เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 29, 2015 15:48 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2558 ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยยังคงหดตัวต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายผ่านการบริโภคภาคเอกชนยังคงชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณทรงตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกจากการลงทุนของรัฐบาล และการท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ นอกจากนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งจากอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ และทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง"

1.การบริโภคภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2558 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมหดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐาน การใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่หดตัวลดลงที่ร้อยละ -5.9 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัว ร้อยละ -6.4 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 17.4 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี สำหรับในเขตชนบทหดตัวที่ร้อยละ -8.6 ต่อปี ตามผลของรายได้เกษตรกรลดลง ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -24.0 ต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนสิงหาคม 2558 ขยายตัวถึงร้อยละ 10.4 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ต่อเดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 61.5 จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อความเสียหายแก่ผลผลิตสินค้าเกษตร ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงไม่ดีขึ้น

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน                   2557                   2557                                  2558
                                                    Q1       Q2       Q3      Q4      Q1       Q2      ก.ค.     ส.ค.    YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)               0.4     -0.2      0.3      2.3    -0.9     1.0      1.8     -1.8     -2.4     0.5
   %qoq_SA / %mom_SA                              -0.9     -1.4      0.4     1.1     0.7     -0.3     -3.1     -1.9       -
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)           1.5     -3.9      0.4      0.4     8.8    10.8      2.0      1.4     10.4     6.2
   %qoq_SA / %mom_SA                              -3.3      4.4     -0.1     7.1    -0.6     -4.0     -4.3      3.7       -
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)            -41.4    -55.3    -37.7    -38.3   -27.9   -12.5    -27.3    -25.1    -24.0   -21.2
   %qoq_SA / %mom_SA                             -23.9      3.4     -8.6    -0.3    -6.9    -13.7      4.6     -1.5       -
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)        -14.3    -20.8    -18.2     -8.1    -7.8    10.9     -2.9    -23.2     -6.4    -1.0
   %qoq_SA / %mom_SA                              -9.9      0.5      4.9    -2.8     8.1    -11.6    -27.2     17.4       -
รายได้เกษตรกรที่แท้จริง (สศค.)                -8.4     -2.6     -3.7     -6.9   -15.9   -10.1     13.9    -14.5    -13.0   -12.2
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                       65.0     59.9     61.2     69.3    69.6    68.4     64.9     62.6     61.5    65.5

สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนรายภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายของ กทม. และปริมณฑล หดตัวที่ร้อยละ -2.7 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของกำลังซื้อที่ลดลง และผลของระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ สำหรับภูมิภาคที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือโดยขยายตัวได้ร้อยละ 6.7 7.8 และ 9.9 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนภูมิภาคที่ขยายตัวในอัตราเร่ง ได้แก่ ภาคตะวันออกและภาคกลาง ที่ร้อยละ 14.4 และ 8.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ภาคตะวันตกหดตัวถึงร้อยละ -18.8 ต่อปี ด้านการบริโภคสินค้าคงทนที่สะท้อนผ่านจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่พบว่าหดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีปัจจัยบวกจากยอดจดทะเบียนใหม่ใน กทม. และปริมณฑล ที่พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 1.7 และ 0.7 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงต้นเดือนสิงหาคมมีการจัดงาน Bangkok International Grand Motor Sale 2015 ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวมาจากรายได้เกษตรกรในภูมิภาคส่วนใหญ่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติในทุกภูมิภาค

2.การลงทุนภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2558 มีสัญญาณทรงตัว โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวชะลอลงร้อยละ -0.6 ต่อปี แต่เมื่อหักผลฤดูกาลออก (m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.6 ต่อปี ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลงและราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.4 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี หลังจากที่หดตัวติดต่อกันต่อเนื่อง 27 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 - กรกฎาคม 2558 และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อเดือน สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 17.9 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อเดือน และเมื่อหักสินค้าพิเศษเครื่องบินเรือรถไฟ พบว่า ขยายตัวร้อยละ 10.4 ต่อปี

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                     2557                 2557                                      2558
                                                    Q1      Q2       Q3        Q4       Q1       Q2       ก.ค.     ส.ค.      YTD
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)       -2.2    -5.6    -5.9     -2.1       3.9      7.3      2.9       7.2      8.4       5.7
   %qoq_SA / %mom_SA                              -8.5    -1.2      7.7       6.2     -4.7     -5.2       1.6     -0.8         -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                 -3.2    -2.4    -3.0     -2.9      -4.8     -2.5     -0.2      -2.0     -0.6      -1.3
   %qoq_SA / %mom_SA                              -1.9     0.0     -1.8      -1.2      0.8      2.1      -2.8      0.1         -
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง                           0.7     1.1     1.4      1.2      -0.8     -3.7     -4.4      -5.3     -5.6      -4.4
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)          -26.8   -36.6   -30.6    -20.4     -15.8    -11.3    -17.3      -3.1      0.9     -11.1
   %qoq_SA / %mom_SA                             -13.7    -1.4     -0.7      -1.6     -7.0     -9.2       2.5      2.8         -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                   -7.6   -14.1   -12.6      0.0      -2.9      0.9      2.1     -22.1     17.9      -0.3
   %qoq_SA / %mom_SA                              -4.6     0.2      6.8      -5.4      0.2      0.6     -14.3      6.3         -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักครื่องบินเรือและรถไฟ (%yoy) -4.8   -11.4    -4.4     -4.0       1.3      0.1     -3.5      -6.7     10.4      -1.0
   %qoq_SA / %mom_SA                              -0.2     1.7     -0.2      -0.2     -1.1     -2.0      -6.7      6.4         -

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนรายภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2558 เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นบ้างสะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 50.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวทุกภูมิภาคยกเว้นภาคตะวันออก โดยเม็ดเงินลงทุนใหญ่ยังเป็นเป็นหมวดพลังงานทดแทน

3.สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนสิงหาคม 2558 การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่เบิกจ่ายได้จำนวน 148.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.2 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 138.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อปี ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 116.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 22.2 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 27.2 ต่อปี โดยมาจากกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และเงินอุดหนุนของรัฐวิสาหกิจ เป็นสำคัญ สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 226.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.6 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ จากการนำส่งรายได้เพิ่มเติมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรายได้นำส่งของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่เหลื่อมจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในขณะที่การจัดเก็บภาษีที่สำคัญ คือ (1) ภาษีฐานรายได้ จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ต่อปีและ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -4.1 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลเกินดุลงบประมาณเป็นจำนวน 26.4 พันล้านบาท

เครื่องชี้ภาคการคลัง                                          FY2557                                 FY2558
(พันล้านบาท)                        FY2557      Q1/     Q2/     Q3/     Q4/     Q1/     Q2/     Q3/     ก.ค.     ส.ค.      YTD
                                             FY57    FY57    FY57    FY57    FY58    FY58    FY58
รายได้สุทธิของรัฐบาล                 2,074.7    503.5   437.2   608.5   525.5   507.5   469.9   652.5   142.6    226.8   1,999.3
(หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)
(%y-o-y)                            -4.0     -1.0    -6.9    -5.2    -3.0     0.8     7.5     7.5    10.1     10.6       6.1
รายจ่ายรัฐบาลรวม                   2,460.0    831.1   553.0   514.7   561.2   844.1   617.6   569.6   221.9    148.2   2,401.5
(%y-o-y)                             2.4      5.7    -5.6     6.8     2.2     1.6    11.7    10.7    10.8     12.2       7.6
ดุลเงินงบประมาณ                     -384.3   -334.7  -115.9   105.6   -39.4  -347.3  -138.9    89.4   -81.7     26.4    -451.1

4.การส่งออกสินค้าในเดือนสิงหาคม 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม 2558 มีมูลค่า 17.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -6.7 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันและเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -4.1 ต่อเดือน โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ามาจากภาพเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดโลก โดยการส่งออกที่ยังหดตัว ได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน-5 สิงคโปร์ มาเลเซีย แอฟริกา ที่หดตัวร้อยละ -24.4 -35.8 -20.2 และ -24.9 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปกลุ่ม CLMV และ ประเทศจีน ยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.5 และ 0.4 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ดีจากกลุ่มอัญมณีที่ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 132.3 ต่อปี และการส่งออกในหมวดยานพาหนะกลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -4.9 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนสิงหาคม 2558 เกินดุล 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

          ประเทศคู่ค้าหลัก                2557                      2557                            2558
(สัดส่วนการส่งออกปี 56>>ปี 57)                         Q1       Q2       Q3      Q4      Q1      Q2     ก.ค.     ส.ค.     YTD
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)                   -0.4       -1.4      0.0     -1.8     1.6    -4.7    -5.0    -3.6     -6.7     -4.9
   %qoq_SA / %mom_SA                             -0.3     -0.7     -0.7     3.3    -6.3    -1.1     2.0     -4.1        -
1.จีน (11.9%>>>11.0%)                  -7.9       -4.5     -4.2     -6.3   -15.3   -14.4     1.2    -1.6      0.4     -5.4
2.สหรัฐฯ (10.0%>>>10.5%)                4.1        0.6      4.9      3.4     7.2     5.6     2.6     1.4     -1.9      2.9
3.ญี่ปุ่น (9.7%>>>9.6%                    -1.9        0.7     -6.4     -1.0    -0.6    -9.2    -3.8    -9.7     -7.1     -7.0
4.สหภาพยุโรป (8.8%>>>9.2%)              4.7        4.8     10.9      2.0     1.7    -3.9    -8.4    -1.1     -2.3     -5.1
5.มาเลเซีย (5.7%>>>5.6%)               -1.9       -0.1     -1.4     -5.0    -1.0   -14.6   -18.3   -16.8    -20.2    -17.0
6.ฮ่องกง (5.8%>>>5.5%)                 -4.4       -1.8      1.7    -13.5    -1.8   -11.5    -9.0    -1.5     -7.2     -9.0
PS.อาเซียน-9 (26.0%>>>26.1%)            0.2       -5.4     -0.1      1.1     5.2    -2.4    -5.9    -4.5    -14.9     -5.7
PS.อาเซียน-5 (17.6%>>>17.0%)           -3.9      -11.0     -4.1     -4.2     4.3    -9.4   -11.8   -13.1    -24.4    -12.9
PS.อินโดจีน-4 (8.3%>>>9.1%)              9.0        7.0      8.8     13.6     6.8    10.6     5.5    11.6      5.5      8.1

5.เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ถือเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยในเดือนสิงหาคม 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 2.61 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 25.1 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -6.0 ต่อเดือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ทั้งนี้ พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางผ่านด่านสุวรรณภูมิซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.5 ของด่านทั้งหมด ช่วงวันที่ 1 - 17 สิงหาคม 2558 นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีอัตราการขยายตัวของร้อยละ 32.9 ต่อปี และหลังเกิดเหตุการณ์ พบว่ามีอัตราการขยายตัวที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี สำหรับภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม 2558 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -11.1 ต่อปี ตามการหดตัวของของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ จากผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน โดยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกที่หดตัวในระดับสูง อย่างไรก็ดี ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -3.3 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเดือน โดยสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัว จากการหดตัวจากราคายางพาราเป็นสำคัญ ตามอุปสงค์ยางพาราจากผู้นำเข้าที่สำคัญอย่างประเทศจีนที่ลดลง และการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกรวมถึงราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์และประมงที่หดตัวตามปริมาณผลผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2558 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 82.4 โดยมีปัจจัยหลักจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตรที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำลง ทำให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างระมัดระวัง รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างเปราะบาง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน                  2557
                                                  Q1       Q2       Q3       Q4      Q1      Q2      ก.ค.    ส.ค.     YTD
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม (%yoy)            0.2      1.5      7.2      3.4     -6.3    -3.7    -9.8     -9.8   -11.1     -7.4
   %qoq_SA / %mom_SA                             1.5     -3.9     -2.4     -1.0     3.1    -7.8     -1.0    -0.8        -
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น)             -4.6     -7.0     -4.8     -3.9     -2.3     0.1    -7.5     -5.3     n.a.    -3.9
   %qoq_SA / %mom_SA                            -3.8     -1.5     -3.7      2.6    -1.3    -8.1      1.9       -        -
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ)       87.4     85.8     85.8     88.2     90.0    89.6    85.2     83.0    82.4     86.1
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)                 -6.7     -9.0    -15.9    -10.1      7.0    23.1    37.6     39.4    25.1     30.1
   %qoq_SA / %mom_SA                           -10.1     -2.2      7.1     13.2     4.2     8.8      6.1    -6.0        -
*ข้อมูลเบื้องต้น

6. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี เป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีการปรับลดค่าไฟฟ้า รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ที่หดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี สำหรับ อัตราการว่างงาน อยู่ที่ร้อยละ 1.0ของกำลังแรงงานรวมหรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.77 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือนเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.9 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จาก ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2558 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 155.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่า

                                                              2557                                     2558
เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ                  2557
                                                  Q1       Q2       Q3       Q4       Q1       Q2      ก.ค.     ส.ค.     YTD
ภายในประเทศ เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)           1.9      2.0      2.2      2.0      1.1     -0.5     -1.1     -1.1     -1.2     -0.9
เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                      1.6      1.2      1.7      1.8      1.7      1.5      1.0      0.9      0.9      1.1
อัตราการว่างงาน (yoy%)                    0.8      0.9      1.0      0.8      0.6      1.0      0.9      1.0      1.0      0.9
หนี้สาธารณะ/GDP                          42.8     42.9     43.4     43.5     42.8     43.3     42.4     42.9      n.a.    42.9
ภายนอกประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)    15.4      5.8     -0.2     -0.5     10.3      8.3      6.2      2.2      2.6     19.3
ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)               157.1    167.5    168.2    161.6    157.1    156.3    160.3    156.9    155.8    155.8
ฐานะสุทธิ Forward  (พันล้าน $)             23.1     23.6     23.7     24.7     23.1     19.7     18.4     17.6     13.8     13.8
ทุนสำรองทางการ/หนี้ ตปท.ระยะสั้น (เท่า)       2.7      2.8      2.7      2.7      2.7      2.9      2.9      2.9      n.a.     2.9

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ