เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 27, 2014 14:01 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การเมือง ผ่านการท่องเที่ยวที่หดตัว และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง สำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวเช่นกัน ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าทรงตัวแต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากการส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้าหลัก"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี ตามการลดลงของของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -8.1 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.2 สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวร้อยละ -14.0 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 16.1 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม.ที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 25.2 ต่อปี ขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคยังคงหดตัวร้อยละ -24.1 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -54.2 ต่อปี จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลง รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวต่อเนื่องเช่นกัน มาอยู่ที่ร้อยละ -9.8 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 59.7 ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และถือเป็นการปรับลดลงในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นสำคัญ

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน          2556                  2556                 2557
                                             Q1     Q2     Q3     Q4     ม.ค.   ก.พ.   YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)         -0.7    6.8   -0.3   -7.3   -1.0     2.7   -2.4    0.3
   %qoq_SA / %mom_SA                       -2.0   -3.2   -0.9    5.5     3.5   -4.5      -
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)      4.4    4.6    7.7    6.2   -0.2    -5.3   -9.8   -7.3
   %qoq_SA / %mom_SA                       -3.7   -1.6   -1.2    6.3     3.6  -10.1
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)        -6.1   97.2   -3.3  -24.8  -39.7   -55.9  -54.2  -55.0
   %qoq_SA / %mom_SA                       -3.3  -27.3   -2.8  -11.0   -35.8   -2.3      -
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)    -6.0    5.4   -6.2   -8.7  -14.9   -30.3  -14.0  -22.2
   %qoq_SA / %mom_SA                       -2.0   -4.9   -3.7   -4.9   -14.4   16.1      -
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                  70.2   73.8   72.8   69.3   64.9    61.4   59.7   60.6

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีสัญญาณหดตัว โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ที่ร้อยละ -35.9 ต่อปี จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวร้อยละ -6.6 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างเริ่มมีสัญญาณหดตัวเช่นกัน สะท้อนจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวที่ร้อยละ -2.1 ต่อปี ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวร้อยละ -3.8 ต่อปี สะท้อนถึงภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มชะลอตัวในปี 2557 นอกจากนี้ ความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดลดลง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อลดลง ประกอบกับภาพรวมการเปิดขายโครงการใหม่ลดลง เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

    เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                   2556                      2556               2557
                                                       Q1     Q2     Q3     Q4     ม.ค.   ก.พ.   YTD
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)         17.9     35.2   11.0   22.0    9.1    -5.5   -3.8   -4.6
   %qoq_SA / %mom_SA                                 -1.5   -1.4    8.2    4.0    -4.3   -4.6      -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                    8.3     15.9   14.6    3.0    0.3    -1.4   -2.1   -1.7
   %qoq_SA / %mom_SA                                 -0.6    1.3   -1.3    1.0     8.1   -1.6      -
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)             -8.4     19.4    3.2  -26.2  -24.1   -36.2  -35.9  -36.0
   %qoq_SA / %mom_SA                                 -3.1   -7.6  -14.2   -0.9   -12.5   -7.0      -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                     -5.9      3.7   -1.5   -7.9  -16.6   -19.3   -6.6  -13.6
   %qoq_SA / %mom_SA                                -11.8    0.1   -5.1   -0.5    -2.6   -0.2
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือและรถไฟ(%yoy) -10.2     -0.7  -11.2  -10.0  -18.0   -12.3  -15.0  -13.6
   %qoq_SA / %mom_SA                                 -8.5   -5.3   -1.0   -4.5     5.0   -6.1

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พบว่า รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ได้จำนวน 174.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 154.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.1 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 141.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.8 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 12.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 53.6 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ได้จำนวน 147.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -5.4 ต่อปี โดยภาษีที่จัดเก็บได้ลดลงที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีรถยนต์ ที่หดตัวร้อยละ -1.1 และ -37.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับดุลเงินงบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ขาดดุลจำนวน -48.9 พันล้านบาท

    เครื่องชี้ภาคการคลัง                 FY2556                    FY2556               FY2557
       (พันล้านบาท)                              Q1/      Q2/      Q3/     Q4/     Q1/    ม.ค.   ก.พ.   YTD
                                              FY56     FY56     FY56    FY56    FY57
รายได้สุทธิของรัฐบาล                   2,161.3   508.5    469.6    641.9   537.5   503.4  151.9  147.6  802.9
(หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)
   (%y-o-y)                            9.4    27.6     13.7      3.4    -1.2    -1.0   -7.1   -5.4   -3.0
รายจ่ายรัฐบาลรวม                     2,402.5   785.9    585.7    482.0   548.9   831.1  213.2  174.4 1,218.6
   (%y-o-y)                            4.7    60.5    -24.9      4.8    -3.0     5.7    2.4   14.7    6.3
ดุลเงินงบประมาณ                       -239.0  -283.6   -109.1    165.1   -11.4  -333.7  -49.6  -48.9 -433.2

4. การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 กลับมาขยายตัวอีกครั้งอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ด้วยมูลค่า 18.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมูลค่าส่งออกหักสินค้าในหมวดทองคำแล้วพบว่า ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี (การส่งออกสินค้าในหมวดทองคำ มีการขยายตัวสูงอยู่ที่ร้อยละ 370.6 ต่อปี) สำหรับการส่งออกสินค้าหลักในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดีขึ้น ได้แก่ กลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มยานยนต์ โดยขยายตัวร้อยละ 9.6 7.2 และ 17.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง และกลุ่ม CLMV โดยขยายตัวร้อยละ 7.0 2.7 8.7 และ 14.1 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 16.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -16.6 ต่อปี ทั้งนี้ ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนกุมภาพันธ์ เกินดุลที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

     ประเทศคู่ค้าหลัก 16 ประเทศ                          2556                  2557
 (สัดส่วนการส่งออกปี55 >ปี 56 )       2556      Q1     Q2    Q3    Q4    ม.ค.   ก.พ.    YTD
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)               -0.3     3.9   -2.2  -1.7  -1.0   -2.0    2.4     0.2
%qoq_SA / %mom_SA                    -    -0.5   -3.5   0.6   2.6   -1.2   -0.2       -
1.จีน (11.7%>>>11.9%)               1.4     7.3  -13.4  -0.3  12.9   -0.8   -0.8    -0.8
2.สหรัฐฯ (9.9%>>>10%)               0.8     0.8   -3.5   0.7   5.2    0.4   -2.3    -1.0
3.ญี่ปุ่น (10.2%>>>9.7%)              -5.2     1.5   -6.3 -10.1  -5.5    1.8    2.7     2.3
4.สหภาพยุโรป (8.5%>>>8.8%)          2.7     7.0   -5.3   3.3   6.3    4.6    7.0     5.8
5.ฮ่องกง (5.7%>>>5.8%)              0.7    11.2    7.7  -1.4 -12.0  -14.0    8.7    -3.0
6.มาเลเซีย (5.4%>>>5.7%)            4.7    -0.8    5.8  12.4   2.0   -3.9    6.9     1.2
7.ทวีปออสเตรเลีย (4.9%>>>5.2%)       5.6    30.4   14.5  -5.2  -9.4  -24.2    0.8   -12.1
8.ตะวันออกกลาง (5.0%>>>5.1%)        0.5     4.4   -5.6   3.4   0.0    3.5    0.4     1.9
PS.อาเซียน-9 (24.6%>>>26.0%)        5.0     5.9    2.4  10.8   1.2   -5.0    0.9    -2.1
PS.อาเซียน-5 (17.2%>>>17.6%)        2.0     5.4   -0.7  11.2  -7.1  -10.8   -4.9    -8.0
PS.อินโดจีน-4 (7.4%>>>8.3%)         11.8     7.0    9.9  10.0  20.3    7.9   14.1    10.9

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พบว่า ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.17 ล้านคน หดตัวร้อยละ -8.1 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 27 เดือนหลังจากสถานการณ์วิกฤติอุทกภัยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ส่งผลให้ 50 ประเทศ แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่หดตัวลงมาก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ที่หดตัวร้อยละ -29.8 -27.7 และ -16.6 ต่อปี ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -4.4 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในระดับสูง ได้แก่ ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ และปิโตรเลียม ที่หดตัวร้อยละ -21.3 -13.9 และ -8.6 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เครื่องแต่งกาย และวิทยุโทรทัศน์ ที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 และ 5.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 85.7 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 56 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 เนื่องจากความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญโดยเฉพาะข้าวเปลือก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง สำหรับผลผลิตยางพารายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน           2556                   2556                    2557
                                              Q1      Q2      Q3     Q4      ม.ค.    ก.พ.    YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)             -3.2    2.9    -4.9    -3.5   -7.1     -5.6    -4.4*   -5.0
   %qoq_SA / %mom_SA                        -2.9    -5.7    -1.4    3.3     -2.1     0.8       -
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)               19.6   22.1    21.3    26.1   10.7      0.1    -8.1    -4.1
   %qoq_SA / %mom_SA                    -    1.1     6.8     5.8   -2.6     -6.2    -5.0       -
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)              0.6    1.1    -0.4    -2.9    3.0      2.5     1.9     2.2
   %qoq_SA / %mom_SA                        -1.6    -0.4    -1.2    6.0     -0.4    -1.7       -
*ข้อมูลเบื้องต้น

          6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกฮอล์ อาทิ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เป็นต้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ขณะที่อัตราการว่างงาน (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 3.31 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 45.8 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 นอกจากนี้ เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ในระดับสูงที่ 168.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ            2556                   2556                  2557
                                               Q1     Q2     Q3     Q4      ม.ค.    ก.พ.    YTD
ภายในประเทศ
เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                      2.2    3.1    2.3    1.7    1.7      1.9     2.0     2.0
เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                     1.0    1.5    1.0    0.5    0.8      1.0     1.2     1.1
อัตราการว่างงาน (yoy%)                   0.7    0.7    0.7    0.8    0.6      0.9     0.9*    0.9
หนี้สาธารณะ/GDP                         45.7   44.2   44.5   45.5   45.7     45.8     n.a.   45.8
ภายนอกประเทศ
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)                -2.8    0.7   -7.2   -0.9    5.2      0.2     n.a.    0.2
ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)              167.2  177.8  170.8  172.3  167.2    166.7   168.1   168.1
ฐานะสุทธิ Forward (พันล้าน $)             23.0   23.7   23.7   21.2   23.0     22.2    23.2    23.2
*ข้อมูลเบื้องต้น

          ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ