รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 4, 2015 11:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

Summary:

1. อีไอซี ประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 58 โต ร้อยละ 3-3.5

2. จำนวนเม็ดเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการ เดือน ม.ค. 58 โตร้อยละ 64.6

3. ก.พาณิชย์เผย ราคาน้ำมันที่ลดลงช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.96

1. อีไอซี ประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 58 โต ร้อยละ 3-3.5
  • อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 58 จะเติบโตร้อยละ 3-3.5 โดยแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวได้ดี โดยคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะโตร้อยละ 9 และความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบและจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจในการลงทุน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทย ปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 (ช่วงคาดการณ์ 3.4-4.4) โดยได้แรงขับเคลื่อนจาก 1) การใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคมนส่ง รวมถึงเม็ดเงินจากงบกลางที่กันไว้เหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง 2) อุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศคลี่คลายลง 3) การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตาม อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของไทยปี 58 จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
2. จำนวนเม็ดเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการ เดือน ม.ค. 58 โตร้อยละ 64.6
  • กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จำนวนเม็ดเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการ ในเดือน ม.ค. 58 มีมูลค่า 16,031.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่า 9,739.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 64.6 โดยคิดเป็นจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการที่มีทั้งสิ้น 310 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 304 โรงงาน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 2.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนเม็ดเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการ ในเดือน ม.ค. 58 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการลงทุนขนาดใหญ่ในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 4.73 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.8 ของจำนวนเม็ดเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการทั้งหมดในเดือน ม.ค. 58 บ่งชี้ว่าการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น และจะเป็นสัญญาณบวกต่อภาคการผลิตในระยะต่อไปเมื่อการสร้างโรงงานแล้วเสร็จ นอกจากนี้จาก 1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ชัดเจนขึ้น ทำให้มีการเพิ่มการลงทุนและการผลิต 2) การเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) นอกจากจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอาเซียน 9 ประเทศ (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 26.0 ของการส่งออกไทยทั้งหมด) แล้ว ยังเปิดโอกาสให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นและ 3) ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มลดลงจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคการลงทุนฟื้นตัวในปี 58 ต่อไป
3.ก.พาณิชย์เผย ราคาน้ำมันที่ลดลงช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.96
  • โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 58 น่าจะอยู่ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.96 เงินเฟ้อคาดว่าจะลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2.2 หรือมีกรอบร้อยละ 1.8-2.5 การบริโภคที่แท้จริงภายในประเทศ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 การส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 แต่ต้องอยู่ภายใต้ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า บริการขนส่งทั้งทางบก อากาศ และเรือ (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 ของ GDP) จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการลดลงของราคาน้ำมัน โดยการขนส่งทางบกมีต้นทุนน้ำมันร้อยละ 40-50 ของต้นทุนรวม การขนส่งทางอากาศมีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนร้อยละ 30-40 ของต้นทุนรวม และการขนส่งทางเรือมีต้นทุนน้ำมันร้อยละ 20-25 ของต้นทุนรวม ขณะที่ภาคที่ได้รับประโยชน์รองลงมา คือ ภาคการเกษตร (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 9 ของ GDP) ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรลดลง ส่งผลให้มีผลผลิตการเกษตรและส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยสินค้าเหล่านี้มีต้นทุนน้ำมันร้อยละ 8-10 ของต้นทุนรวม ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 35 ของ GDP) ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ก็มีปริมาณการใช้น้ำมันมากในหลายอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี เป็นต้น ดังนั้น หากราคาน้ำมันยังคงลดลงต่อเนื่อง ในด้าน Supply side ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง Value added ของผลิตภัณฑ์มวลรวมย่อมเพิ่มขึ้น เอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น และในด้าน Demand side ย่อมทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เอื้อให้การบริโภคภาคเอกชน (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 55 ของ GDP) ขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2557

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ