รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 20, 2015 13:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 มกราคม 2558

Summary:

1. บลจ.กรุงไทย คาดปี 58 จีดีพีโตร้อยละ 5

2. เครื่องนุ่งห่มบุกตลาดอาเซียนชดเชยอียูตัดสิทธิจีเอสพี

3. ญี่ปุ่นเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

1. บลจ.กรุงไทย คาดปี 58 จีดีพีโตร้อยละ 5
  • นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ.กรุงไทย พูดถึงสาเหตุที่ บลจ.กรุงไทย มีมุมมองเชิงบวก โดยเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 5 ก็เพราะปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวแค่ ร้อยละ 0.7 ทำให้ครึ่งหนึ่งของการเติบโตในปีนี้มาจากฐานที่ต่ำมาก ขณะเดียวกันการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐที่คาดว่าอาจมีการเร่งเบิกจ่ายได้สูงถึงร้อยละ 94 ก็จะเป็นปัจจัยหลักผลักดันการขยายตัว โดยแรงฉุดด้านการบริโภคในโครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มผ่อนคลายท่ามกลางราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ จะทำให้การบริโภคค่อยๆ ฟื้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและกลับมาเติบโตตามระดับศักยภาพได้ในปี 58 นี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุน ผู้บริโภค รวมทั้งนักท่องเที่ยวได้ฟื้นตัวแล้ว จากสถานการณ์ทางการเมือง ที่คลี่คลายลง ทำให้ทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ดี กอปรกับการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการบริโภคที่มีการเร่งการเบิกจ่ายตั้งแต่ ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58 (ไตรมาส 4/57 ตามปีปฏิทิน) ในส่วนของการลงทุนภาครัฐนั้น คาดว่าจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนได้ (crowding in) ผ่านโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะช่วยให้เกิดการจ้างงานในภาคก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งตามเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า นอกจากนี้ เสถียรภาพทางด้านราคาจะเป็นปัจจัยสนับสนุน การจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในขณะนี้ ทั้งนี้ สศค. จะเผยแพร่การคาดการณ์ การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ของปี 57 และ 58 ในวันที่ 29 ม.ค. 58 นี้
2. เครื่องนุ่งห่มบุกตลาดอาเซียนชดเชยอียูตัดสิทธิจีเอสพี
  • นายวัลลภ วิตนากร ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ยอมรับว่าขณะนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มกังวล คือ เรื่องที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ จีเอสพี ในการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป หรือ อียู โดยปัจจุบันยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย หรือมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 25 สำหรับตลาดส่งออกที่จะเป็นความหวังของไทยในปัจจุบัน ได้แก่ ญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็นร้อยละ 17-18 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 13 ตลาดจีนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 7 จากเดิมร้อยละ 5 และตลาดอาเซียนที่คาดว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว ซึ่งถือเป็นโอกาสของเครื่องนุ่งห่มไทยไปเจาะตลาดได้ ขณะเดียวกัน ต้องการให้ภาครัฐช่วยประสานงานสนับสนุนให้แบรนด์ไทยทำตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ไทยถูกตัดจีเอสพีจากอียู ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยทันที โดยสินค้าส่งออกหลักที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เช่น กุ้งแช่แข็ง ปลาหมึก อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมเหล่านี้มีการพึ่งพาตลาดอียูค่อนข้างมากและได้ใช้สิทธิประโยชน์จีเอสพีค่อนข้างสูง นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ต้องพึ่งพาตลาดอียูค่อนข้างสูง เนื่องจากอียูเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โดยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 25 ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการยังต้องพึ่งตลาดอียูอยู่ควรต้องมีการปรับตัว เพิ่มคุณภาพของสินค้า หรือไม่ก็ควรหาตลาดใหม่ๆ เช่น กลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านการผลิตของเครื่องนุ่งห่มล่าสุด เดือน พ.ย. ขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกรวม 11 เดือนอยู่ที่ 2,620.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
3. ญี่ปุ่นเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
  • สำนักคณะรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนที่ประกอบด้วยสมาชิก 2 คนขึ้นไป เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 38.8 ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ปรับเพิ่มการประเมินขั้นพื้นฐานของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค "ส่งสัญญาณฟื้นตัว" เมื่อเทียบกับในเดือนก่อนหน้า ที่ระบุว่า ดัชนี "อยู่ในภาวะอ่อนแอ" ทั้งนี้ ผลสำรวจได้สอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ผู้มีมุมมองลบต่อเศรษฐกิจ มีจำนวนมากกว่าผู้มีมุมมองบวก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากโครงสร้างเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งมีอุปสงค์ในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในประเทศที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 59.7 ของ GDP การที่ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 57 ปรับตัวดีขึ้นจึงถือเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ วงเงิน 3.5 ล้านล้านเยน ที่นายอาเบะได้ประกาศภายหลังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน ธ.ค. 57 ที่ผ่านมา รวมทั้งการเลื่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มระยะที่สองซึ่งเดิมกำหนดในเดือน ต.ค. 58 ออกไปเป็นเดือน เม.ย. 60 นอกจากนี้การขยายวงเงินของมาตรการ QQE ของธนาคารกลางญี่ปุ่นจากเดิม 60 ล้านล้านเยนต่อปี มาอยู่ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น และอาจส่งผลให้ความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้าสามารถปรับตัวดีขึ้นได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ