รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 2 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 6, 2016 11:34 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ค. 59 ขยายตัว ร้อยละ 9.6
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -6.1
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ค. 59 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -3.3
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.3
  • การส่งออกในเดือน ก.ค. 59 หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -6.4 ขณะที่การนำเข้า หดตัวที่ร้อยละ -7.2
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 59 หดตัว ร้อยละ -5.1
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -3.2
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ค. 59 เกินดุล 3,667.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ค. ขยายตัวร้อยละ 4.0 ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงิน ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.3
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 59 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัว ร้อยละ 1.2
  • GDP อินเดีย ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 7.1
  • GDP เกาหลีใต้ ไตรมาส 2 ปี 59 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัว ร้อยละ 3.3

Indicator next week

Indicators                Forecast    Previous
Aug : Cement sales (%YOY)  -2.7         -4.0
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 59 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากโครงการก่อสร้างของภาคเอกชนยังชะลอตัวอยู่
Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ค. 59 มีจำนวน 24,358 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.6 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 หลังจากติดลบต่อเนื่องหลังจาก หมดโครงการรถคันแรกในสิ้นปี 55 สะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สอดคล้องกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ อาทิ ราคาสินค้าเกษตร ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ปริมาณรถยนต์นั่งตั้งแต่ต้นปียังคงหดตัวที่ร้อยละ -9.2 เมื่อเทียบกับ 7 เดือนแรกของปีก่อนหน้า

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 59 มีจำนวน 39,369 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ในเดือน ก.ค. 59 ที่หดตัวร้อยละ -7.7 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ค. 59 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.6 ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 59 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวร้อยละ -4.1

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าประเภทอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาสินค้าประเภทยานพาหนะและเชื้อเพลิงมีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ มีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ทรงตัวเทียบเท่ากับเดือนก่อนหน้า

Economic Indicators: This Week

การส่งออกในเดือน ก.ค. 59 มีมูลค่า 17,045.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.1 จากการหดตัวทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้ายานยนต์ที่กลับมาหดตัวอีกครั้งในระดับสูงที่ร้อยละ -17.3 ตามการหดตัวของทุกตลาดหลัก โดยเฉพาะออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ประกอบกับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรที่กลับมาหดตัวอีกครั้งเช่นกันที่ร้อยละ -3.1 และ -4.7 ตามลำดับ รวมถึงหมวดสินค้าเกษตรกรรมที่ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -22.4 อย่างไรก็ตาม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.3 ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวที่ร้อยละ -6.7 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -2.3

การนำเข้าในเดือน ก.ค. 59 มีมูลค่า 16,202.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -10.1 จากการที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าวัตถุดิบยังคงหดตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ร้อยละ -18.0 และ -13.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และยานยนต์ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.3 3.6 และ 7.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคานำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -3.4 และปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -3.9 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -9.8 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้า ต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 59 เกินดุล 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 103.4 หดตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัว 4 เดือนติดต่อกันโดยหดจากการผลิตในหมวด ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -3.7 และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงมากก็เนื่องมาจากเดือน ก.ค. 59 มีการประกาศวันหยุดเพิ่มเติมส่งผลให้วันทำงานลดลง จึงส่งผลต่อผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรม

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ -3.6

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ค. 59 เกินดุล 3,667.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาเกินดุล โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากเดือนก่อนที่ 3,194.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าส่งออกที่กลับมาหดตัว เนื่องจากการส่งออกหมวดเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งราคาในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำและอุปสงค์ที่ชะลอตัวจากจีน รวมถึงการส่งออกในหมวดยานยนต์และสินค้าเกษตรที่หดตัว ขณะที่มูลค่านำเข้ายังคงอยู่ในระดับต่ำ จากปัจจัยราคาในหมวดเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำ ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุลที่ 472.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายรับจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี จากนักท่องเที่ยวจากจีนและรัสเซีย รวมทั้งผลของเทศกาลฮารีรายอ ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และตะวันออกกลางเพิ่มสุงขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 59 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 28,617.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 59 มียอดคงค้าง 16.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวแบบทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 จากเดือนก่อนหน้า(ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยชะลอลงทั้งในสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจและเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ ร้อยละ 2.6 และ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 59 มียอดคงค้าง 17.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเงินฝากชะลอลงในสถาบันรับฝากเงินอื่น ขณะที่เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในระดับทรงตัวที่ร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Economic Indicator: Next Week

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 59 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากโครงการก่อสร้างของภาคเอกชนยังชะลอตัวอยู่

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 59 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 101.1 จุด เหนือระดับ 100 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน โดยความเชื่อมั่นเศรษฐกิจปัจจุบันและอีก 6 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น ยอดขายรถยนต์ เดือน ก.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายรถบรรทุกที่ขยายตัวเร่งตัวขึ้น แต่ยอดขายรถยนต์นั่งหดตัวลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ลดต่ำลงกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากดัชนีหมวดคำสั่งซื้อใหม่ การผลิต การจ้างงาน และสินค้าคงเหลือที่หดตัว

China: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 โดย NBS อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.9 จุดในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีฯ โดย Caixin ในเดือนเดียวกันอยู่ที่ระดับ 50.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีฯที่เกินกว่าเกณฑ์ 50 จุดเพียงเล็กน้อยสะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว

Japan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.5 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 49.3 จุดในเดือนก่อน โดยยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด เป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าทั่วไปและเชื้อเพลิงที่ยังคงหดตัว

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 59 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ระดับ -8.5 จุด สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนจากยอดการผลิตและยอดการสั่งซื้อที่ลดลง แต่ยังคงบ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 59 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.1 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

India: improving economic trend

GDP ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวดี สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 52.6 จุด สูงสุดในรอบ 13 เดือน

Vietnam: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 52.2 จุด สูงขึ้นจากเดือนก่อน จากการลดราคาขายของทางผู้ผลิตแม้ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น

Malaysia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 47.4 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากยอดการสั่งซื้อและการผลิตที่ปรับตัวลดลง

Indonesia: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 50.4 จุด จากยอดจองสินค้าที่เพิ่มขึ้นขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว เดือน ก.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 26.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 ปีกว่า

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกและนำเข้า เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -5.1 และ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ โดยการส่งออกไปจีน สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และเวียดนามหดตัวส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 59 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าคงทน อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องประดับ ที่หดตัวสูง

Taiwan: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 51.0 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น

Australia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากสินค้าเกือบทุกประเภทยกเว้นยอดค้าปลีกร้านอาหาร

South Korea: improving economic trend

GDP ไตรมาส 2 ปี 59 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขเบื้องต้น มูลค่าส่งออกและนำเข้า เดือน ส.ค. 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.6 และ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ โดยการส่งออกไปฮ่องกง เวียดนาม และไทยที่ยังขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

UK: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ -7.0 จุด เดือนก่อนสอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 53.3 จุด จากระดับ 48.2 จุดในเดือนก่อน จากยอดผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET เคลื่นไหวในกรอบแคบ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 1 ก.ย. 59 ปิดที่ระดับ 1,539.71 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 51,512 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อของนักลงทุนรายย่อยในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ โดยนักลงทุนให้ความสนใจหลักทรัพย์ IPO ที่เพิ่งเริ่มมีการซื้อขายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตามองตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 59 ที่จะประกาศในคืนวันที่ 2 ก.ย. นี้ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ได้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. - 1 ก.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 487.5 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-11 bps โดยการประมูลตั๋วเงินอายุ 90 วันและพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพียง 1.17 และ 0.88 เท่าของวงเงินประมูล ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 29 ส.ค. - 1 ก.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 4,935.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 1 ก.ย. 59 เงินบาทปิดที่ 34.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.10 จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นวอนเกาหลีที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่อ่อนค่าลงมากในช่วง 1-2 เดือนก่อน ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.75 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ