โครงการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 20, 2007 09:54 —กระทรวงการคลัง

          นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)  ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เหตุผลและความจำเป็น
1.1 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 ซึ่งมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ซึ่งหากบริษัทฯ ไม่ดำเนินการจะต้องจัดสรรเงินรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมประจำปีก่อนหักค่าใช้จ่ายจำนวนร้อยละ 4 ต่อปี เพื่อเป็นเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ คิดเป็นมูลค่า 1,700 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นจำนวนสองเท่าของการลงทุนในโครงการ USO
1.2 โครงการฯ เป็นการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Digital Divide) ระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมือง ทำให้ผู้ที่มีโอกาสกับผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับบริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ สร้างภูมิปัญญา และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น
2. วัตถุประสงค์
2.1 จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในหมู่บ้านสถานีอนามัยซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและในแหล่งชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน
2.2 เพื่อเพิ่มโอกาสการใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานสำหรับกลุ่มคนพิการ กลุ่มคนชรา และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีความเท่าเทียมกับผู้อื่น
2.3 จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานให้หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่สังคม
2.4 จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับการให้บริการปกติ
3. เป้าหมาย
3.1 จัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะอย่างน้อย 2 เลขหมายต่อ 1 หมู่บ้าน จำนวน 1,673 หมู่บ้าน โดยจะติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 30 เดือน (5 ตุลาคม 2549 - 5 เมษายน 2552)
3.2 จัดให้มีโทรศัพท์ประจำที่และโทรศัพท์สาธารณะอย่างน้อยอย่างละ 1 เลขหมาย รวมอย่างน้อย 2 เลขหมายต่อแห่ง ในสถานีอนามัยจำนวน 1,298 แห่ง ภายใน 24 เดือน (5 ตุลาคม 2549 - 5 ตุลาคม 2551)
3.3 จัดให้มีบัตรโทรศัพท์สำหรับกลุ่มคนพิการ กลุ่มคนชราที่มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นบัตรเงินจำนวน 100 บาทต่อเดือนต่อคน จำนวนเดือนละ 300,000 คน เป็นระยะเวลา 30 เดือน (5 ตุลาคม — 5 เมษายน 2552)
3.4 จัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะอย่างน้อย 1 เลขหมายภายในรัศมีไม่เกิน 100 เมตร ของชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีขนาดไม่ต่ำกว่า 100 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่โครงข่ายของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยสำรองเลขหมายไว้ไม่เกิน 780 เลขหมาย
3.5 จัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะและบริการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่ใช้รถเข็นในชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่า 1,085 เครื่อง และสำหรับคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายในชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่า 543 เครื่อง
3.6 สำรองเลขหมายโทรศัพท์ สำหรับบุคคลและหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่สังคมไม่เกิน 1,500 เลขหมาย
4. ระยะเวลาดำเนินการ
บริษัทฯ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 เดือนนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) อนุมัติให้ดำเนินการ (5 ตุลาคม 2549 — 5 เมษายน 2552) โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่ กทช. กำหนด และหากดำเนินการล่าช้าจะมีค่าปรับในอัตรา 3,000 บาทต่อจุด ไม่ต่ำกว่าวันละ 20,000 บาทต่อวัน
5. เงินลงทุนของโครงการ
ใช้เงินรายได้ของบริษัทฯ เป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 857.88 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ