‘วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่’ จ.เพชรบูรณ์ ต้นแบบการรวมกลุ่ม ‘ปลูกมะขามเปรี้ยว’ สร้างกำไรปีละ 32.2 ล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 22, 2022 13:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ?มะขามเปรี้ยว? เป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นผลไม้เขตร้อนที่เติบโตได้ดีในบริเวณพื้นที่ราบจนถึงบนภูเขาสูง สามารถปลูกได้ในทุกสภาพดิน แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นดินร่วนปนทราย เพราะระบายน้ำได้ดี มะขามเปรี้ยวเป็นพืชทนแล้ง ให้ผลผลิตดก ผลผลิตสามารถขายได้ทั้งฝักดิบและสุก รวมทั้งนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุ อาทิ มะขามแช่อิ่ม มะขามคลุกน้ำตาล มะขามคลุกพริกเกลือ และมะขามกวน

จังหวัดเพชรบูรณ์ นับเป็นแหล่งปลูกมะขามเปรี้ยวที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะดิน และสภาพอากาศเหมาะแก่การเจริญเติบโต ประกอบกับเกษตรกรในพื้นที่มีความชำนาญในการปลูกมะขามมายาวนานซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ (ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565) พบว่า ปี 2564 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ปลูกมะขามเปรี้ยว จำนวน 5,901 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก จำนวน 887 ราย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอหล่มเก่า อำเภอเมือง อำเภอหนองไผ่ และอำเภอวังโป่ง เกษตรกรนิยมปลูกมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์พันธุ์กระดาน เนื่องจากให้ผลผลิตมาก ผลค่อนข้างใหญ่ อัตราการให้เนื้อมะขามสูง

จากการลงพื้นที่ของ สศท.12 เพื่อติดตามสถานการณ์ผลิตมะขามเปรี้ยวในอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการรวมกลุ่มผลิต ซึ่ง 1 ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่ ตำบลวังวาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ปี 2563 โดยมีนางไพรัตร โสภาบุญ เป็นประธานกลุ่ม เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันมีสมาชิก 65 ราย เนื้อที่ปลูก 1,012 ไร่ สำหรับการผลิตมะขามเปรี้ยวของกลุ่มมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 12,769 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 30 ปี) เกษตรกรนิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน) เนื่องจากต้นมะขามที่ยังเล็กจะได้รับน้ำฝน สามารถตั้งตัวได้ดีก่อนจะเข้าถึงฤดูแล้ง และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม ? พฤศจิกายน ของทุกปี ให้ผลผลิตรวม 3,013 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 2,977 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 44,655 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 31,886 บาท/ไร่/ปี ทั้งนี้ หากคิดเป็นผลตอบแทนของทั้งกลุ่มจะได้กำไร 32.2 ล้านบาท/ปี

ด้านการจำหน่ายผลผลิตมะขามเปรี้ยวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่ ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 จำหน่ายในรูปแบบมะขามเปรี้ยวฝักดิบ ในราคาเฉลี่ย 15 บาท/กิโลกรัม (ราคา ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) โดยส่งจำหน่ายร้านค้าของสมาชิกกลุ่มเพื่อแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่ม รองลงมาร้อยละ 20 จำหน่ายในรูปแบบมะขามฝักสุก (ขายทั้งฝักเหมือนมะขามหวานไม่แกะเม็ด) ในราคาเฉลี่ย 23 บาท/กิโลกรัม (ราคา ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) โดยมีพ่อค้าเป็นผู้รวบรวมเพื่อส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และที่เหลืออีกร้อยละ 10 แปรรูปเป็นมะขามเปียก มะขามจี๊ดจ๊าด มะขามคลุกน้ำตาล มะขามคลุกบ๊วย และมะขามหยีปรุงรสต่าง ๆ จำหน่ายทั้งปลีกและส่งที่ร้านค้ากลุ่มและร้านขายของฝากในจังหวัด นอกจากนี้ มีจำหน่ายออนไลน์ Facebook ภายใต้แบรนด์ ?ภูขาม มะขามหล่มเก่า?และ ?มะขามแช่อิ่มสด ปูรณ์กับปัน?

?กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่ ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้ปลูกมะขามเปรี้ยวในจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังมีความต้องการให้หน่วยงานภาครัฐ ส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยี ในการผลิต เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว การแปรรูป การจัดเก็บรักษา และความรู้ด้านตลาด ทั้งนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังหนอนในช่วงที่ผลผลิตออกดอกในเดือนเมษายน - พฤษภาคม ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญในการปลูกมะขามเปรี้ยว อาจทำลายให้ผลผลิตเสียหายได้ หากเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดมะขามเปรี้ยว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ นางไพรัตร โสภาบุญ ประธานวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่ ตำบลวังวาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือโทร 08 9960 2052 ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่ทุกท่าน? ผู้อำนวยการ สศท.12 กล่าวทิ้งท้าย

************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ