รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 มีนาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 24, 2014 11:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2557

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์คาดอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0025 จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

2. ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.7

3. การค้นพบ Shale gas ผลักดันภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เติบโต

Highlight:

1. กระทรวงพาณิชย์คาดอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0025 จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 57 จะส่งผล ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.0025 ซึ่งยังทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี อยู่ในกรอบที่ร้อยละ 2.0-2.8 ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดไว้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญความเสี่ยงภายนอกประเทศทั้งในด้านความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลก และวิกฤตยูเครน รวมถึงปัญหาวิกฤตทางการเมืองภายในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้ดอกเบี้ยของหนี้ครัวเรือนลดลง ส่งผลให้ประชาชนมีอำนาจจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ได้อานิสงส์บวกจากต้นทุนที่ลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายจะเป็นแรงกดดันทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทุก ร้อยละ 1.0 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.004 ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงร้อยละ 0.25 จึงส่งผลน้อยมากต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นมีขนาดที่น้อยมากใกล้ศูนย์ โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 56)
2. ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.7
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าธปท. ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 57 อยูที่ร้อยละ 2.7 จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ร้อยละ 3.0 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแออย่างชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปี 57 แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลงได้ภายในช่วงกลางปี 57 จะช่วยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น สำหรับด้านการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ หดตัวร้อยละ 0.2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในหลายๆด้าน อาทิ 1. ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะทางด้านการใช้นโยบายของภาครัฐ 2. ปัญหาภัยธรรมชาติ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะการผลิตภาคการเกษตร อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่คาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 57 ขยายตัวได้ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักสำคัญของไทย อย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมถึงการขยายตัวได้ดีของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในปี 57 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัว ร้อยละ 4.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 56 และสศค.จะปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 26 มี.ค. 57นี้)
3. การค้นพบ Shale gas ผลักดันภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เติบโต
  • ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัว การค้นพบและการขยายตัวของอุตสาหกรรมการขุดเจาะ Shale gas และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนช่วยผลักดันการฟื้นตัวดังกล่าวผ่านการสร้างอุปสงค์ต่อการก่อสร้าง วัตถุดิบและการซื้อเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งอุปสงค์ดังกล่าวได้นำไปสู่การจ้างงานอันเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโต นอกจากนี้ Shale gas ยังได้ช่วยลดต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม จุดแข็งข้อนี้จะช่วยให้มีการลงทุนเพื่อการผลิตในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นรวมไปถึงดุลการค้าที่คาดว่าจะดีขึ้นตามไปด้วย จากราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มถูกลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า Shale gas ให้ผลดีต่อโลกอย่างมาก คือ เป็นการเพิ่มอุปทานพลังงานโดยรวมแก่โลกทำให้ราคาน้ำมันในระยะยาวมีแนวโน้มถูกลง โดย IMF คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 3 แหล่งใน 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ร้อยละ -3.6 โดยเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบในปี 62 จะอยู่ระดับต่ำกว่า 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรงในฐานะผู้นำเข้าน้ำมัน และมีสัดส่วนการใช้พลังงานที่สูง อันจะทำให้ต้นทุนการขนส่งและการผลิตลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในท้ายที่สุด อย่างไรก็ดี ไทยยังมีความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานผ่านการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ