สศข.1 ร่วมพัฒนากาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูง จับมือทุกหน่วยดันประสิทธิภาพการผลิตสู่สากล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 22, 2014 14:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.1 ร่วมหารือแนวทางการวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูง แนะ เกษตรกรให้ความพิถีพิถันในการเก็บเกี่ยว และการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ พร้อมร่วมทุกภาคี ก้าวสู่พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้า หวังสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตและการตลาดทั้งระดับประเทศและนานาชาติ

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเขต 1 (สศข.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูง” ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการริเริ่มของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เพื่อรับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดกาแฟอราบิก้าทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้า รวมไปถึงแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลผลิตกาแฟอราบิก้าในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการขยายผลโครงการหลวง ตลอดจนความเชื่อมโยงของการดำเนินงานวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูง รวมไปถึงการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตและการตลาดทั้งระดับประเทศและนานาชาติต่อไป

การประชุมดังกล่าวได้เน้นหารือร่วมโดยให้ความสำคัญกับพันธุ์กาแฟ ระบบการปลูก การดูแลรักษา และลักษณะพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เช่น ควรปลูกกาแฟไร่ละประมาณ 600 ต้น ที่ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 1,200 เมตร เพราะสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ของกาแฟได้ รวมถึงด้านการผลิตกาแฟเมล็ด การคั่ว คุณภาพ การควบคุมคุณภาพและการตลาด ซึ่งปัญหาที่พบคือ เกษตรกรยังขาดความพิถีพิถันในการเก็บเกี่ยว ไม่ให้ความสำคัญกับการคัดแยกผลสุกและผลอ่อน รวมทั้งขาดการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปเพาะปลูก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการผลิตกาแฟ

ทั้งนี้ ในปี 2556 ไทยได้นำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟชนิดต่าง ๆ ปริมาณ 40,715.48 ตัน มูลค่า 4,280.69 ล้านบาท ในขณะที่สามารถผลิตเองได้เพียง 37,460 ตัน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นผลผลิตในพื้นที่ภาคเหนือ 7,792 ตัน จึงแสดงให้เห็นว่าผลผลิตกาแฟภายในประเทศยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค ดังนั้น การร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกกาแฟอราบิก้า จะเป็นผลดีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดต่อไปในอนาคตด้วย นายอนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ