รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2015 11:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2558

Summary:

1. BOI นำนักธุรกิจไทยเยือนแอฟริกาใต้หาลู่ทางขยายลงทุนชิ้นส่วนยานยนต์

2. ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย คาดเศรษฐกิจเอเชียปีนี้ขยายตัวร้อยละ 6

3. ไต้หวันเผยอัตราว่างงานเดือนพ.ค. 58 ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 14 ปี

1. BOI นำนักธุรกิจไทยเยือนแอฟริกาใต้หาลู่ทางขยายลงทุนชิ้นส่วนยานยนต์
  • รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอจะนำคณะนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ไปสำรวจโอกาสและลู่ทางการลงทุน ณ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 12 -18 ก.ค.58 นี้ เพื่อหารือกับหอการค้าและอุตสาหกรรมของแอฟริกาใต้ และเยี่ยมชมโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ (Industry Development Centre: AIDC ) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยงานรัฐบาลของแอฟริกาใต้กับนักลงทุนไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายการลงทุนในแอฟริกาใต้มากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้จากมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก โดยในปี 57 พบว่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอยู่ที่ 24,548.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากผู้ประกอบไทยสามารถขยายการลงทุนไปยังแอฟริกาใต้ได้ จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ของแอฟริกาใต้กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด จากการขยายตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศและตลาดทั่วทวีปแอฟริกา ทำให้การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในแอฟริกาใต้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งจากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า แอฟริกาใต้เป็นตลาดหลักอันดับ 4 (รองจากญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ของการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทย โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไปแอฟริกาใต้อยู่ที่ 286.33 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในปี 58 คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่าน
2. ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย คาดเศรษฐกิจเอเชียปีนี้ขยายตัวร้อยละ 6
  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีของประเทศในภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวราวร้อยละ 6 ในปี 58 บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเอเชียมีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย 15 ประเทศ ในปี 58 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปี 57 จากสมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจ ณ เม.ย. 58 ที่ผ่านมา โดยคาดว่า เศรษฐกิจคู่ค้าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 โดยเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยเศรษฐกิจจีนจากที่เคยได้รับผลกระทบจากอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 57 นั้น ทางการจีนได้เริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแล้ว โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ร้อยละ 7.0 ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนรวมปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า อีกทั้งการเลื่อนการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มรอบที่ 2 ออกไปจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศ นอกจากนี้ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่นอีกด้วย ขณะที่ เศรษฐกิจอินเดีย รวมทั้งฟิลิปปินส์ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกในระดับสูง อาจได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง อาทิ ประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และประเทศไทย
3. ไต้หวันเผยอัตราว่างงานเดือนพ.ค. 58 ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 14 ปี
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวันเปิดเผยว่า อัตราว่างงานเดือนพ.ค.58 อยู่ที่ร้อยละ 3.62 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 44 และลดลงจากเดือนเม.ย. 58 ที่ร้อยละ 3.63 ขณะที่ภาคการผลิตก็เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น โดยภาคการผลิตของไต้หวันมีรายได้ 6.38 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน (2.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาสแรกของปี 58 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ระดับการว่างงานในระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของภาคการผลิตอื่นๆ ซึ่งคาดว่าในไตรมาสที่ 2/58 GDP ของไต้หวันจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากทั้งมูลค่าการส่งออกและนำเข้าต่างเริ่มหดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าและไตรมาสก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดต่อระบบเศรษฐกิจยังคงขยายตัวไม่ดีนัก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับ 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีเมื่อปลายปี 57 รวมทั้งการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานสินค้าไฮเทคของโลก จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในอีกระดับหนึ่ง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ