รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 14, 2014 13:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2557

Summary:

1. หัวหน้า คสช. คาดเศรษฐกิจไทยปี 57 เติบโตร้อยละ 2

2. หอการค้าสนับสนุนนักธุรกิจไทยลงทุนเวียดนาม

3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่น ก.ค.ดีขึ้น

1. หัวหน้า คสช. คาดเศรษฐกิจไทยปี 57 เติบโตร้อยละ 2
  • หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง การปฏิบัติงานของ สนช. จากนี้จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 และกฎหมายที่มีความเร่งด่วน เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้งานภาครัฐดำเนินการต่อไปได้ ในส่วนของ GDP ช่วงหลังปีงบประมาณ 57 คาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 4 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP รวมตลอดปีขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเรื่องของสถานการณ์เศรษฐกิจภายนอกประเทศจากการสู้รบ ความไม่สงบเรียบร้อยของหลายประเทศในภูมิภาค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 57 เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม เดือน ก.ค. 57 ที่ระดับ 68.5 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 65.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 11 เดือน ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกในเดือน มิ.ย. 57 ที่สามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 4 เดือน ที่ร้อยละ 3.9 ประกอบกับสถานการณ์การเมืองไทยมีเสถียรภาพและมีความชัดเจนมากขึ้นอย่างไรก็ตามยังมีความกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจความไม่สงบของหลายประเทศในภูมิภาคทั้งนี้ สศค. คาดว่าทั้งปี เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2557 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.5) (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. หอการค้าสนับสนุนนักธุรกิจไทยลงทุนเวียดนาม
  • นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง " การสนับสนุนนักธุรกิจไทยไปลงทุนในเวียดนาม" กับนายชุมพล พรประภา ประธานมูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (IMET) โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธาน IMET ในฐานะประธานโครงการฯ ร่วมลงนาม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศซึ่งยังถือว่ามีบทบาทค่อนข้างน้อยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลเงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศในปี 56 พบว่า มีมูลค่ารวม 206.2 พันล้านบาท ขณะที่มีเงินลงทุนโดยตรงในประเทศกลุ่มอาเซียนรวม 39.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.3 ของเงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ โดยประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ไทยมีเงินลงทุนโดยตรงสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย พม่า และเวียดนาม โดยมีสัดส่วนร้อยละ 36.3 28.6 และ 27.1 ของเงินลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศกลุ่มอาเซียน ตามลำดับ สำหรับเงินลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศกลุ่มอาเซียนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 พบว่า มีมูลค่ารวม 15.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีเงินลงทุนโดยตรงในเวียดนามมูลค่ารวม 3.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -20.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนักธุรกิจไทยหันไปลงทุนในกัมพูชาและลาวเพิ่มขึ้นจากความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าไทย โดยเฉพาะเมื่อไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.5) (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่น ก.ค. ดีขึ้น
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าผลกระทบเชิงลบจากการขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อวันที่ 1 เม.ย.นั้นคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว รายงานระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ประกอบด้วยสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หลังปรับทวนปัจจัยตามฤดูกาลแล้ว ปรับตัวขึ้น 0.4 จุดจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 41.5 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเดือนก.ค.ยังต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า มุมมองเชิงลบมากกว่าเชิงบวก
  • สศค. วิเคราห์ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคกำลังปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีประเมินการเพิ่มขึ้นของรายได้ผู้บริโภคเดือน ก.ค. ปรับตัวขึ้น 1.2 จุด สู่ระดับ 39.1 จุด ดัชนีภาวะการจ้างงานปรับตัวขึ้น 0.3 จุด สู่ระดับ 48.7 ดัชนีความเป็นอยู่ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.1 จุด สู่ระดับ 38.5 และดัชนีความพร้อมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าคงทนใหม่ในอนาคตอันใกล้ทรงตัว ที่ระดับ 39.6 ในเดือนก.ค. นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่า ภาคครัวเครือนร้อยละ 85.5 คาดว่าราคาผู้บริโภคจะปรับตัวขึ้นในปีหน้า เมื่อพิจารณาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นในระยะนี้จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในอิรักและยูเครน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ