รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 23-27 มิ.ย.51

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 30, 2008 14:34 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
มูลค่าส่งออกสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เดือนพ.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 21.4 ต่อปี ชะลอจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 27.0 ต่อปี โดยปริมาณขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 14.7 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า สินค้าที่มีปริมาณการส่งออกขยายตัวชะลอลง ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรกรรม โดยเฉพาะการส่งออกข้าวชะลอจากร้อยละ 62.1 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 13.8 ต่อปี และ 2) สินค้าอุตสาหกรรม ผลจากการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และยานยนต์ที่ชะลอลง และการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าที่หดตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งออกขยายตัวในหมวด
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อัญมณีและเครื่องประดับเร่งขึ้นมาก และการส่งออกในหมวดรถยนต์นั่ง เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยางที่ยังคงขยายตัวดีอยู่ตามความต้องการจากตลาดโลกส่วนด้านราคาขยายตัวร้อยละ 12.5 ต่อปี เร่งจากเดือนที่แล้วที่ร้อยละ 10.7 ต่อปี ผลจากราคาสินค้าเกษตรส่งออกและราคาสินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาก แม้ราคาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนเม.ย. 51
มูลค่านำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เดือนพ.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 44.4 ต่อปี ผลจากปริมาณการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี แม้จะมีราคาขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 16.3 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้าเป็นร้อยละ 17.4 ต่อปี ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้ามีการขยายตัวชะลอลงมากในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ต่อปีชะลอลงมาก จากร้อยละ 88.1 ต่อปี ผลจากปริมาณการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -30.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 26.4 ต่อปี นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบก็ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ผลจากการส่งออกสินค้าในหมวดเดียวกันที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนสินค้าที่มีการนำเข้าขยายตัวชะลอลงค่อนข้างมาก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ แม้การนำเข้าผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติกยังขยายตัวเร่งขึ้นตามการส่งออกที่มีการขยายตัวดีอยู่
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค 51 มีจำนวน 1.18 ล้านคน ขยายตัวสูงต่อเนื่องแม้จะเป็นช่วง low seasonที่ร้อยละ 18.7 ต่อปี เนื่องจากฐานที่ต่ำจากปีก่อนที่เกิดปัญหาการเกิดหมอกควันในหลายจังหวัดทางภาคเหนือในช่วงปลายเดือนเม.ย.50 ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวมี่เดินทางมามากนั้น เป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้นจึงช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้นประกอบกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของททท.โดยเฉพาะการเพิ่มเที่ยวบินแบบเหมาลำ(ชาร์เตอร์ไฟล์)มากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเข้าประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เติบโตดีมาจากกลุ่มประเทศ เอเชีย ได้แก่ กลุ่มอาเซียน ยุโรป อเมริกา และโอเชียเนีย ขณะที่กลุ่มตะวันออกกลาง มีการหดตัวลง จากปัญหาภายในประเทศรวมถึงการมีการส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวกันเองในแถบตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น
Economic Indicators: Next Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มค่าโดยสารสาธารณะ ในขณะที่ราคาอาหารสดชะลอตัวลง ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 126.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เฉลี่ย 119.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงจากเฉลี่ยเดือนก่อนหน้าที่ 32.1 มาเป็น 33.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยราคาน้ำมันดีเซลและเบนซิน95 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 และ 7.9 (mom) มาอยู่ที่ 40.51 และ 41.21 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดย่อยผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์
ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ เดือน พ.ค. 51 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -2.3 ต่อปี เนื่องจาก 1) ฐานที่สูงในเดือน พ.ค.50 เนื่องจากผู้ประกอบการสำรองวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น หลังคาดการณ์ว่าภาคการก่อสร้างจะฟื้นตัว ในครึ่งหลังของปี 50 ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มสำรองวัสดุก่อสร้าง 2)ในปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ค. 51 ราคาเหล็กและปูนซีเมนต์ขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 67.2 และ 7.2 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มชะลอคำสั่งซื้อ อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกจากมาตรการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือภาครัฐที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ประกาศไปเมื่อสิ้นเดือน มี.ค.51 น่าจะมีส่วนช่วยให้การลงทุนภาคก่อสร้างยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้คาดว่ายอดจำหน่ายปูนซีเมนต์เดือน พ.ค. ไม่น่าหดตัวรุนแรงนัก
ดัชนีอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี โดยมีสาเหตุจากการชะลอตัวลงมากของการผลิตกระเป๋าเดินทางที่บริษัทแม่ตัดสินใจที่จะผลิตเองในสหรัฐฯ ประกอบกับการชะลอตัวลงของการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะประเภทโทรทัศน์ที่ความต้องการจากทั้งในและต่างประเทศเริ่มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้าส่งออกหลัก เช่น Hard Disk Drive ยานยนต์ ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับสูง
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นค่าเงินริงกิตมาเลเซีย เปโซฟิลิปปินส์ วอนเกาหลี
ดอลลาร์ไต้หวัน และดอลลาร์สิงคโปร์
- สาเหตุที่ค่าเงินคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ในการประชุมวันที่ 25 มิ.ย. และมิได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะใกล้แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังคงเป็นความเสี่ยงก็ตาม นอกจากนั้นตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวของสหรัฐ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นที่ต่ำสุดในรอบ 17 ปี และดัชนีราคาบ้าน S&P’s Case-Shiller ที่หดตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ค. ยังคงบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 51 ที่ปรับใหม่นั้นจะขยายตัวร้อยละ 1 และสูงกว่าที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้าแล้วก็ตาม
- ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณรุนแรงขึ้นว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นในการประชุม ณ วันที่ 3 ก.ค. หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. ที่ร้อยละ 3.7 นั้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทิศทางดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐและยุโรปนี้ทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากสหรัฐและหันกลับมาลงทุนในตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะยุโรปมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลอื่นจึงอ่อนค่าลง
- อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาด NYMEX ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเอเชียเพิ่มขึ้น และทำให้นักลงทุนกังวลว่าทางการเอเชียอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยและจะทำให้เศรษฐกิจชะลอลง จึงเร่งขายสินทรัพย์สกุลเงินเอเชีย ทำให้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้น ตัวเลขดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของฟิลิปปินส์และเกาหลีที่ขาดดุลทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงจะกระทบเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ จึงเร่งขายสินทรัพย์สกุลเปโซและวอน ค่าเงินของทั้งสองประเทศจึงอ่อนค่าลง
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนยกเว้นค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ และวอนเกาหลี
- สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าอ่อนค่าลงในเกือบสกุลเนื่องจากค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์ทางการเมืองและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมาก ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต จึงเทขายสินทรัพย์สกุลเงินบาทโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เช่น ยูโร เยน และปอนด์สเตอลิงค์ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเอเชียบางสกุลเช่น วอนเกาหลี
และเปโซฟิลิปปินส์อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับทั้งสองสกุลจึงแข็งค่าขึ้น
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 27 มิ.ย. 51แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 3.47 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 4.14 ค่อนข้างมาก
- เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 23) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 13) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 13) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 13) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 6) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 5) เงินเยน (ร้อยละ 4) และริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 0.4) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2) หยวน(ร้อยละ 3) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3) และยูโร (ร้อยละ 10)
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ณ วันที่ 20 มิ.ย. 51 เพิ่มขึ้นสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน -0.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 124.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (13 มิ.ย.51) ร้อยละ 1.00 จาก 33.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 20 มิ.ย.51 สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง คาดว่ามาจากการที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ โดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่า ต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องที่ประมาณ 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่าการเข้าแทรกแซงทางการ(ธปท.)น้อยกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน 0.33 บาท
Major Trading Partners’ Economies: This Week
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) คงอัตราดอกเบี้ย Fed Fundไว้ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี โดยให้เหตุผลว่า ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ลดลง ในขณะที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากระดับราคาสินค้าในประเทศที่สูงขึ้นมาก รวมถึงการคาดการณ์เ งินเฟ้อล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้การลงมติไม่เป็นเอกฉันท์ 9-1 โดย 1 คน เสนอให้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
ดุลการค้าญี่ปุ่นเดือน พ.ค. 51 เกินดุลลดลงร้อยละ 7.6 จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 365.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการชะลอตัวลงของการส่งออกแม้จะมีการส่งออกไปยังตลาดเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นช่วยชดเชยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และตะวันออกกลางที่ลดลง โดยมีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี ในขณะเดียวกันมีการนำเข้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ตามราคาน้ำมัน โดยการนำเข้าจากตะวันออกกลางขยายตัวถึงร้อยละ 39.1 ต่อปี และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 21.9 ของการนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่การนำเข้าจากแหล่งอื่นหดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ดุลการค้าฮ่องกงเดือน พ.ค. 51 ขาดดุลที่ 27.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 15.4 ต่อปี จากร้อยละ 11.3 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันดิบนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ฮ่องกงมีการขยายตัวของการส่งออกชะลอจากร้อยละ 14.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้าเป็นร้อยละ 10.3 ต่อปี แม้จะมีการส่งออกไปยังตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ต่อปี ช่วยชดเชยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ลดลงร้อยละ -2.3 ต่อปี
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในเดือนมิ.ย. 51 ลดลงอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 58.1 มาอยู่ที่ 50.4 นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่เดือนก.พ. 35 ที่ระดับ 4.3 จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขั้นอย่างมาก ส่งผลต่อการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจล่วงหน้าให้แย่ลง ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อความกังวลว่าการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง แต่จะส่งผลต่อความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจหดตัวลง เมื่อผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการคืนเงินภาษีแก่ประชาชนหมดไป
GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 51 ของสหรัฐ (ตัวเลข Final) ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 มาเป็นร้อยละ 1.0 (qoq) จากการบริโภคภาคเอกชนปที่ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.0 มาเป็นร้อยละ 1.1 (qoq) อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาไม่เปลี่ยนแปลงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี
ตัวเลขดัชนีราคาบ้าน (Case-Shiller home price index) จัดทำโดย Standard & Poor’s ของสหรัฐในเดือนเม.ย. 51 หดตัวลงต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาบ้านในเขต 20 เมืองใหญ่ของสหรัฐหดตัวลงมากเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -15.3 ต่อปี หรือลดลงร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ราคาบ้านในเขตเมืองหลวง 10 เมืองหลักลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันที่ร้อยละ -16.3 ต่อปี หรือลดลงร้อยละ -1.6 (mom) สะท้อนว่า สถานการณ์ตลาดบ้านของสหรัฐที่ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวดีขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลข Flash Manufacturing PMI ของยูโรโซนเดือนมิ.ย. 51 ลดลงอย งมากจากที่ระดับ 50.6 มาเป็น 49.1 สะท้อนถึงการหดตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรม ซึ่งการหดตัวลงเนื่องมาจากการชะลอตัวลงของความต้องการภายในประเทศ
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (HICP Flash estimate) ของยูโรโซนเดือนมิ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนห่อนหน้าที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี สาเหตุหลักยังคงมาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลข Non farm payroll ของสหรัฐเดือนมิ.ย. 51 คาดว่า จะลดลง-50,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า ภาคก่อสร้าง และอุตสาหกรรมโรงงาน ซึ่งเป็นไปตามสภาพตลาดแรงงานที่ยังคงอ่อนแอจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลง
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ