รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 - 30 สิงหาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 2, 2019 16:18 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.ค. ปีงบประมาณ 2562 ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค. ปีงบประมาณ 2562 หดตัวร้อยละ -5.8 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือนก.ค. 62 ขาดดุลจำนวน 44.7 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.ค. 62 หดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ -9.1 ต่อปี
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค. 62 หดตัว ร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี
  • GDP ของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ปรับปรุงครั้งที่ 2)
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.ค. ปีงปม. 62 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 230.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 10 เดือนแรก ที่ร้อยละ 77.4 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 219.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 10 เดือนแรกที่ร้อยละ 79.1 ทั้งนี้แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 189.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.2 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 10 เดือนแรกที่ร้อยละ 88.0 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 29.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.7 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 10 เดือนแรกที่ร้อยละ 46.4 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 11.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 10 เดือนแรกที่ร้อยละ 62.8 ทั้งนี้รายจ่ายที่ สำคัญ ได้แก่ งบลงทุนของกรมทางหลวง 6.8 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 8.9 พันล้านบาท

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค. ปีงปม. 62 ได้จำนวน 183.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -5.8 ต่อปี โดยมาจาก (1) รายได้จาก 3 กรมภาษีหดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี จากภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ -9.1 ต่อปี และภาษีรถยนต์หดตัวที่ร้อยละ -10.7 ต่อปี เป็นสำคัญ และ (2) รายได้จากหน่วยงานอื่นหดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี จากรายได้รับจากรัฐวิสาหกิจหดตัวร้อยละ -21.5 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ค. 62 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 44.7 พันล้านบาท ทั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 9.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 34.8 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 484.6 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.ค. 62 มีมูลค่า 64,367 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ -9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 โดยเป็นผลจากการชะลอลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวที่ร้อยละ -12.2 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -4.3 ทั้งนี้ ถ้าหักรายได้จากพิเศษจากการโอนทรัพย์สินจำนวนประมาณ 4,771 ล้านบาทในเดือน ก.ค. 61 จะทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงหดตัวเพียงร้อยละ -2.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.6 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ค. 62 หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -6.0 ต่อปี แต่ขยายตัว ร้อยละ 5.5 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยเป็นการหดตัวจากหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้เป็นสำคัญที่ร้อยละ -6.6 ต่อปี ทั้งนี้ อุตสาหกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงได้รับผลกระทบจากการคุมเข้มสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และจากมาตรการ LTV อยู่ ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 62 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค. 62 หดตัว ที่ร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถือเป็นการหดตัวเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ หดตัวที่ร้อยละ -6.3 มาจากการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียมหดตัวร้อยละ -8.0 จากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น และกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่หดตัวร้อยละ -8.4 จากการหดตัวของฮาร์ดดิสไดร์ฟเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้หดตัวในอัตราชะลอลงกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัวสูงที่ร้อยละ -5.3

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 12.1 ต่อเดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็นที่หดตัวร้อยละ -25.0 และ -11.0 ต่อปี ตามลำดับ และเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเหล็กเส้นข้ออ้อยหดตัวร้อยละ -7.8 ต่อปี เป็นการชะลอตัวตามความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงที่ร้อยละ 0.1 และ 13.6 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดปศุสัตว์หดตัวที่ร้อยละ -2.5 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไก่ สุกร ไข่ไก่ และ กุ้งขาวแวนนาไมขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก กลุ่มไม้ผล และสุกร

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวด ปศุสัตว์ที่ร้อยละ 12.5 ขณะที่หมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -0.7 และ -8.2 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล และกุ้งขาวแวนนาไม

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในเดือน ก.ค. 62 มีจำนวน 3.33 ล้านคน ขยายตัว เร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี (แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่าหดตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน ที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี เป็นสำคัญ และนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวอินเดีย ลาว และมาเลเซียที่ขยายตัวร้อยละ 25.9 16.3 และ 6.8 ต่อปี ตามลำดับ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ก.ค. 62 มีมูลค่ารวม 167,283 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี เป็นสำคัญ

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ปรับปรุงครั้งที่ 2) หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าจากภาคการลงทุน และการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 135.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย จากดัชนีสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ระดับอยู่ที่ระดับ 177.2 จุด สูงสุดในรอบ 17 ปี และดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคตที่อยู่ที่ระดับ 107.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 37.2 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 37.9 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ด้านยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ทั่วไปที่หดตัวร้อยละ -3.9 และ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ .ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากผลผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 79.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 81.5 จุด อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายยานยนต์ และอาหารที่เร่งขึ้น

Singapore: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และขนส่งที่หดตัวลดลง ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมและเคมีภัณฑ์ขยายตัวเร่งขึ้น

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 62 หดตัวร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.0 โดยการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งหดตัวลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -8.7 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ร้อยละ -7.5 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า -3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Eurozone ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ -7.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -6.6 จุด

South Korea: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 92.5 จุด ลดลงจากระดับ 95.9 จุดในเดือนก่อนหน้า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีกว่า ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุนที่เร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องใช้ในครัวเรือนที่หดตัวร้อยละ -18.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Vietnam: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับลดลง และราคาสินค้าหมวดขนส่งหดตัว ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลผลิตอุตสาหกรรมในหมวดเหมืองแร่และหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่เร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 12.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายทุกหมวดที่ค่อนข้างทรงตัว มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากมูลค่าการส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนที่ขยายตัวชะลอลงขณะที่ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากมูลค่าการนำเข้าเหล็กที่ลดลง ทำให้เกินดุลการค้า ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นีโดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับดัชนี MSCI AC Asia Pacific Index ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 29 ส.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,639.14 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 26-29 ส.ค. 62 ที่ 60,112.44 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ ประเด็นสงครามการค้ายังคงส่งผลต่อตลาดหุ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26-29 ส.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -9,577.19 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสันและ ระยะยาวปรับลดลง 4-14 bps โดยในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี มีนักลงทุนสนใจถึง 2.42 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 26-29 ส.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 2,133.33 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 29 ส.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.51 จากสัปดาห์ก่อนหน้า แข็งค่าเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.76

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ