไหลออกและเงินเฟ้อ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการส่งเสริมการส่งออกเพื่อลดการขาดดุลเดินสะพัด ในส่วนของฟิลิปปินส์ รัฐบาลก็เร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มการจ้างงาน การที่ไทยติดอันดับ 3 ของประเทศที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากที่สุด ย่อมส่งสัญญาณอันดีต่อเศรษฐกิจไทยที่อาจฟื้นตัวในเร็ววัน
2. เศรษฐกิจไต้หวัน ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวันประกาศการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 1.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไต้หวัน รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากโครงสร้างเศรษฐกิจของไต้หวันที่พึ่งพาอุปสงค์นอกประเทศมาก โดยภาคการส่งออกคิดเป็นส่วนร้อยละ 73.7 ของ GDP ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ล่าสุดมูลค่าการส่งออกในเดือนส.ค. 56 หดตัวร้อยละ -7.0 ทั้งนี้ คู่ค้าสำคัญอันดับที่ 1 ของไต้หวัน คือ จีน ด้วยสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 26.8 ของมูลค่าส่งออกรวม (สัดส่วนปี 55) ดังนั้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ย่อมส่งผลต่อการส่งออกของไต้หวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. 56 จากไต้หวันไปยังจีนขยายตัวร้อยละ 3. 3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 เล็กน้อย เป็นสัญญาณบวกต่อภาคการส่งออกไต้หวัน นอกจากนี้ ในส่วนของอุปสงค์ในประเทศ ผู้บริโภคไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ จึงไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัวในระดับต่ำ ล่าสุดในเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 คงที่เท่ากับเดือนก่อน ทำให้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 56 เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า ในปี 56 เศรษฐกิจไต้หวันจะขยายตัวร้อยละ 2.0 (ช่วงคาดการณ์ 1.5 - 2.5) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไต้หวันในไตรมาสสุดท้ายของปีจะขยายตัวเร่งขึ้น จากการส่งออกไปยังจีนที่มักจะเร่งตัวในช่วงปลายปีก่อนเทศกาลปีใหม่ในต้นปีถัดไป
3. ดัชนี PMI ของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 56 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg PMI) ของญี่ปุ่นเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 52.5 จุด ซึ่งเป็นการอยู่เหนือระดับ 50 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 บ่งชี้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวรวมทั้งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 53 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เป็นผลจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่และดัชนีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3- 4 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนี PMI ของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 56 ปรับตัวสูงขึ้นมากจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งสะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 56 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่นประกาศไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค.56 ว่า ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากเดือนก่อนหดตัวร้อยละ -1.0 นอกจากนี้ ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในเดือนนี้ ส่งสัญญาณว่าภาคการส่งออกของญี่ปุ่นกำลังได้กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่แล้ว ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นที่ขยายตัวในระดับสูงตั้งแต่เดือน พ.ค. 56 เป็นต้นมา ล่าสุดมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่สามารถกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายลูกศรสามดอกของทางการญี่ปุ่น โดยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Monetary Easing: Q2) ของธนาคารกลางญี่ปุ่นมีผลข้างเคียงทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นได้เปรียบในตลาดโลก และการส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัวเร่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการคลัง เช่น มาตรการการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายและป้องกันภัยพิบัติในอนาคต และโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและเศรษฐกิจโดยรวม และมาตรการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันยังไม่ปรากฏแนวทางดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า ในปี 56 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 1.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.4 - 2.4)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ