รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 3 กันยายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2020 14:54 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 63 ลดลงร้อยละ -0.50 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.30 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 63 หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ส.ค. 63 หดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ค. 63 เกินดุล 1,787.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินในเดือน ก.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินในเดือน ก.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 47.0 ของ GDP
  • GDP เกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ออสเตรเลีย ไตรมาสที่ 2 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP อินเดีย ไตรมาสที่ 2 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -23.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 63 ลดลงร้อยละ -0.50 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร จากความต้องการที่ยังคงสูงต่อเนื่อง ทั้งจากตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ขณะที่ราคากลุ่มพลังงานเริ่มทรงตัวแต่ยังต่ำกว่าปีก่อน สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณสินค้า ความต้องการ และการส่งเสริมการขาย และเมื่อหักราคาอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.30 ต่อปี

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 63 หดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการหดตัวของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดซีเมนต์ ที่ปรับลดลงร้อยละ -10.2 -1.9 และ -0.3 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสำคัญจากปริมาณผลผลิตที่ยังมากกว่าความต้องการ และผู้ประกอบการหลายราย ปรับราคาลงเพื่อเร่งระบายสินค้าที่มีการผลิตไว้ล่วงหน้าก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างของภาครัฐหลายโครงการที่กำลังเร่งดำเนินการ และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ความต้องการในภาคก่อสร้างภายในประเทศกลับมาขยายตัวในระยะต่อไป

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนส.ค. 63 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -6.3 เทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถาบันการเงิน ยังคงมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อมากกว่าปกติ

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค. 63 เกินดุล 1,787.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขาดดุล -246.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลที่ -2,325.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4,112.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่า การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่ามูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 63 เกินดุลรวม 9,867.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 63 มียอดคงค้าง 18.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่า สินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 63 มียอดคงค้าง 22.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 11.7 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,579,942 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 47.0 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 146,839 ล้านบาท ทั้งนี้ สถานะ หนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 87.2 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 98.1 ของยอดหนี้สาธารณะ

Global Economic Indicators: This Week

USA: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 56 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 54.2 จุด จากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น

China: mixed signal

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ส.ค. 63 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 51.0 จุด โดยดัชนีหมวดย่อยผลผลิตปรับตัวลดลง ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน ส.ค. 63 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เริ่มสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยโดยดัชนีย่อยผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราสูง ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (Caixin) เดือน ส.ค. 63 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 54.0 จุด โดยยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ยังคงขยายตัวได้ในระดับที่ดีอยู่

Japan: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการกลับมาหดตัวจากเดือน มิ.ย. 63 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -16.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 10 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 29.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 29.5 จากผลกระทบของ COVID-19 อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยะ 2.8 ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (final) เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 47.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 45.2

EU: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 51.8 จุด จากหมวดผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อ (เบื้องต้น) เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวในรอบ 4 ปี จากหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และพลังงาน เป็นสำคัญ อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงานรวม เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ร้อยละ 7.7

Hong Kong: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -23.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายสินค้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าหดตัวเร่งขึ้น ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 44.0 จุด โดยยอดผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่หดตัวสูง

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 52.2 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีย่อยหมวดผลผลิตและ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราสูงที่สุดในรอบ 2 ปี

South Korea: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยจากการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกและภาคการผลิตที่ลดลง ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.5 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 4 ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน ซึ่งยังคงเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ดุลการค้าเดือน ส.ค. 63 เกินดุลอยู่ที่ 4.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าซึ่งเกินดุลที่ 4.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออก ส.ค. 63 หดตัวร้อยละ -9.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 39.66 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า ส.ค. 63 หดตัวร้อยละ -16.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 35.54 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ 48.5 จุด เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ เม.ย. 63 โดย เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ 46.9 จุด

UK: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ 55.2 จุด ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 55.3 จุด ในเดือนก่อนหน้า

Indonesia: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.32 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ เป็นสำคัญ

Malaysia: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด

Philipines: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 47.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.4 จุด

Vietnam: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 45.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.6 จุด

Singapore: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 43.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 45.6 จุด

Australia: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดในประวัติการณ์ ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 63 หดตัวร้อยละ -18.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.2 จากทุกหมวดสินค้าที่ปรับตัวลงยกเว้น แร่เหล็ก มูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.2 จากหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทุน เป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 63 เกินดุลที่ 2.04 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

India: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -23.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่มากที่สุดในประวัติการณ์ จากมาตรการ lockdown ประเทศ นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 เป็นต้นมา ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 52 จุดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46 จุด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย โดยมีการปรับลดลงในช่วงต้นสัปดาห์และปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ ดัชนี SET เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,315.88 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 31 ส.ค. - 2 ก.ย. 63 ที่ 48,774 ล้านบาท ต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. - 2 ก.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -9,177 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) ไม่มีการปรับตัว ระยะกลาง (มากกว่า 1 ปี - 10 ปี) และระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 0 ถึง 10 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 1.96 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. - 2 ก.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้าในตลาดพันธบัตรสุทธิ 3,902.75 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 2 ก.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 31.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.40 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ทุกสกุล ได้แก่ เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.07 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ