ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนตุลาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 29, 2020 11:53 —กระทรวงการคลัง

?ดัชนี RSI เดือนตุลาคม 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคบริการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเกษตรของภาคตะวันออก อย่างไรก็ดีแนวโน้มในบางสาขา โดยเฉพาะการจ้างงานและการลงทุนของ กทม. และปริมณฑล ยังคงชะลอตัว?

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม 2563 ที่เป็นการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า ?ดัชนี RSI เดือนตุลาคม 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคบริการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเกษตรของภาคตะวันออก อย่างไรก็ดี แนวโน้มในบางสาขา โดยเฉพาะการจ้างงานและการลงทุนของ กทม.และปริมณฑล ยังคงชะลอตัว?

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 63.7 แสดงถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยมีภาคเกษตรและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ส่งผลให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 62.5 สะท้อนถึงการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ เนื่องจากคาดว่าจะมีความต้องการไม้ผลเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น และยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 จะมีราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะฝนตกชุกซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยางพารา และทำให้เกษตรกรชะลอการเก็บปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันปาล์มดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานไบโอดีเซลภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น จึงผลักดันให้ราคาปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม คาดว่าความต้องการใช้สินค้าอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นในสินค้าหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าวัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศอีกด้วย สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 60.8 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก เนื่องจากแนวโน้มภาคเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดีจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตร อาทิ ข้าวนาปี และ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค รวมถึงมาตรการภาครัฐในการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเพาะปลูกและการให้ความช่วยเหลือด้านราคาสินค้าของเกษตรกร ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม คาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะขยายตัว จากการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลาย สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ 59.7 แสดงถึง ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีภาคเกษตรและภาคการบริการเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก เนื่องจากคาดว่าปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และจะสามารถส่งออกอาหารทะเลไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคบริการ ผู้ประกอบการคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะดีขึ้นและจะกลับมาประกอบการได้ตามปกติ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลางอยู่ที่ 56.1 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตรและภาคบริการ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก และในส่วนของภาคบริการ ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมีโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัย สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 55.2 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นช่วงที่พืชผลทางการเกษตรหลายชนิดของภาคเหนือออกสู่ตลาด เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชา และกาแฟ เป็นต้น ประกอบกับยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 53.0 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการจากการกลับมาฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ภาคการลงทุนและการจ้างงานยังชะลอตัว

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254

ที่มา: กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ