รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 30 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 8, 2009 11:05 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้
สรุป

1. ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญเดือน ต.ค. 52 ที่ประกาศในสัปดาห์นี้

1.1 ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างเป็นทางการแล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ต.ค.52 ลดลงร้อยละ 2.2 ลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 8 เดือนแล้ว

1.2 อัตราการว่างงานลดลงเหลือร้อยละ 5.3 ลดลงติดต่อกัน 3 เดือนแล้ว

2. ผลประกอบการของ Japan Finance Corporation ขาดทุนถึง 576.2 พันล้านเยน เป็นผลจากการดำเนินตามนโยบายรัฐบาลเพื่อช่วย SMEs

3. BOJ อัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมเข้าสู่ตลาดการเงิน 10 ล้านล้านเยน เพื่อป้องกันเศรษฐกิจถดถอยอีก

----------------------------------- 1. ดัชนีเศรษฐกิจที่ประกาศในสัปดาห์นี้

1.1 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price Index)

กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือน ต.ค.52 ลดลงร้อยละ 2.2 อยู่ที่ 100.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าดัชนีราคาผู้บริโภคได้ลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 8 เดือนแล้ว เนื่องจากราคาอาหารและเสื้อผ้าลดลง ราคาเสื้อผ้า ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์และราคาน้ำมันลดลงร้อยละ 1.4, 52.4 และ 19.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว

1.2 อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate)

อัตราการว่างงานในเดือนต.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 เทียบกับร้อยละ 5.3 ในเดือน ก.ย.52 ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน

2. ผลประกอบการของ Japan Finance Corporation ขาดทุนถึง 576.2 พันล้านเยน

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 Japan Finance Corporation (JFC) ได้ประกาศผลประกอบการ ณ เดือนกันยายน 2552 ว่าขาดทุนรวมเป็นจำนวนทั้งหมด 576.2 พันล้านเยน ซึ่งตัวเลขการขาดทุนส่วนใหญ่เกิดจากส่วนงาน Japan Finance Corporation Small and Medium Enterprise (SME) Unit ที่มีจำนวนการขาดทุนเท่ากับ 526.6 พันล้านเยน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้บริษัท SMEs ขาดทุนและล้มละลายเป็นจำนวนมาก จนทำให้บรรษัทประกันสินเชื่อ (Credit Guarantee Corporations (CGC)) ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ JFC ต้องจ่ายเงินประกันให้แก่สถาบันการเงินเอกชน เป็นจำนวนถึง 429.4 พันล้านเยน และต้อง เตรียมวงเงินสำรองจ่ายค่าประกันเพิ่มอีก 237 พันล้านเยน ซึ่งผลประกอบการของ JFC เมื่อเดือนมีนาคม 2552 นั้นมีจำนวนขาดทุน 655.4 พันล้านเยน มีผลมาจากการใช้นโยบายรับมือวิกฤตการเงินของรัฐบาล จนทำให้มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

3. BOJ อัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมเข้าสู่ตลาดการเงิน 10 ล้านล้านเยน

BOJ ได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายพิเศษ โดยอัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมเข้าสู่ตลาดการเงิน 10 ล้านล้านเยน โดยมีกำหนดเวลา 3 เดือน และเพื่อให้ดอกเบี้ยกู้ระหว่างธนาคารให้อยู่ที่ร้อยละ 0.1 เนื่องจากค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นและราคาหุ้นตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับสู่ภาวะถดถอยอีก

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ