สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 5, 2019 15:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่(นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง(8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565

(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์ การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,552 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,532 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.13

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,683 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,718 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,850 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 33,650 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.59

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,300 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.44

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,504 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,139 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,857 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.84 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 647 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,855 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,700 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.20 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 155 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,610 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,486 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.98 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 124 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,855 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,792 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 63 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.6068

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวขาว 5% ทั่วโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากสต็อกข้าวทั่วโลกเพิ่มจาก 100 ล้านตัน เป็น 170 ล้านตัน ภายในไม่กี่ปี และจีนจากเดิมที่เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกกลับมาเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่รองจากอินเดีย ไทย เวียดนาม และปากีสถาน ที่สำคัญจีนยังดัมพ์ราคาข้าวขาวมาอยู่ที่ตันละ 300 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าไทยประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ข้าวไทยในตลาดแอฟริกาถูกข้าวจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดไปจำนวนหนึ่ง “จากการสอบถามผู้ส่งออกข้าวพบว่า ผู้ส่งออกไทยจำนวนมากยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่ๆ เข้ามา ยกเว้นคำสั่งซื้อเก่าที่เคยสั่งมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา ส่วนหนึ่งมาจากข้าวจีนราคาต่ำเข้ามาตีตลาด คาดว่าในปีนี้จีนจะสามารถส่งออกข้าวได้ 3 ล้านตัน และคาดว่าในอนาคตอาจมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของทุกๆ ประเทศ ประกอบกับค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าต่อเนื่องมากกว่าคู่แข่งทุกประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกตั้งราคาข้าวในระดับต่ำเพื่อแข่งขันลำบาก”

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบราคาข้าวเปลือกเจ้า (ข้าวขาว) ของประเทศต่างๆ พบว่า ข้าวเปลือกไทยอยู่ที่ตันละ 7,800 บาท เวียดนามตันละ 5,970 บาท สหรัฐราคาสูงสุดตันละ 8,100 บาท อินเดียตันละ 7,270 บาท และกัมพูชาตันละ 6,700 บาท

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ข้าวขาวกับข้าวหอมมะลิต่างกันมากคือ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของไทยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง ขณะที่ข้าวขาว 5%

ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางซึ่งเป็นภาคที่มีระบบชลประทานเข้าถึงพื้นที่เกษตรได้มาก

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ผลักดันส่งออกข้าวในไทย โดยการเร่งรัดให้จีนเข้ามารับซื้อตามสัญญารัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 1 ล้านตัน ให้ครบตามสัญญาจากก่อนหน้านี้ที่จีนรับข้าวไทยไปแล้ว 700,000 ตัน และเหลืออีก 300,000 ตัน ที่รัฐบาลจีนเว้นช่วงในการรับสินค้าไปนานมาก อย่างไรก็ตาม ในอนาคตยอดการส่งออกข้าวไทยอาจไม่สูงมากนัก เพราะในส่วนของการส่งออกข้าวจีทูจีอาจลดลง และอาจเปลี่ยนเป็นการส่งออกข้าวแบบจีทูพี หรือรัฐกับเอกชนแทน

ขณะเดียวกันประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของเอเชียบางประเทศเริ่มเปลี่ยนวิธีการนำเข้าจากเดิม โดยอาจจัดสรรเป็นโควตานำเข้าข้าวจากแต่ละประเทศ แต่ปัจจุบันหลายประเทศเพิ่มโอกาสให้เอกชนนำเข้าเสรีมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เวียดนามจะได้เปรียบประเทศไทยที่ตั้งราคาข้าวต่ำ และค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่า

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

อินโดนีเซีย

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า สภาพแห้งแล้งแบบถาวรมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก ข้าวหลายแห่งในอินโดนีเซีย

กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่มากกว่า 125,000 ไร่ ขณะที่เจ้าหน้าที่การเกษตรตั้งข้อสังเกตว่า ภัยแล้งอาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรโดยรวม รุนแรงมาก ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งกำลังเพิ่มขึ้นและอาจสูงถึง 1.25 ล้านไร่ ขณะที่พื้นที่เสียหายอาจเพิ่มเป็น 250,000 ไร่ ไปจนถึงช่วงสิ้นสุดฤดูแล้งในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งนักพยากรณ์อากาศเตือนว่าอินโดนีเซียอาจได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญแบบอ่อน (weak El Nino) ไปจนถึงช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งต่อพื้นที่นาข้าว เช่น การทำฝนเทียม การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อภาวะแห้งแล้ง รวมถึงการป้องกันไฟป่า

ด้านโฆษกหน่วยงานด้านภัยพิบัติแห่งชาติระบุว่า หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยาและ กองทัพอากาศจะร่วมมือกันสร้างฝนเทียมเพื่อบรรเทาความแห้งแล้งต่อไป

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ประกาศว่า รัฐบาลจะระงับการนำเข้าข้าวในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรที่กำลังเก็บเกี่ยวข้าว โดยเขาจะให้ความสำคัญกับการจัดหาข้าวเปลือกในประเทศมากกว่าการนำเข้าทั้งนี้ การประกาศของประธานาธิบดีเป็นไปตามข้อร้องเรียนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในประเทศเกี่ยวกับการลดลงของราคาข้าวเปลือกในขณะนี้ ซึ่งราคาข้าวเปลือกลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12-14 เปโซต่อกิโลกรัม (ประมาณ 234-274 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งลดลงจากระดับ 20 เปโซต่อกิโลกรัม (ประมาณ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

สำนักงานศุลกากรฟิลิปปินส์ (The Philippines Bureau of Customs; BoC) รายงานว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการนำเข้าข้าวโดยเสรี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายใหม่ (the Rice Liberalization Act) ที่มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 สามารถจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวได้แล้วประมาณ 6.479 พันล้านเปโซ หรือประมาณ 127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1.4 พันล้านเปโซ หรือประมาณ 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ จำนวนภาษีที่เก็บได้คิดเป็นร้อยละ 60 ของเป้าหมาย 10 ล้านเปโซ (ประมาณ 196 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเป็นเงินทุนที่จะนำไปใช้ในกองทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านข้าวของประเทศ (the Rice Competitiveness Enhancement Fund; RCEF) นอกจากนี้ ยังมีภาษีที่องค์การอาหารแห่งชาติ (the National Food Authority; NFA) เก็บจากผู้นำเข้าข้าวที่ NFA จัดสรรโควตาให้เอกชนนำเข้า (ในระบบ MAV ตามกฎหมายเดิม) ที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีกประมาณ 3.103 พันล้านเปโซ หรือประมาณ 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทางด้านสมาพันธ์สมาคมธัญพืช (the Philippine Confederation of Grains Associations; PCGA)ของฟิลิปปินส์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น สำหรับการตรวจสอบการนำเข้าภายใต้ พระราชบัญญัติการเปิดเสรีข้าว (the Rice Liberalization Act)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Agency; PSA) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม 2562 ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาข้าวสารมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (ราคาข้าวเคยพุ่งสูงขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน 2561) โดยราคาข้าวเปลือกเฉลี่ย (The average farm-gate paddy price) อยู่ที่ 17.87 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 350.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 17.78 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 347.68 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงประมาณร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารเกรดดี (The average wholesale price of the well-milled rice) อยู่ที่ 39.08 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 766.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงจาก 39.26 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 766.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน จากช่วงสัปดาห์ก่อน และลดลงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนราคาขายปลีกข้าวสารเกรดดี (The average retail price of the well-milled rice) อยู่ที่ระดับ 42.88 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 841.08 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 42.77 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 836.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนราคาขายส่งข้าวสารเกรดธรรมดา (The average wholesale price of the regular-milled rice) อยู่ที่ 35.31 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 692.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงจาก 35.34 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 691.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในช่วงสัปดาห์ก่อน และลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และราคาขายปลีกข้าวสารเกรดธรรมดา (The average retail price of the regular-milled rice) อยู่ที่ 38.4 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 753.21 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 38.45 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 751.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน จากช่วงสัปดาห์ก่อน และลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ