รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 27, 2014 14:01 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 17/2557

วันที่ 27 มีนาคม 2557

"เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การเมือง ผ่านการท่องเที่ยวที่หดตัว และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง สำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวเช่นกัน ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าทรงตัวแต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากการส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้าหลัก"

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ว่า "เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การเมือง ผ่านการท่องเที่ยวที่หดตัว และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง สำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวเช่นกัน ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าทรงตัวแต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากการส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้าหลัก" ทั้งนี้ ในรายละเอียดพบว่า

การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 59.7 ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี ขณะที่ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่กลับมาหดตัวอีกครั้งในรอบ 2 เดือน โดยหดตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวเช่นกันอยู่ที่ร้อยละ -14.0 ต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวระดับสูงอยู่ที่ร้อยละ -54.2 ต่อปี

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง ทั้งในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -6.6 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -35.9 ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -3.8 ต่อปี สะท้อนถึงภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มหดตัว นอกจากนี้ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวเช่นกันโดยอยู่ที่ร้อยละ -2.1 ต่อปี

ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากกลุ่มจากการส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มยานยนต์ที่ขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง และกลุ่ม CLMV โดยขยายตัวร้อยละ 7.0 2.7 8.7 และ 14.1 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากนำมูลค่าส่งออกหักสินค้าในหมวดทองคำแล้วพบว่า ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี

ภาคการผลิตส่งสัญญาณหดตัวเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -4.4 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในระดับสูง ได้แก่ ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ และปิโตรเลียม ที่หดตัวร้อยละ -21.3 -13.9 และ -8.6 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เครื่องแต่งกาย และวิทยุโทรทัศน์ ที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 และ 5.7 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 85.7 เนื่องจากความกังวลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ เช่นเดียวกับ ภาคบริการที่สะท้อน จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 27 เดือน ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 2.17 ล้านคน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -8.1 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่หดตัวลงมาก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย เป็นหลัก อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดข้าวเปลือก จากสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะที่ผลผลิตยางพารายังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากพื้นที่เพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังขยายตัวต่อเนื่อง จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี อัตราการว่างงานล่าสุด (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ในระดับสูงที่ 168.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงแรกของปี 2557 ได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2557 จากครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจคู่ค้าหลักจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ