สศก. จับมือ กฟภ. MOU แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเกษตรและการใช้ไฟฟ้า ผสานความร่วมมือ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และพื้นที่ทำการเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 9, 2022 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. จับมือ กฟภ. MOU แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเกษตรและการใช้ไฟฟ้าผสานความร่วมมือ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และพื้นที่ทำการเกษตร

วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2565) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเกษตรและการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเกษตรจากฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) ของ สศก. และข้อมูลด้านการใช้ไฟฟ้าของ กฟภ. สำหรับใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบในงานเชิงนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร โดยมี นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการเกษตร และ นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า ลงนามในฐานะพยาน โดยมีการเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting

โอกาสนี้ นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึงความร่วมมือกันในครั้งนี้ว่า สศก. ในฐานะศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรประเทศ ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลด้านเกษตรกรขนาดใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยฐานข้อมูล Farmer ONE นี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ มี สศก. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาฐานข้อมูล รวบรวม และเชื่อมโยงข้อมูล ทั้งจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมหม่อนไหม กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมถึงมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีการเชื่อมโยงและพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าว

ความร่วมมือภายใต้ MOU กับ กฟภ. ในครั้งนี้ สศก. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อมั่นว่า จะเกิดประโยชน์ต่อภาคเกษตรและกับหน่วยงานทั้งสองฝ่าย โดย กฟภ. สามารถนำข้อมูลด้านการเกษตรจากฐานข้อมูล Farmer ONE เช่น จำนวนเกษตรกร จำนวนแปลงทำกิน ประเภทเอกสารสิทธิ์ และการใช้ประโยชน์ในที่ดินจำแนกตามรายอำเภอและจังหวัด ไปใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินการในโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้ง สศก. ยังสามารถนำข้อมูลการใช้ไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เช่น ข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการหรือแผนงานขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ในแต่ละพื้นที่ อำเภอ และจังหวัด มาประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลในงานเชิงนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า กฟภ. หรือ PEA เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน มีภารกิจหลักในการจัดหาให้บริการพลังงานไฟฟ้า และดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจ ทั้งด้านคุณภาพและบริการ มีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ด้วยสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่การให้บริการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมทั้ง 74 จังหวัด ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชนบท อีกทั้งการประกอบอาชีพส่วนใหญ่ คือ ทำการเกษตร ซึ่งไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท การขยายเขตไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่การเกษตร จึงเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานในการประกอบอาชีพ และยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่

ที่ผ่านมา กฟภ. มีความมุ่งมั่นที่จะขยายเขตไฟฟ้าให้ประชาชนทุกคนได้มีไฟฟ้าใช้ ทั้งการใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน รวมไปถึงในภาคการเกษตร โดยได้ดำเนินโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตรเพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ทำกินทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ข้อมูล Farmer ONE ของ สศก. จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการวางแผนการดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ทั้งนี้ การจับมือร่วมกันระหว่าง สศก. และ กฟภ. นับเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นในภารกิจร่วมกัน โดย กฟภ. พร้อมที่จะร่วมมือกับ สศก. อย่างเต็มที่ ร่วมกันพัฒนา ขับเคลื่อน และต่อยอดความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพร่วมกันในอนาคต

******************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ