รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 14, 2008 13:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 ต.ค. 2551

SUMMARY:
  • ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบออกมาตรการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก
  • ส.อ.ท.พอใจ 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • คาดฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอยปีหน้า
HIGHLIGHT:

1. ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบออกมาตรการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก

  • รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ แถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจว่าที่ประชุมเห็นชอบการออก 6 มาตรการป้องกันวิกฤตการเงินของประเทศไทยได้แก่ (1) มาตรการทางตลาดทุน (2) สร้างสภาพคล่องให้เพียงพอถึงทุกธุรกิจ (3) เร่งการส่งออกและการท่องเที่ยว (4) สร้างเศรษฐกิจในประเทศให้กับประชาชน (5) เร่งการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ และ (6) สร้างประชาการเงินของเอเชีย ทั้งนี้ 6 มาตรการดังกล่าวจะเน้นการสร้างสภาพคล่องในระบบ เช่น มาตรการตลาดทุน จะมีการระดมเงินเพื่อซื้อหุ้นราคาถูก และมีการจัดตั้งกองทุนโดยความร่วมมือ และแมตชิ่งฟันด์ และการซื้อหุ้นคืน โดยมีมูลค่ารวมกันประมาณ 42,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ขยายวงเงินการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF และ LTF อีก จากเดิมมูลค่า 5 แสนบาท เป็น 7 แสนบาทต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 6 มาตรการทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการลดความรุนแรงจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐและวิกฤติเศรษฐกิจโลกและจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 50 และ 51 สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้ที่ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 4.0 ต่อปี ตามลำดับ

2. ส.อ.ท.พอใจ 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึง 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ว่า ภาคเอกชนรู้สึกพอใจ เพราะส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งรัฐบาลควรเร่งผลักดันให้นโยบายที่แถลงออกมาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุน เชื่อว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนจะกลับมา หุ้นไทยก็จะกลับมาบวกอีกครั้ง สำหรับมาตรการสนับสนุนสินเชื่อ

เอสเอ็มอีและดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอนั้น ถือว่า น่าพอใจ โดยเฉพาะการส่งออกและท่องเที่ยวที่กำหนดเป้าหมายจะต้องเติบโตเพิ่มอีก 5% หากทำได้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และต้องดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่แข็งค่ากว่าคู่แข่ง เพราะปีหน้าการส่งออกจะทำได้ยาก และมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างรุนแรง ซึ่งขณะนี้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงบ้างโดยอยู่ระหว่าง 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่มีเสถียรภาพและผู้ส่งออกค่อนข้างพอใจ

  • สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกค่อยๆทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ และส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย โดยหาก 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีผลบังคับใช้ ก็จะสามารถสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 จะปรับตัวลดลงจากปี 2551 มาขยายตัวร้อยละ 11.0-13.0 ต่อปี

3. คาดฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอยปีหน้า

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฮ่องกงกล่าวว่า ฮ่องกงมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า โดยอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น จากผลของการยกเลิกการจ้างงานในภาคธุรกิจบริการทางการเงินและตลาดทุนที่กำลังประสบภาวะตกต่ำ และคาดว่าจะทำให้การบริโภคภาคในประเทศลดลง นอกจากนี้ภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ DBS ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 51 จากเดิมร้อยละ 4.4 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 3.8 ต่อปี และในปี 52 จากเดิมร้อยละ 4.4 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.7 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจฮ่องกงในปี 51 จะขยายตัวเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 4.8 โดยครึ่งหลังของปี 51 น่าจะขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 3.9 ต่อปี จากร้อยละ 5.8 ต่อปี ในครึ่งแรกของปี ในขณะที่ปี 52 น่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.9 ต่อปี ผลจากการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การลงทุนที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจน่าจะชะลอลงด้วย จากผลของความไม่มั่นคงในตลาดเงินตลาดทุนของฮ่องกงซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับตลาดเงินสหรัฐฯ และยุโรป พนักงานในภาคธุรกิจการเงินจะตกงานมากขึ้นและส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนให้ลดลง ทั้งนี้ไทยส่งออกไปยังฮ่องกงซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของไทย ในสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 5.0 ในปีนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงในปีหน้าจึงอาจส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีหน้า การเร่งกระจายตลาดส่งออกไทยอาจช่วยได้บ้าง แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ขยายวงกว้างขึ้นจะทำให้การส่งออกของไทยอาจชะลอตัวในปีหน้า

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ