รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 10, 2015 11:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558

Summary:

1. ธปท. เผยยอดหนี้ต่างประเทศเดือนธ.ค. 57 ลดจากเดือนก่อน 1.2 พันล้านดอลลาร์

2. เกาหลีใต้ปลดล็อคนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย

3. กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผย ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

1. ธปท. เผยยอดหนี้ต่างประเทศเดือน ธ.ค. 57 ลดจากเดือนก่อน 1.2 พันล้านดอลลาร์
  • รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หนี้ต่างประเทศของไทย ณ สิ้นเดือน ธ.ค.57 ที่ผ่านมา มียอดรวมทั้งสิ้น 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการลดลงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญ โดยเฉพาะเงินยูโรและเงินเยนที่แปลงมูลค่าแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลพบว่า การลดลงของมูลค่าหนี้ต่างประเทศของไทยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับเงินสกุลยูโร และเยน ทำให้มูลค่าหนี้ต่างประเทศในเดือน ธ.ค. 57 ลดลง 500 ล้านดอลลาร์ กอปรกับมีการชำระคืนหนี้สุทธิอีก 700 ล้านดอลลาร์ ทำให้ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ยอดหนี้ต่างประเทศของไทยลดลง 1,200 ล้านดอลลาร์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปี 58 โดยล่าสุดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 5 ก.พ. อยู่ที่ 32.604 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่เมื่อวันทำการวันแรกของปี 58 วันที่ 5 ม.ค. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.964 คาดว่าเป็นการแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น และไม่กระทบภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงของไทยในปี 58 ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.4 โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33.06 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากปี 57 ร้อยละ 1.8 (คาดการณ์ ณ ม.ค. 58)
2. เกาหลีใต้ปลดล็อคนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามผลักดันให้เกาหลีใต้พิจารณานำเข้าสินค้าไก่สดแช่แข็งของไทย หลังจากที่ถูกระงับไว้ตั้งแต่ปี 47 จากเหตุหวัดนก กรมปศุสัตว์รับลูกเร่งเจรจากระบวนการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานแดนกิมจิ หวังชิงส่วนแบ่งตลาด ตั้งเป้าปี 58 สัดส่วนการส่งออกไก่ไทยโตร้อยละ 6-7มูลค่ารวมกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถส่งออกได้ภายในเดือน มิ.ย.
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ก่อนที่ไทยถูกระงับการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของเกาหลีใต้นั้น เกาหลีใต้นับเป็นตลาดส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งที่สำคัญของไทย (ติด 1 ใน 3 ของตลาดส่งออกหลัก) โดยในปี 46 ตลาดส่งออกหลักคือ 1) ญี่ปุ่น 2) เยอรมันมี และ 3) เกาหลีใต้ ตามลำดับ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 46.12 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.72 ของการส่งออกส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งรวม แต่หลังจากที่ไทยต้องประสบกับโรคระบาดหรือไข้หวัดนก ส่งผลให้เกาหลีใต้ระงับการนำเข้าจากไทย โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออก ณ. 4 มี.ค. 47 พบว่า ไก่และผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยที่เกาหลีนำเข้าไปแล้วก่อนหน้านี้ในช่วง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.47 เป็นต้นมา ประมาณ 2,600 ตันต้องถูกส่งกลับคืนประเทศไทย อย่างไรก็ดี คาดว่าการปลดล็อกการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของญี่ปุ่นจะส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยให้เพิ่มมาขึ้นได้ ปัจจุบันการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในปี 57 มีมูลค่าการส่งออกรวม 394.97 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผย ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่น รายงานว่า ในปี 57 ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นลดลงเป็นปีที่ 4ติดต่อกัน โดยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปี 57 ร่วงลงร้อยละ 18.8 และลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 2.63 ล้านล้านเยน เทียบกับในปี 2556 ที่ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.23 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ ตัวเลขขาดดุลการค้าในปี 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 จากปี 56 เป็น 1.04 ล้านล้านเยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 57 มูลค่าการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นอยู่ที่ 73,101.9 พันล้านเยน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี โดยส่วนหนึ่งมาจากเงินเยนที่อ่อนค่า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าอยู่ที่ 85,889.3 พันล้านเยน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้า ขาดดุลมูลค่า 12,787.4 พันล้านเยน การนำเข้าที่ขยายตัวสูงสอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 ซึ่งยังคงเกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่อง เป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกัน สะท้อนกิจกรรมการผลิตในญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นปรับตัวลงติดต่อกันเป็นปีที่ 4 เนื่องจากภาคสาธารณูปโภคมีความต้องการทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น จากการสนับสนุนการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือก และต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ สูงกว่ามูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 ที่ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ