รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 18, 2008 12:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ส.ค. 2551 
SUMMARY:
- นายแบงค์ชี้อัตราดอกเบี้ยปี 51 ขึ้นได้สูงสุดที่ร้อยละ 0.25 เท่านั้น
- สัญญาณภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจท่วมโลก
- เวียดนามผลิตข้าวสูงทำให้ปีนี้ส่งออกทะลุเป้า
HIGHLIGHT:
1. นายแบงค์ชี้อัตราดอกเบี้ยปี 51 ขึ้นได้สูงสุดที่ร้อยละ 0.25 เท่านั้น
- กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงเทพกล่าวถึงการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ว่าแม้จะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ควรมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าดอกเบี้ยจะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีกเล็กน้อย
- ด้านกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 27 นี้ มีความเป็นไปได้ประมาณครึ่งต่อครึ่ง ที่อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 3.50 และหากขึ้นคาดว่าจะขึ้นไม่เกิน ร้อยละ 0.25
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในการประชุมครั้งก่อน กนง. มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.25 เป็น 3.50 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปี 51 พบว่า การใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มชะลอลงจากไตรมาสแรก โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 51 มีแนวโน้มชะลอลงจาก 6 มาตรการของรัฐบาล ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะสั้นอาจคงที่หรือปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย
2. เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณภาวะถดถอย
- เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยเฉพาะเยอรมนี และฝรั่งเศส เผยข้อมูลที่สะท้อนการหดตัวทางเศรษฐกิจ โดยญี่ปุ่นรายงานการหดตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2551 จากสัญญาณเศรษฐกิจหลายตัว ได้แก่ ดัชนีค่าส่งที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อปรับตัวสูงสุดในรอบ 27 ปี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคการผลิตที่ลดลงเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นและความต้องการที่ลดน้อยลง
- ขณะที่ GDP ไตรมาส 2 ของเยอรมนีลดลงร้อยละ 0.5 ต่อปีจากร้อยละ 1.3 ต่อปีในไตรมาสแรก เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่ GDP ลดลงร้อยละ 0.3 ต่อปี จากร้อยละ 0.4 ต่อปีในไตรมาสแรก เป็นผลจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก และผลกระทบจากภาวะตกต่ำภาคก่อสร้างและการชะลอการลงทุนในสินค้าทุน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในไตรมาส 2 ของประเทศญี่ปุ่น และยูโรโซน เป็นผลจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นผ่านราคาน้ำมันดิบไปสู่ต้นทุนการผลิต และราคาอาหารที่สูงขึ้น รวมถึงการแข็งค่าของเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐซึ่งกระทบต่อภาวะการส่งออกสินค้าของกลุ่มยูโรโซน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของอุปสงค์จากประเทศเกิดใหม่ในเอเชียจะช่วยชดเชยการส่งออกให้แก่ญี่ปุ่นแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่มีแนวโน้มชะลอตัวได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และยูโรโซนในปี 51 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และร้อยละ 2.0 ต่อปี ตามลำดับ
3. เวียดนามผลิตข้าวสูงทำให้ปีนี้ส่งออกทะลุเป้า
- กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม กล่าวถึงตัวเลขผลผลิตข้าวปีนี้ออกมาว่าเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นอู่ข้าวใหญ่ที่สุดของประเทศสามารถผลิตข้าวเปลือกได้ทั้งสิ้นจำนวน 20.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 18.68 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้การส่งออกได้มากกว่าเป้าเดิมที่ตั้งไว้ตอนต้นปี ส่งผลให้ผลผลิตข้าวทั้งหมดของประเทศเพิ่มขึ้น 37.6 ล้านตัน ซึ่งสามารถส่งออกได้ 4.6 ล้านตัน มากกว่าเป้าหมายเดิม 100,000 ตัน
- สศค. วิเคราะห์ หากเวียดนามสามารถส่งออกเข้าได้ไว้ตามเป้าหมาย 4.6 ล้านตัน จะส่งผลให้ราคาข้าวในต่างประเทศปรับตัวลดลงได้ โดยในเดือนส.ค.พบว่า ราคาข้าวในตลาดชิคาโก้หดตัวลงร้อยละ -12.4 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว และคาดว่า ราคาข้าวในช่วงครึ่งหลังปี 51 จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับต้นปี เนื่องจากแต่ละประเทศพยายามขยายพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตมากขึ้นตามราคาที่ขยายตัวในระดับสูงในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 51 ราคาข้าวในตลาดโลก (ชิคาโก้) ขยายตัวร้อยละ 81.3 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ