รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4 - 8 มกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 11, 2016 11:56 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
Indicators this week
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ย. 58 เกินดุล 2,996.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -5.5
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.6 ขณะที่ เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.9
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 65.1
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.7 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -26.2 ขณะที่ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน พ.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -7.4 ขณะที่การนำเข้าในเดือน พ.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -9.5
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • หนี้ภาคครัวเรือน ไตรมาส 3 ปี 58 อยู่ร้อยละ 81.1 ต่อ GDP
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 58 ติดลบที่ร้อยละ -0.9
  • GDP เวียดนาม ไตรมาสที่ 4/58 ขยายตัวร้อยละ 7.0
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 4/58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.0

Indicator next week

Indicators                 Forecast    Previous
Dec : Cement Sale  (%YOY)     1.9        2.6
  • โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน
Economic Indicators: This Week
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ย. 58 เกินดุล 2,996.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 5,178.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุล 2,086.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่หดตัวสูงตามราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การส่งออกยังคงซบเซา ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุล 910.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากรายรับจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และรายจ่ายจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปยังต่างประเทศที่ลดลงตามฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 29,959.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการผลิตในหมวดยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ และยางและพลาสติก ที่ปรับตัวดีขึ้น แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (mom_sa)
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -5.5 แต่คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 หลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวที่ร้อยละ -6.7 ต่อปี
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 58 มียอดคงค้าง 16.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย จากการเร่งขึ้นของทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการบริโภค ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 และร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 58 มียอดคงค้าง 17.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 58 ยังคงติดลบที่ร้อยละ -0.9 โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และราคาเนื้อสัตว์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ทั้งปี 58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 นับเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังจากปี 2552 เป็นต้นมา
Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 65.1 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 63.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 7 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยบวกได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการช็อปช่วยชาติ ช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ช่วยลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคล ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น กอปรกับราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากความกังวลต่อสถานการณ์การส่งออก อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมโดยเฉลี่ยทั้งปี 58 อยู่ที่ระดับ 64.7 ต่ำกว่าปี 57 เล็กน้อยที่อยู่ที่ระดับ 65.0
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่หดตัวร้อยละ -19.6 เนื่องจากราคาเหล็กลดลงตามราคาตลาดโลก
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -26.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.4 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -23.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลงในระดับสูงร้อยละ -43.3เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งผลผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยายตัวได้ดี เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนข้าว และเพื่อตอบสนองอุปสงค์อาหารสัตว์จากผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 58 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.1 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามการหดตัวของราคามันสำปะหลัง ยางพารา และหมวดปศุสัตว์เป็นหลัก โดยมันสำปะหลังราคาลดลงร้อยละ -11.2 เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตเริ่มทยอยออกมามากขึ้น ทำให้ราคาปรับตัวลดลง และผู้นำเข้ามีการชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอดูราคา ขณะที่ยางพาราราคาลดลงร้อยละ -21.5 ตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ และอุปทานที่มากขึ้นของยางพาราจีนทำให้การนำเข้ายางพาราลดลง รวมทั้งราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ปรับตัวลดลงร้อยละ -3.8 จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 58 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • หนี้ภาคครัวเรือน ไตรมาส 3 ปี 58 อยู่ที่ 10.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.1 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 80.6 ต่อ GDP โดยยอดหนี้คงค้างขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 11 ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (สินเชื่อ Nonbank) ขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนสินเชื่อรถยนต์หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3
Economic Indicators: This Week
  • การส่งออกในเดือน พ.ย. 58 มีมูลค่า 17,166.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.1 และเมื่อปรับ ผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -2.3 จากการกลับมา หดตัวอีกครั้งของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ร้อยละ -5.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 รวมถึงการหดตัวของสินค้าเกษตรกรรม และ อุตสาหกรรมเกษตรที่ร้อยละ -7.3 และ -0.9 ตามลำดับ ประกอบกับ สินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -6.8 ตามการหดตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ สินค้ายานยนต์ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.1 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออก หดตัวที่ร้อยละ -2.6 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -5.0 ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 11 เดือนของปี 58 หดตัวที่ ร้อยละ -5.5
  • การนำเข้าในเดือน พ.ย. 58 มีมูลค่า 16,868.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -9.5 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.2 จากการขยายตัวของสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ายานยนต์ที่ร้อยละ 3.3 และ 21.2 ตามลำดับ ในขณะที่ สินค้าเชื้อเพลิงยังหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -38.3 รวมถึงสินค้าทุน และ สินค้าวัตถุดิบหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.7 และ -10.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -11.0 และปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 11 เดือนของปี 58 หดตัวร้อยละ -11.2 และจากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน พ.ย. 58 เกินดุล 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ธ.ค. 58 มีจำนวน 140,032 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) เป็นการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในเขตภูมิภาค โดยในเขตกรุงเทพฯ ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 10.0 และในเขตภูมิภาคขยายตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกด้านราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง กอปรกับการกระตุ้นยอดขายของบริษัทจัดจำหน่ายในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ธ.ค. ขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ ในปี 58 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับปี 57
Economic Indicator: Next Week
  • ยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือน ธ.ค. 58 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 48.2 จุด อยู่ระดับต่ำกว่า 50.0 เป็นเดือนที่ 2 สะท้อนการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม และลดลงจากเดือนก่อนจากคำสั่งซื้อใหม่และสินค้าคงคลังที่ลดลง ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 55.3 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากเวลาจัดส่ง การนำเข้า และสินค้าคงคลังที่ลดลง ยอดขายรถยนต์เดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากรถยนต์นั่งที่หดตัวและรถบรรทุกที่ชะลอตัว ดุลการค้า เดือน พ.ย. 58 ขาดดุล 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง 11 เดือนที่ร้อยละ -10.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าเพื่อการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวสูงขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -3.9 จากสินค้าเพื่อการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวลดลง

China: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 48.2 จุด ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ดัชนีฯ ภาคบริการ Caixin อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด ลดลงจาก 51.2 จุดในเดือนก่อน

Japan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 52.6 จุด ส่วนดัชนีฯ ภาคบริการอยู่ที่ 51.5 จุด โดยทั้งสองยังอยู่เกิน 50 จุดต่อเนื่อง

Eurozone: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 10.5 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี แต่อัตราการว่างงานเยาวชนยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 22.5 ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อนหน้า(SA)โดยชะลอลงทุกหมวด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 54.3 จุด สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศออกมาก่อนหน้า โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 53.2 จุด และดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 54.2 จุด อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 58 (เบื้องต้น) ทรงตัวที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาในหมวดอาหารและบริการขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานหดตัวในอัตราชะลอลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ -5.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย

Hong Kong: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ร้อยละ -7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายเครื่องประดับและสินค้าคงทน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 46.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนและอยู่ต่ำกว่า 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10

Australia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวในหมวดแร่โลหะ ถ่านหิน และหินน้ำมัน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.4 จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -4,464 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากการบริโภคในห้างสรรพสินค้าและอาหาร

South Korea: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50.0 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน

Taiwan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50.0 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน

India: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด สะท้อนการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี 4 เดือน ผลจากภาวะน้ำท่วมที่เมืองเชนไนยที่ทำให้ผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่หดตัว ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

Indonesia: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด ต่ำกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่อง 15 เดือน จากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่หดตัวสูง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 107.5 จุด สูงสุดในรอบ 4 เดือน

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดสำคัญเร่งตัว ส่วนหนึ่งจากเงินริงกิตอ่อนค่า ส่วนมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากการสินค้าเกือบทุกหมวดที่ขยายตัวยกเว้นสินแร่และเชื้อเพลิงที่ยังคงหดตัวดุลการค้าเกินดุลมูลค่า 1 หมื่นล้านริงกิต

Singapore: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนจากภาคก่อสร้างและบริการที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ภาคการผลิตหดตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งปี 58 GDP สิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.1 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นที่ 49.5 จุด แต่อยู่ต่ำกว่า 50 จุดต่อเนื่อง 6 เดือน

Vietnam: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 58 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.7 จากทุกภาคส่วนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ด้านมูลค่าการส่งออกและนำเข้าเดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.3 และ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ณ วันที่ 7 ม.ค. 59 โดยปิดที่ 1,224.8 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์ 41,833.8 ล้านบาท โดยเป็นแรงขายของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศซึ่งมีแรงขายทำกำไรของกองทุนรวม และปัจจัยภายนอกประเทศจาก (1) ความกังวลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของจีนที่ลดลงอย่างรุนแรง จนกระทั่งประกาศหยุดซื้อขายชั่วคราว (Circuit Break) ไปแล้ว 2 ครั้งในสัปดาห์นี้ เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนจีนต่อมาตรการพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่สิ้นสุดลง (2) ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลง (3) ความรุนแรงในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 4 - 7 ม.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 8,136.2 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 1 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2-13 bps เนื่องจากแรงขายทำกำไรของกองทุนรวม โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิในสัปดาห์นี้มากถึง 2,432.0 ล้านบาท ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 4 - 7 ม.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,433.3 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 7 ม.ค. 59 เงินบาทปิดที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.62 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงใกล้เคียงกับเงินสกุลอื่น ส่วนใหญ่ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัว โดยอ่อนค่าเพียงร้อยละ 0.01 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ