สถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 4, 2013 14:59 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เมื่อวันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2555 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รายงาน "สถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555" ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2555 ที่มอบหมายให้สำนักงานฯ ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นประจำทุกเดือน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.4 และร้อยละ 4.4 ในสองไตรมาสแรก ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุน ในด้านการผลิต การขยายตัวมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิตนอกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสาขาเกษตร การก่อสร้าง การค้าส่งค้าปลีก โรงแรมและภัตตาคาร ที่ขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม การส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว รวม 9 เดือนแรกของปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้ว ผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศในไตรมาสสามขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสสอง

ในเดือนตุลาคม 2555 เศรษฐกิจไทยแสดงสัญญาณของการฟื้นตัวจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน ซึ่งจะเห็นได้จากการขยายตัวของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ได้แก่ ดัชนีผลผลิตการเกษตร ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และเมื่อรวมกับฐานที่ต่ำทำให้เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในเกณฑ์สูง ทั้งในด้านการใช้จ่ายและในด้านการผลิต โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1 การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวเร่งขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.2 ในไตรมาสสาม โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนตุลาคมที่ปรับตัวดีขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 68.1 จากระดับ 67.5 ในเดือนก่อนหน้า รวม 10 เดือนแรกของปี 2555 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.8

1.2 การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวเร่งขึ้น ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 16.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 14.3 ในไตรมาสสาม โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวตามการนำเข้าเครื่องจักรในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนความเสียหายจากอุทกภัยที่ยังเหลืออยู่บางส่วน รวมทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวตามการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมเป็นสำคัญ รวม 10 เดือนแรกของปี 2555 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 12.4

1.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 14.4 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสสาม การส่งออกสินค้าหลักๆ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยานยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 29.2 ร้อยละ 39.2 ร้อยละ 41.6 ร้อยละ 23.2 และ 25.0 ตามลำดับ โดยส่วนหนึ่งเป็นการขยายตัวจากฐานการส่งออกที่ต่ำจากปัญหาอุทกภัยในปีก่อนหน้า รวม 10 เดือนแรกของปี 2555 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4

ตลาดส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ ตลาดสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 17.0) สหภาพยุโรป (ร้อยละ 9.6) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 10.2) ฮ่องกง (ร้อยละ 55.9) อินเดีย (ร้อยละ 37.7) และตลาดอาเซียน (ร้อยละ 14.0)

1.4 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 36.1 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 10.2 ในไตรมาสสาม สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65.5 ในไตรมาสสามเป็นร้อยละ 67.9 ในเดือนตุลาคม เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และฐานที่ต่ำจากผลกระทบจากอุทกภัย ในปีก่อนเป็นสำคัญ รวม 10 เดือนแรกของปี 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 3.6 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยร้อยละ 64.5

1.5 ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเร่งขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนพฤศจิกายน 2555 มีจำนวน 2.1 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 60.6 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในไตรมาสสาม โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน มาเลเซีย รัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวม 11 เดือนแรกของปี 2555 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 19.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 13.6

1.6 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 3.3 ในเดือนตุลาคม 2555 ตามการลดลงของราคาอาหารและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยในเดือนตุลาคม 2555 มีจำนวนผู้ว่างงาน 2.2 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงาน สถานการณ์ตึงตัวของแรงงานผ่อนคลายมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนของตำแหน่งงานว่างต่อผู้สมัครงานใหม่ลดลงจากร้อยละ 1.4 ในเดือนกันยายน เป็นร้อยละ 0.9 ในเดือนตุลาคม

1.7 การเบิกจ่ายงบประมาณสองเดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 จำนวน 562,159.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อย 23.4 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด (2.4 ล้านล้านบาท) และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 95.1 พร้อมทั้งได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ สะสม ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2555 คิดเป็นร้อยละ 91.6 ร้อยละ 27.4 และร้อยละ 16.1 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ตามลำดับ

2.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสาม และต้นไตรมาสสี่ ปี 2555

เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสามชะลอตัวลงอย่างชัดเจนโดยได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวตามลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศเศรษฐกิจสำคัญๆ ต่างดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปมีความคืบหน้าไปมาก รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการแก้ปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐอเมริกาที่ลดลง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นและสถานการณ์ของเศรษฐกิจของประเทศสำคัญฟื้นตัวอย่างช้าๆ

2.1 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 2.6 สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจในต้นไตรมาสที่ 4 มีความชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบายขยายปริมาณเงินเพิ่มเติม (QE4) ส่งผลให้มาตรการ QE ในปัจจุบันมีมูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อเดือน โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปจนกระทั่งอัตราการว่างงานลดลงต่ำกว่าร้อยละ 6.5

2.2 เศรษฐกิจประเทศยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว แต่แนวทางการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจมี ความชัดเจนมากขึ้น เช่นเดียวกับแนวทางในการจัดตั้งกลไกกำกับสถาบันการเงิน (Banking Union)

2.3 เศรษฐกิจญี่ปุ่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 และธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายขยายปริมาณเงินเพิ่มเติมอีก

2.4 เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 13 ไตรมาสอันเป็นผลจากการชะลอตัวของ การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เริ่มส่งสัญญาณของการฟื้นตัวที่ชัดเจน ในขณะที่รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายควบคู่กับนโยบายการคลังมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

3. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

3.1 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 การฟื้นตัวจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกและฐานที่ต่ำ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายขยายตัวสูง และจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ในขณะที่บัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.8 ของ GDP

3.2 แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 2556 จากความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐอเมริกาเมื่อรวมกับการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 คาดว่าจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนมากขึ้นในครึ่งแรกของปี 2556 และจะขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 1.0 และร้อยละ 8.3 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 0.4 ในปี 2555 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว เมื่อรวมกับมาตรการขยายปริมาณเงิน อย่างต่อเนื่องของประเทศสำคัญๆ ในปี 2555 คาดว่าจะสร้างแรงกดดันด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2556

3.3 แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2556 คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 - 5.5 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 12.2 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของการค้าสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัว ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรระมัดระวัง ได้แก่ ข้อจำกัดในการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง และสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์จากการเก็งกำไรในช่วงเศรษฐกิจโลก ฟื้นตัวและสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง

4.ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2555 และในปี 2556 ควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้

4.1 เร่งรัดการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดที่มูลค่าการส่งออกในปี 2555 ปรับตัวลดลงมาก รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีในตลาดส่งออกที่มีความสำคัญ

4.2 เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนสำคัญๆ ของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการเร่งรัดแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

4.3 ติดตามและเตรียมการเพื่อรองรับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท โดย (1) การเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้กับภาคการผลิตและส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่มีสัดส่วนของต้นทุนค่าแรงสูงและมีรายรับเป็นเงินตราต่างประเทศ (2) การสร้างโอกาสจากการแข็งค่าของเงินบาท อาทิ การส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ (TDI) การส่งเสริมการลงทุนในเครื่องจักรของภาคการผลิต และการเร่งรัดการนำเข้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และ (3) การดำเนินนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท เศรษฐกิจในประเทศที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของนโยบายการเงิน

4.4 ดำเนินการปรับโครงสร้างราคาพลังงานตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

4.5 การปรับกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนเพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า การเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน ภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ได้อย่างเต็มที่

5.คณะรัฐมนตรีได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 และเห็นชอบเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของรัฐบาลในปี 2556 ดังนี้

-อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.5

-มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 9.0

-อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.0

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ