รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 มิถุนายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 24, 2019 16:00 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. 62 หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ค. 62 หดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพ.ค. 62 มีจำนวน 2.73 ล้านคน หดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 62 ขยายตัว ชะลอลงที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. 62 คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ มีมติ 9-1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25-2.50 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. 62 มีมูลค่า 21,018 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรโดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอางฯ อัญมณีและเครื่องประดับนาฬิกาและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่หดตัว อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ขยายตัวได้ดีในตลาดสำคัญเดิมและตลาดใหม่ อาทิ ตลาดสหรัฐฯ อินเดีย รัสเซียและ CIS เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรก ปี 62 ยังคงหดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ค. 62 มีมูลค่า 20,836 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นหดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้ากลุ่มทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การนำเข้าสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิงขยายตัว ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 5 เดือนแรกปี 62 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน พ.ค. 62 กลับมาเกินดุลมูลค่า 0.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วง 5 เดือนแรกของปี 62 ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุล 0.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค. 62 มีจำนวน 2.73 ล้านคน หดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี ในขณะที่เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า หดตัวร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่หดตัวในอัตราชะลอจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ -8.6 ต่อปี เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น ที่ขยายตัวร้อยละ 17.8 10.6 และ 6.7 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 62 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.92 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี โดยขยายตัวในอัตราชะลอจากไตรมาสที่ 1 ปี 62 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน พ.ค. 62 มีมูลค่ารวม 134,560 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยว ชาวจีนที่หดตัวในอัตราชะลอจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -6.3 ต่อปี เป็นสำคัญ

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -7.1 เนื่องจากฐานสูงในปีที่แล้ว ประกอบกับมีการเร่งซื้อรถยนต์ไปในช่วงก่อนหน้า รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกยังขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.7

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 62 มีจำนวน 54,517 คัน คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล โดยขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ 5 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากยอดสร้างบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมส์ที่หดตัวสูง ขณะที่ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า ระดับเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ด้านยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดค้าปลีกในหมวดห้างสรรพสินค้าที่หดตัวเป็นสำคัญ และเมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. 62 คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ มีมติ 9-1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25-2.50 ต่อปี

Eurozone: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ที่ขยายตัว.ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและเกินดุลการค้าใน เดือน เม.ย. 62 ที่ 1.6 หมื่นล้านยูโร ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากราคาสินค้าในหมวดนันทนาการที่ลดลงมากที่สุด

Singapore: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่น้ำมันและสินค้าส่งออกจากภายในประเทศชะลอตัวลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -0.5 จากหมวดสินค้าเบ็ดเตล็ดและก๊าซที่หดตัว ส่งผลให้เกินดุลการค้า 4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Philippines: mixed signal

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 62 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.50 ต่อปีหลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาจากร้อยละ 4.75 ต่อปี ในครั้งก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลที่หดตัว ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์ และสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวลงส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน พ.ค. 62 ที่ 9.7 แสนล้านเยน ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีในเกือบทุกหมวดที่ลดลง ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (เบืองต้น) เดือน มิ.ย. 62 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.5 จุด จากดัชนีย่อยหมวดยอดสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง และเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 62 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี

Taiwan: worsening economic trend

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 62 ธนาคารกลางไต้หวันประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.375 ต่อปี

Indonesia: mixed signal

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 62 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 6.00 ต่อปี

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ของอัตรากำลังแรงงานรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

UK: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยระดับราคาในหมวดการคมนาคมทางอากาศปรับลดลงค่อนข้างมาก ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายทั้งเชื้อเพลิงและอาหารที่ลดลง และเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 62 ธนาคารกลางอังกฤษมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในต่างประเทศ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) CSI300 (จีน) และ STI (สิงคโปร์)เป็นต้นทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 20 มิ.ย. 62 ปิดที่ระดับ 1,717.82 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 17-20 มิ.ย. 62 ถึง 73,624 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ สำหรับในสัปดาห์หน้า ยังคงต้องติดตามผลการประชุม G20 ระดับผู้นำประเทศที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 28-29 มิ.ย. นี้ โดยเฉพาะประเด็นการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ว่าจะมีท่าทีต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17-20 มิ.ย. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 7,298 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุโดยมาก ปรับลดลง 0-10 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 50 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.35 และ 5.54 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 17-20 มิ.ย. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 3,362 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 20 มิ.ย. 62 เงินบาทปิดที่ 31.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.58 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เงินเยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.36

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ