ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ ผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G7
การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศผู้นำอุตสาหกรรม 7 ประเทศ (G7) ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2009 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้ข้อสรุปในแถลงการณ์ร่วม (Statement of G7) ที่เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการเสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดการเงิน โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการร่วมกัน (act together) ในการใช้เครื่องมือทางนโยบาย (policy tools) ที่มีในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงิน ในส่วนของมาตรการทางการเงินเพื่อฟื้นฟูการไหลเวียนของสินเชื่อสู่ภาคเศรษฐกิจ (restoring normal credit flows) ได้มีการดำเนินการใน 3 แนวทางด้วยกัน คือ 1) เพิ่มสภาพคล่องและเงินทุน (enhance liquidity and funding) ทั้งโดยวิธีการดั้งเดิมที่เคยทำเป็นประจำและวิธีการใหม่ๆ 2) การเสริมฐานะเงินกองทุนบน (strengthen the capital base) พื้นฐานของการประเมินฐานะของสถาบันการเงินแต่ละแห่งโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับและตรวจสอบ และ 3) ช่วยให้มีการแก้ไขปัญหาการด้อยค่าของสินทรัพย์อย่างเป็นระบบ (facilitate the orderly resolution of impaired assets) โดย G7 ผูกผันในอันที่จะทำงานด้วยกันและร่วมมือกันหากมีความจำเป็นเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการเงินโลกเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบข้างเคียงและการบิดเบือนของกลไกซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
วิกฤตการเงินได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและกระจายไปทั่วโลก การถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมาก (significant job losses) ซึ่ง G7 ก็ได้ดำเนินนโยบายเพื่อสนองตอบต่อปัญหาดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับที่ต่ำมาก รวมทั้งยังได้ดำเนินนโยบายการเงินชนิดที่เรียกว่าไม่ปกติ (unconventional monetary policy action) เมื่อมีความเหมาะสมอีกด้วย ในส่วนของนโยบายการคลังนอกเหนือจากจะทำหน้าที่ในการเป็นตัวปรับเสถียรภาพในตัวเอง (automatic stabilizers) แล้ว ยังก็มีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเป็นจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินการด้านงบประมาณไปพร้อมๆ กันของสมาชิกก็จะช่วยให้ประสิทธิผลจากนโยบายที่แต่ละประเทศดำเนินการมีเพิ่มขึ้นอีก โดยการดำเนินนโยบายการคลังจะอยู่ภายใต้หลักการที่ว่าต้องก่อให้เกิดการประสิทธิผล (effectiveness) ดังนี้
- ต้องปรับล่นระยเวลาการเริ่มดำเนินการให้เร็วขึ้น รวมถึงดำเนินการอย่างรวดเร็ว (be frontloaded and quickly executed)
- ต้องผสมผสานระหว่างมาตรการด้านการใช้จ่ายและด้านภาษีอย่างเหมาะสม (appropriate mix of spending and tax measures) เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ การสร้างงาน และสนับสนุนผู้ด้อยโอกาส
- ต้องเป็นการเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว (longer-term growth prospects) ขณะเดียวกัน ก็ช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอ (addressing structural weaknesses) โดยเน้นการลงทุนในโครงการเป้าหมาย (targeted investments) และ
- ต้องสอดคล้องกับความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง (be consistent with medium-term fiscal sustainability) และมาตรการที่ดำเนินการส่วนใหญ่ต้องเป็นมาตราการชั่วคราวเท่านั้น (temporary measures)
นอกจากนี้ G7 ยังแสดงความยินดีที่ประเทศสาธารณะประชาชนจีนดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการปรับไปสู่การมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นมากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การแข็งค่าของมูลค่าที่แท้จริง (in effective terms) ของเงิน Renminbi และจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจที่สมดุลทั้งต่อประเทศจีนและต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ G7 จะติดตามดูแลการเคลื่อนไหวของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดและจะร่วมมือกันเมื่อจำเป็นในการป้องกันมิให้การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนจนเกินไป (excessive volatility) ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพของศรษฐกิจและการเงิน
ระบบการค้าและการลงทุนที่เปิดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเจริญรุ่งเรืองของโลก ซึ่ง G7 ยังคงผูกพันที่จะหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า (avoiding protectionist measures) ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมการหดตัวของเศรษฐกิจ โดยจะพยายามละเว้นการเพิ่มอุปสรรคทางการค้าใหม่ๆ (refraining from raising new barriers) และดำเนินเพื่อให้การเจรจาการค้ารอบโดฮาได้ข้อสรุปโดยเร็ว (quick and ambitious conclusion of the Doha Round) นอกจากนี้ G7 ยังเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้ประเทศดาวรุ่งและประเทศกำลังพัฒนา (emerging and developing countries) สามารถเข้าถึงสินเชื่อและสินเชื่อทางการค้า รวมทั้งการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนย้ายเงินทุนภาคเอกชน ทั้งนี้ อาจให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา (multilateral development banks) เข้ามาช่วยสนับสนุน
G7 ยังเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการดำเนินงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ด้วยการมอบหมายภาระกิจเพิ่มเติม (endowed with additional resources) ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการสนองตอบต่อวิกฤตในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิผลและมีความคล่องตัว พร้อมกับแสดงความยินดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีความตกลงการให้กู้ยืม (lending agreement) กับ IMF และเห็นว่าการเพิ่มความร่วมมือกันระหว่าง IMF กับ Financial Stability Forum (FSF) มีความจำเป็นในการพัฒนาวิธีการประเมินความเสี่ยงจากการเงินมหภาค (macro-financial risks assessment) ที่มีความทันการณ์และเชื่อถือได้ นอกจากนี้ ยังยินดีกับการที่ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับภูมิภาค (regional Development Banks) ในการให้เงินกู้แก่ประเทศดาวรุ่งและประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิผล
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ G7 ได้มอบหมายให้คณะผู้ช่วย (Deputies) จัดเตรียมรายงานความก้าวหน้า (progress report) ภายใน 4 เดือนสำหรับการพัฒนาหลักการและมาตรฐานที่เห็นพ้องร่วมกันของสมาชิก (agreed set of common principles and standards) เกี่ยวกับความถูกต้องเหมาะสม (propriety) ความซื่อตรง (integrity) และความโปร่งใส (transparency) ของกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ (economic and financial activity) นอกจากนี้ G7 ยังผูกพันที่จะทำงานกับผู้เกี่ยวข้องภายนอกในเวทีระหว่างประเทศเพื่อเร่งให้เกิดการปฏิรูป (accelerate reforms) กรอบการกำกับดูแล (regulatory framework) ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดผลต่อการซ้ำเติมวัฏจักร (limiting procyclicality) ขอบเขตของการกำกับ (scope of regulation) แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายผลตอบแทน (compensation practices) ความซื่อตรงของตลาดการเงิน (market integrity) และการบริหารความเสี่ยง (risk management)
แถลงการณ์ของ G7 Finance Ministers and Central Bank Governors มีลักษณะของการเรียบเรียงสิ่งที่รัฐบาลและธนาคารกลางในแต่ละประเทศได้ดำเนินการไปแล้วในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มงบประมาณรายจ่าย และการลดภาษีเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับปรุงบทบาทของ IMF เพื่อให้ทำหน้าที่ในการเตือนภัยล่วงหน้าซึ่งเป็นตามข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้โดยนาย Gordon Brown นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ แต่ที่เป็นประเด็นที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือการมอบหมายให้คณะผู้ช่วย (Deputies) ไปศึกษาและจัดทำหลักการและมาตรฐานร่วม (agreed set of common principles and standards) เพื่อให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม ความซื่อตรง และความโปร่งใสของกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศว่าจะมีสาระและความครอบคลุมอย่างไรบ้าง ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปกรอบการกำกับดูแลระบบการเงิน ที่เป็นหัวใจของวิกฤตครั้งนี้ G7 เพียงกล่าวถึงความผูกพันที่จะดำเนินการกับเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ในส่วนของความพยายามหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้านั้น อาจจะสวนทางกับกรณีที่สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 787 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ที่มีข้อกำหนดที่เรียกว่า "Buy American clause" ซึ่งกำหนดให้โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่ได้รับงบประมาณจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องใช้เหล็กที่ผลิตในสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งเป็นการกีดกันทางการค้าที่ชัดเจนและสร้างความไม่พอใจกับสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่นว่าอาจจะนำมาซึ่งการเพิ่มการกีดกันทางการค้าขึ้นอีกในระบบการค้าโลก
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th