รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 18, 2009 11:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ส.ค. 2552

SUMMARY:

1. ก.คลังคาดสัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงเหลือร้อยละ 57 ต่อจีดีพี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

2. ธปท. ชี้แจงการเข้าดูแลรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

3. ส.อ.ท.คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในช่วงปลายปี 52

HIGHLIGHT:
1. ก.คลังคาดสัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงเหลือร้อยละ 57 ต่อจีดีพี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
  • รัฐมนตรีฯ ก.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะประชุมแผนการบริหารหนี้สาธารณะปี 2553 หลังจากรัฐบาลกู้เงินจากแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจทำให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 61 ต่อจีดีพี โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดว่าภาระหนี้สาธารณะน่าจะลดลงเหลือร้อยละ 57 ต่อจีดีพี เนื่องจากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายตัวมีสัญญาณดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในเดือน พ.ค. 52 หนี้สาธารณะมีจำนวนทั้งสิ้น 3,834.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.4 ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 35.1 พันล้านบาท จากการลงทุนภายใต้มาตรการไทยเข้มแข็ง 2552-2555 หรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ซึ่งจะส่งผลให้คาดว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ทั้งปี 52 จะอยู่ที่ร้อยละ 47.0 ต่อจีดีพี และจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 60.8 ต่อจีดีพี ในปี 56 อย่างไรก็ตาม การลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข็ง น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงดังกล่าวขยายตัวได้ดีขึ้นประมาณร้อยละ 1.3 จากกรณีฐาน ซึ่งน่าจะช่วยทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับตัวลดลงเหลือประมาณร้อยละ 57 ตามที่ สบน. กล่าวได้
2. ธปท. ชี้แจงการเข้าดูแลรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท
  • จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 36.12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มาแข็งค่าสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ระดับ 33.90 บาท / ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 52 โดยผู้ส่งออกได้เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ดำเนินนโยบายบาทอ่อน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ธปท. รายงานว่าได้มีการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ ด้วยการเช้าซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างความต้องการดอลลาร์สหรัฐฯในระบบ ทั้งนี้ ธปท. ชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อธปท.มากนัก เพราะเป็นการสร้างต้นทุนค่อนข้างมหาศาลที่ ธปท. จะต้องแบกรับ โดยล่าสุดมีต้นทุนจากการออกพันธบัตรอันเป็นผลจากการซื้อดอลลาร์สหรัฐฯไปแล้วกว่า 2.8 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านนับจากต้นปี 52 จะพบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (Price Competitiveness) ของสินค้าส่งออกไทยลดลง โดยเมื่อพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) พบว่าแข็งค่ากว่าคู่ค้าหลักประมาณร้อยละ 1.9 นับจากต้นปี นอกจากนั้นการใช้นโยบายบาทอ่อนนั้น จะทำให้รายได้รูปเงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนให้ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง และ/หรือผู้ส่งออกที่ใช้แรงงานในประเทศสูง ซึ่งมักเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) ได้ประโยชน์ ทั้งนี้ ในส่วนของต้นทุนการเข้าดูดซับสภาพคล่องจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น ธปท. สามารถลดต้นทุนดังกล่าวได้โดยการลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับพันธบัตร ธปท. ที่ใช้ในการดูดซับสภาพคล่อง รวมถึงนำเงินสำรองที่ได้จากการแทรกแซงไปลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของ ธปท. ได้
3. ส.อ.ท.คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในช่วงปลายปี 52
  • รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงทิศทางการลงทุนของไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ถึงไตรมาสที่ 4 ปี52 เศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตในเกณฑ์ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร มียอดคำสั่งซื้อกลับมามากกว่าร้อยละ 65 และมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ก่อนอุตสาหกรรมอื่นๆ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยคาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในช่วงไตรมาสแรก ปี 52 ที่หดตัวรุนแรงมากสุดที่ร้อยละ -7.1 ต่อปี และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นและสามารถกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 52 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 2 ปี 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ