สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 4, 2024 15:50 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 26 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดเดือนมีนาคม 2567 ปริมาณ 0.045 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.17 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2567 อีก 0.070 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 6.88 ร้อยละ 8.19 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนมีนาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 2.037 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 32.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ผลผลิต จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็น ร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ? 31 มีนาคท 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,277 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,255 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.16

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,806 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,891 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,850 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 20,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.96

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 870 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,025 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 872 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,149 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 124 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 625 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,288 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตัน 618 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,076 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.13 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 212 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 623 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,217 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 624 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,290 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.16 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 73 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.6614 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 เวียดนาม-อินเดีย

เวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสามของโลก นำเข้าข้าวกล้องจากอินเดียเฉลี่ยเดือนละ 70,000 ตัน เพื่อแปรรูปส่งออกเป็นข้าวขาว ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 นำเข้าข้าวกล้องแล้วประมาณ 200,000 ตัน ทั้งนี้ เวียดนามได้รับคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากหลังจากที่อินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ส่งผลให้การส่งออกข้าวของเวียดนามในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ปริมาณ 8.3 ล้านตัน

ด้านผู้ส่งออกในเมืองโกลกาตาของอินเดียกล่าวว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ข้าวในสต็อกเริ่มลดลง ประกอบกับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงนี้มีปริมาณไม่เพียงพอสำหรับการเดินเครื่องจักรเพื่อสีแปรสภาพข้าว ส่งผลให้ผู้ค้าข้าวของเวียดนามบางรายต้องนำเข้าข้าวกล้องจากอินเดียมาแปรรูปเป็นข้าวขาว โดยราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.ข้าวกล้องอินเดีย ตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 17,830.70 บาท) ขณะที่ผู้ค้าเวียดนามสามารถส่งออกข้าวขาวได้ราคาสูงกว่าที่ตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 21,396.84 บาท) อย่างไรก็ตามผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ของเวียดนามกำลังทยอยออกสู่ตลาด และคาดว่าราคาข้าวของเวียดนามยังคงสูงกว่าราคาข้าวของอินเดีย

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.6614 บาท

2.2 อินโดนีเซีย

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลและควบคุมปริมาณและราคาข้าวของอินโดนีเซีย (BULOG) ได้ออกประกาศการประมูลข้าวระหว่างประเทศเพื่อซื้อข้าวขาว 5% จากปีการเพาะปลูก 2566/67 จำนวน 300,000 ตัน ซึ่งเป็นข้าวที่ผ่านการสีแปรสภาพไม่เกิน 6 เดือน บรรจุถุง ขนส่งโดยเรือเดินสมุทร และเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอข้อเสนอในแต่ละรายการตั้งแต่ 30,000 - 32,500 ตัน กำหนดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมประกวดราคาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และสามารถส่งข้อเสนอราคาเริ่มต้นภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 โดยหน่วยงาน BULOG จะเริ่มการเจรจาด้านราคา และคาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะการประมูลช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 รวมทั้งกำหนดให้มีการส่งมอบข้าวถึงอินโดนีเซียภายในวันที่ 30 เมษายน 2567

          ทั้งนี้ ในปี 2567 รัฐบาลคาดว่าจะผลิตข้าวได้ประมาณ 32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 30.9 ล้านตัน ในปี 2566 ซึ่งในช่วงนี้เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเมื่อปี 2566     ที่ทำให้เกิดภาวะฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติในหมู่เกาะชวาแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ โดยคาดว่าผลผลิตข้าวในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 จะลดลงประมาณ 2.82 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ร้านค้าขายปลีกกำหนดราคาขายข้าวสารในระดับที่สูงกว่าที่รัฐบาลกำหนด เนื่องจาก    มีความกังวลเรื่องอุปทานข้าวในตลาด

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ