รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 11-15 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 18, 2008 12:55 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
รายได้สุทธิรัฐบาลเดือน ก.ค.51 สามารถจัดเก็บได้สุทธิ 105.5 พันล้านบาท หรือขยายตัวในอัตราร้อยละ 22.1 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีการหักเงินจัดสรร VAT ให้ อปท. มูลค่า 9.6 พันล้านบาททั้งนี้ หากไม่รวมการจัดสรรดังกล่าว รายได้สุทธิเดือน ก.ค.51 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ขณะที่รายได้ 3 กรมจัดเก็บภาษี ขยายตัวร้อยละ 14.4 ต่อปี ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในส่วนของฐานภาษี พบว่าภาษีฐานรายได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี โดยคาดว่ามาจากรายได้ของนิติบุคคลที่ปรับตัวดีขึ้น และการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาษีฐานการบริโภค(ภาษีมูลค่าเพิ่ม)ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 33.3 ต่อปี เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
รายจ่ายรัฐบาลในเดือน ก.ค. 51 สามารถเบิกจ่ายได้ 134.5 พันล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงในเดือน ก.ค. 50 ทั้งนี้ รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 115.9 พันล้านบาท หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ในขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 18.6 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -18.6 ต่อปี เนื่องมาจากฐานที่สูงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ได้มีการโอนเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนกว่า 6.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายงบประมาณในช่วง 10 เดือนแรกสามารถเบิกจ่ายไปได้แล้ว 1,269 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 ต่อปีและคิดเป็นอัตราเบิกจ่ายที่ร้อยละ 76.4 ของกรอบงบประมาณประจำปี 51 ที่กำหนดไว้ที่ 1,660 พันล้านบาท
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ต่อปี เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตข้าวนาปรัง ยางพาราและมันสำปะหลังที่ร้อยละ 51.1 10.2 และ 139.1 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจาก ภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้มีการเร่งเก็บเกี่ยวมากขึ้น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 23.3 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี โดยถือว่าเป็นการขยายตัวที่สูงเป็นพิเศษ โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวในระดับสูงในเดือน ก.ค. 51 โดยเฉพาะสินค้าประเภทเชื้อเพลิงพลังงาน ในขณะที่การบริโภคโดยรวมจากเครื่องชี้การบริโภคอื่นๆคาดว่ายังคงขยายตัวในระดับปกติสะท้อนการบริโภคที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 27.5 ต่อปี ชะลอเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.3 ต่อปีและสูงกว่าที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15.0 ต่อปี โดยมีปัจจัยบวกจาก 1)ราคาขายปลีกน้ำมันเริ่มมีทิศทางปรับลดลง และ 2) การปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้น้ำมัน E20 แม้ว่าราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ค. 51 อยู่ที่ระดับ 71.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 70.8 ซึ่งกลับมาปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากการประกาศนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และการส่งออกของไทยที่ยังขยายตัวได้ดี
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 43.0 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 25.9 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าที่คาดไว้ร้อยละ 27.0 ต่อปี เป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เป็นอัตราใหม่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 51 และจะสิ้นสุดผลบังคับใช้ ในเดือน มี.ค. 52 ทำให้ภาคธุรกิจเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างจะเผชิญกับภาวะราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
Economic Indicators: This Week
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน ก.ค. 51 หดตัวลงมากที่ร้อยละ -29.3 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -20.9 ต่อปี เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันโดยเฉพาะ ราคาน้ำมันดีเซลที่ยังคงอยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้ผู้ซื้อรถบางกลุ่มเปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ประเภทอื่นที่สามารถประหยัดน้ำมันได้ดีกว่า รวมถึงความผันผวนทางการเมืองส่งผลให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ชะลอการซื้อรถยนต์ เห็นได้จากรถบรรทุกขนาด 2 ตัน และรถปิคอัพขนาด 1 ตันที่หดตัวต่อเนื่องทีร้อยละ -19.3 และร้อยละ -31.4 ต่อปี ตามลำดับ บ่งชี้ว่าการลงทุนภาคเอกชนในภาคธุรกิจ SME เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตามนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล น่าจะมีส่วนจูงใจให้ธุรกิจเริ่มขยายการลงทุน และสั่งซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ในระยะต่อไปมากขึ้น
สินเชื่อภาคเอกชนเดือน มิ.ย. 51 ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากต้นปี 51 สินเชื่อรวมเพื่อภาคเอกชนของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.9 ต่อปีโดยขยายตัวในระดับสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี โดยมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 5,959.7 พันล้านบาท สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 5,872.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อภาคเอกชนบ่งบอกถึงทิศทางการขยายตัวของการลงทุนที่ยังมีความต้องการต่อเนื่องจากต้นปี 51
เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ของภาคเอกชน ณ เดือน มิ.ย. 2551 หดตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และชะลอลงจากเดือน พ.ค. ที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี โดยปริมาณเงินฝากในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ระดับ 6,588.2 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบปี 51 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 6,979.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สาเหตุสำคัญของการลดลงของเงินฝากเนื่องจาก ณ สิ้นเดือนมิ.ย. เป็นช่วงเวลาครบกำหนดที่ธนาคารพาณิชย์ต้องนำเงินส่งเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) สำหรับการจ่ายเงินสบทบเพื่อการคุ้มครองเงินฝากส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการโยกย้ายส่วนเงินฝากที่ต้องนำมาคิดฐานสำหรับจ่ายค่าธรรมเนียมไปที่ส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน ( Bill of Exchange) ซึ่งมีลักษณะคล้ายการรับเงินฝากแล้ว เงินฝากของสถาบันการเงินจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.7
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 51 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 75.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อหน้าที่อยู่ที่ระดับ 73.6 เนื่องจากมีปัจจัยบวกที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในอนาคต คือราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต้นทุนของผู้ประกอบการให้ปรับตัวลดลง ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่มีเสถียรภาพและอ่อนค่าลงเล็กน้อยจะช่วยส่งผลกระทบด้านบวกแก่ผู้ประกอบการส่งออกให้สามารถเพิ่มยอดขายจากต่างประเทศได้
ดุลการค้าเดือนก.ค. 51 คาดว่าน่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 0.2 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเหรียญดอลลาร์สหรัฐที่แม้จะยังขยายตัวดีอยู่แต่ก็ชะลอลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกน่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 19.0 ต่อปี ลดจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 27.4 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ามีการขยายตัวเร่งขึ้นตามการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น โดยตัวเลขยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้ารวมในเดือน ก.ค. 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 65.9 ต่อปี ทำให้คาดว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 45.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30.7 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า
Foreign Exchange Review:
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินเยนและดอลลาร์ไต้หวันที่แข็งค่าขึ้น
- ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือน ก.ค. สูงถึงร้อยละ 0.8 ต่อเดือน (หรือร้อยละ 5.6 ต่อปี) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ถึง 2 เท่า ทำให้ความน่าจะเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ร้อยละ 2 มีมากขึ้น แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐบางตัวยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เช่นยอดค้าปลีกที่หดตัวลงที่ร้อยละ 0.1 ในเดือน ก.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเกินคาด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ลดต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้นัก
ลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจไม่ตกต่ำมากดังคาด
- ขณะที่ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปในไตรมาส 2 ที่หดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดียวกัน ทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดยุโรปและเอเชียไปลงทุนในสหรัฐมากขึ้น ค่าเงินเอเชียและยูโรจึงอ่อนค่าลงนอกจากนั้น การที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลและถอนการลงทุนจากอังกฤษ จึงทำให้ปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงมาก
- ด้านค่าเงินเยนและดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐด้วยเหตุผลต่างกัน กล่าวคือการที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่มีนโยบายดอกเบี้ยสูงเช่นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มีทิศทางชะลอลง ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวอาจต้องเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง ทำให้นักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนไปลงทุนในประเทศดังกล่าวเริ่มขายสินทรัพย์สกุลดังกล่าวและกลับไปซื้อเงินเยนเพื่อคืนเงินกู้ (Yen Carry Trade Unwind) ค่าเงินเยนจึงเริ่มแข็งค่าขึ้น ขณะที่ดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินไต้หวันได้อ่อนค่าลงมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้
ธนาคารกลางกังวลว่าอาจเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อมากขึ้น จึงเริ่มเข้าแทรกแซงค่าเงินมากขึ้น ดอลลาร์ไต้หวันจึงแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนยกเว้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เยน ดอลลาร์ฮ่องกง รูเปียห์อินโดนิเซีย ดอลลาร์ไต้หวัน และหยวน
- สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินดังกล่าวอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐสืบเนื่องจากการที่ตลาดคาดว่าความน่าจะเป็นที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีมีมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางที่อื่น ๆ มีแนวโน้มจะปรับลดดอกเบี้ยลง ทำให้นักลงทุนหันกลับไปลงทุนยังสหรัฐมากขึ้น ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากการที่ผู้นำเข้าเริ่มทำการซื้อดอลลาร์เพื่อซื้อสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้นหลังจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดมากในช่วงที่ผ่านมาตามราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินเยน ดอลลาร์ฮ่องกง รูเปียห์อินโดนิเซีย ดอลลาร์ไต้หวัน และหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงน้อยค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าว
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 15 ส.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 5.03 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 4.94
- เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 22.3) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 12.9) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 12.4) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 12.0)ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 11.1) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 7.6) เงินเยน (ร้อยละ 6.1)ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.4) และดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 0.1) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.5) หยวน (ร้อยละ 3.3) และยูโร (ร้อยละ 7.1)
Foreign Exchange and Reserves
ณ วันที่ 8 ส.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน - 1.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 119.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -1.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -1.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลงคาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับคาดว่าผู้ประกอบการน่าจะเร่งการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่ค่าเงินมีทิศทางที่อ่อนค่าลง โดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องที่ประมาณ -0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 25 ก.ค.51) ร้อยละ 0. 43 จาก 33.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 33.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 8 ส.ค.51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ยอดค้าปลีกของสหรัฐในเดือนก.ค. 51 ลดลงร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มาจากยอดขายรถยนต์และส่วนประกอบที่หดตัวลงร้อยละ-2.4 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอรวมถึงภาวะตลาดบ้านที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลงอย่างมากส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อลง นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยหันมาใช้รถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมันแทนรถยนต์ขนาดใหญ่ หรือรถยนต์เอนกประสงค์ (SUV) ที่มีขนาดเครื่องยนต์ใหญ่กว่า อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกในเดือนก.ค. 51 ที่ไม่รวมยอดขายรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 0.4 ซึ่งการชะลอตัวลงของยอดค้าปลีกเป็นการส่งสัญญาณการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่แนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ว่ามาตรการคืนเงินภาษีแก่ประชาชนจะช่วยกระตุ้นยอดค้าปลีกในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา แต่คาดว่าผลจากมาตรการดังกล่าวจะหมดไปในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งรัฐบาลสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อช่วยเศรษฐกิจสหรัฐไม่ให้หดตัวอย่างรวดเร็ว
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือนก.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี และนับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี โดยสาเหตุหลักของการสูงขึ้นอย่างมากของอัตราเงินเฟ้อยังคงมาจากราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น โดยราคาพลังงาน (Energy) ในเดือนก.ค. ขยายตัวถึงร้อยละ 23.9 ต่อปี ในขณะที่ราคาอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร (Fats and oils) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.8 ต่อปี
ผลผลิตอุตสาหกรรม (ไม่รวมการก่อสร้าง) ของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนมิ.ย. 51 หดตัวลงร้อยละ -0.5 ต่อปี นับเป็นการหดตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี สอดคล้องกับกับการสำรวจการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ (Purchasing manager’s survey) ที่บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมของประเทศยูโรโซน 15 ประเทศหดตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ผลผลิตอุตสาหกรรมหกตัวลงมาจาก 1) การชะลอตัวลงของความต้องการในประเทศ 2) ค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น 3) เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง และ 4) ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว
GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 51 (Flash estimate) ของกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ชะลอตัวลงอย่างมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า GDP ในไตรมาสที่ 2 หดตัวลงร้อยละ -0.2 (qoq) ซึ่งนับเป็นการหดตัวครั้งแรกของเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ นับตั้งแต่มีการนำค่าเงินยูโรมาใช้ ซึ่งการหดตัวลงดังกล่าวมาจากการหดตัวลงทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเยอรมนีหดตัวลงร้อยละ -0.5 ในขณะที่ฝรั่งเศส และอิตาลีหดตัวที่ร้อยละ -0.3 (qoq) เท่ากัน
ดุลการค้าสหรัฐเดือนมิ.ย. 51 ขาดดุลลดลงมาอยู่ที่ -56.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล — 59.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ช่วยกระตุ้นการส่งออกให้ขยายตัวมากขึ้น โดยในเดือน มิ.ย. 51 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 21.1 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 13.5 ต่อปี ซึ่งการนำเข้าที่ยังขยายตัวสูงมาจากการนำเข้าสินค้าประเภทน้ำมันและพลังงาน ทั้งนี้ ดุลการค้าที่ปรับตัวดีขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 3 ท่ามกลางตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ออกมาอ่อนแอ เช่น ตัวเลขการจ้างงาน ตัวเลขภาคการเงิน รวมถึงตัวเลขยอดค้าปลีกที่เป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะการบริโภคที่สำคัญ เป็นต้น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสที่ 2 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี ผลจากการหดตัวมากขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 94.3 ของ GDP โดยหดตัวที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี เร่งจากร้อยละ -0.2 ต่อปีในไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้อุปสงค์ภายในประเทศของภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 73.9 ของ GDP หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปีโดยมีการลงทุนในอส้งหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 และอุปสงค์ภายในประเทศของภาครัฐหดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปีในไตรมาสที่ 1 เนื่องจากการพยายามแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณด้วยการลดรายจ่ายของภาครัฐทำให้มูลค่าการลงทุนของภาครัฐหดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ -6.9 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 จากเดิมที่หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปีในไตรมาสก่อนหน้าในขณะเดียวกัน อุปสงค์ภายนอกประเทศก็มีขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ
ของสหรัฐฯ และ EU ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่น ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมซึ่งมีสัดส่วนอยู่ใน GDP ถึงร้อยละ 16.3 มีการขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี จากร้อยละ 11.1 ต่อปี ในไตรมาส 1
Major Trading Partners’ Economies: This Week
เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2 ปี 51 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อปี ผลจากการขยายตัวชะลอลงของภาคการใช้จ่ายเกือบทุกภาค ยกเว้นการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักและมีสัดส่วนอยู่ใน GDP ถึงร้อยละ 260.3 มีการขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 8.9 ต่อปี ในไตรมาส 1 นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐบาลขยายตัวเพียงร้อยละ 3.5 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 25.1 ต่อปี จากร้อยละ 30.8 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนด้านการผลิต มูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวลดลงร้อยละ -5.2 ต่อปี จากที่มีการขยายตัวร้อยละ 12.7 ต่อปีในไตรมาสที่แล้ว เป็นผลจากการชะลอลงของภาคการส่งออก ซึ่งทำให้มูลค่าผลผลิตรวมหดตัวลงที่ร้อยละ -2.2 ต่อปี ในไตรมาส 2 จากที่เคยขยายตัวในไตรมาส 1 ที่ร้อยละ 12.6 ต่อปี ในขณะที่ภาคบริการมีการขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี จากร้อยละ 7.7 ต่อปี อันเป็นผลจากการขยายตัวที่ชะลอลงของธุรกิจบริการทางการเงิน
เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 2 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปี เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 6.3 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวที่เร่งขึ้นของอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ช่วยชดเชยการขยายตัวที่ชะลอลงของอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมและการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 2 ทั้งนี้ การส่งออกซึ่งมีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 โดยขยายตัวที่ร้อยละ 16.1 ต่อปี เร่งจากร้อยละ 15.5 ต่อปีในไตรมาส 1 ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและภาครัฐในไตรมาส 2 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ต่อปี และร้อยละ 2.2 ต่อปี ตามลำดับ และการลงทุนรวมในไตรมาส 2 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12.8 ต่อปี ในด้านอุปทาน การหันมาเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบแทนการเป็นผู้ส่งออกเดิม ทำให้มูลค่า
ผลผลิตของภาคเหมืองแร่ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 แต่ก็ถูกชดเชยด้วยมูลค่าผลผลิตภาคบริการที่มีการขยายตัวเร่งขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจีนเดือน ก.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี ลดลงจากร้อยละ 7.1 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารซึ่งมีสัดส่วน 1/3 ของดัชนีราคาผู้บริโภคทั้งหมดในเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 14.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนมิ.ย. 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อปี โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์และน้ำมันพืชที่มีดัชนีราคาขยายตัวร้อยละ 16.0 ต่อปี และร้อยละ30.8 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากร้อยละ 27.3 ต่อปี และร้อยละ 34.0 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ค่าพลังงานในหมวดการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 22.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคยังมีการขยายตัวค่อนข้างสูง
ดุลการค้าจีนเดือน ก.ค. 51 เกินดุลที่ 25.3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 21.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออกที่เร่งขึ้นมากกว่าการขยายตัวของการนำเข้า โดยการส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 26.9 ต่อปี เร่งขึ้นจากร้อยละ 17.6 ต่อปี ในเดือนมิ.ย. 51 ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 33.7 ต่อปี เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 31.0 ต่อปีในเดือน มิ.ย. 51 ทั้งนี้การส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักขยายตัวดีขึ้นในเกือบทุกตลาด ยกเว้นการส่งออกไปยังไต้หวัน ไทย และอินเดีย โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของจีนมีการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 15.6 ต่อปี จากร้อยละ 7.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน 5 (ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) มีการขยายตัวที่ร้อยละ 31.4 ต่อปี จากร้อยละ 17.7 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเร่งขึ้นมากของการส่งออกไปยังอินโดนีเซียและสิงคโปร์ สำหรับการส่งออกไปยังเกาหลีใต้นั้นมีการขยายตัวถึงร้อยละ 59.1 ต่อปี เพิ่มจากร้อยละ 42.6 ต่อปีในเดือนมิ.ย. 51
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ