รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 27, 2009 11:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 ก.ค. 2552

SUMMARY:

1. ธปท.ปรับGDP ปี 52 ติดลบร้อยละ 3.0-4.5 ต่อปี คาดปี 53 ขยายร้อยละ 3.0-5.0 ต่อปี

2. เร่งสินเชื่อ แก้บาทแข็ง ชะลอกู้นอก

3. GDP เกาหลีใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 52 ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น

HIGHLIGHT:
1. ธปท.ปรับGDP ปี 52 ติดลบร้อยละ 3.0-4.5 ต่อปี คาดปี 53 ขยายร้อยละ 3.0-5.0 ต่อปี
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประเมินเศรษฐกิจไทยปี 52 ใหม่ ณ เดือนก.ค. 52 ว่า GDP จะหดตัวร้อยละ 3.0-4.5 ต่อปีจากเดิม ณ เดือน เม.ย. 52 คาดว่าหดตัวร้อยละ 1.5-3.5 ต่อปี ขณะที่ ปรับเพิ่ม GDP ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 3.0-5.0 ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 1.5-3.5 ต่อปี เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ GDP จะกลับเป็นบวกในไตรมาส 4 ปี 52 จากการส่งออกที่หดตัวน้อยลง อย่างไรก็ตาม ธปท. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการที่ภาครัฐไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย
  • สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิถุนายน 2552 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ขณะที่ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง (Stimulus package 2) น่าจะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายลงสู่เศรษฐกิจจริงได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 52 ซึ่งอาจจะส่งผลในเชิงบวกให้เศรษฐกิจในปี 52 ไม่หดตัวมากเท่าที่คาดไว้ นอกจากนั้น ปัจจัยเชิงเทคนิคจากฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 51 ที่อยู่ในระดับต่ำมาก จึงน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 52 ขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
2. เร่งสินเชื่อ แก้บาทแข็ง ชะลอกู้นอก
  • การประชุมทีมเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมาตรการชุดใหม่ เพื่อเร่งสินเชื่อ แก้เงินบาทที่แข็งค่า และเพื่อชะลอการกู้เงินจากต่างประเทศ โดยนโยบายรัฐบาลจะเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1. การออกมาตรการนโยบายการคลังด้วยการออกประกาศลดพิกัดภาษีการนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักรเพื่อการลงทุน 2. ขอให้กระทรวงการคลังปรับลดแผนการกู้ยืมในต่างประเทศแล้วมากู้ยืมเงินในประเทศแทนเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท 3. ให้สถาบันการเงินรัฐปล่อยกู้ในภาคต่างๆ เพื่อช่วยภาคธุรกิจที่ต้องการใช้เงินไปลงทุนหรือหมุนเวียนในธุรกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากช่วงต้นปี 2552 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.15 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก โดยที่การส่งเสริมการนำเข้าจากการลดพิกัดทางภาษีและการกระตุ้นการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินรัฐจะเป็นการช่วยสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศ ขณะที่ การปรับลดแผนการกู้เงินจากต่างประเทศของภาครัฐ จะชะลอการกู้เงินที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อทำให้ลดแรงกดดันของค่าเงินบาทอีกทาง ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 2552 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 34 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกจะติดลบร้อยละ -20.2 ต่อปี
3. GDP เกาหลีใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 52 ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ประกาศตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 52 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี จากช่วงไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี โดยได้รับผลบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะสาขาการก่อสร้างและสาขาบริการ ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 และ 0.3 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 และ -0.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านอุปสงค์ พบว่าการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน หดตัวลดลงที่ร้อยละ -4.3 และ -1.1 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -14.1 และ -4.4 ต่อปี ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP เกาหลีใต้ไตรมาส 2 ปี 52 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -2.5 ต่อปีนั้น เมื่อเปรียบเทียบต่อไตรมาส (QoQ) แล้ว พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อไตรมาส โดยได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ออกมาในช่วงปลายเดือนมี.ค. 52 ประกอบกับเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ในปี 52 จะหดตัวที่ร้อยละ -3.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ -4.0 ถึง -3.5 ต่อปี)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ