สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 14:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีปริมาณการผลิต 2.49 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.73 และ 0.40 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ และภาพการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนและการผลิตออกไป

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีปริมาณการจำหน่าย 0.99 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.21 และ 13.79 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน การได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งหมดไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ทำให้ที่พักอาศัยขยายตัว ส่งผลให้อุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขยายตัวตามไปด้วย ตลอดจนมีกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งที่อยู่อาศัยและเครื่องเรือนเป็นจำนวนมาก

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 699.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.37 และ 23.26 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร และการส่งออกไปตลาดใหม่ เช่นออสเตรเลีย อินเดีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศสมาชิกอาเซียน ขยายตัวได้ดี

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 264.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 38 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.46 และ 11.54 ตามลำดับ

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 63.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 9 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.10 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.23 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3) กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปแผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 371.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 53 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ1.90 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.81 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีจำนวน 134.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 10.54 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.58การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็งได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกา สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์และมาเลเซีย และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้าจากประเทศจีนมาเลเซีย และเมียนมาร์

สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นในสถานการณ์การเมืองและสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนและการผลิตออกไป

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2553เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดโดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบนยังมีความต้องการสูงการได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐก่อนหน้า ส่งผลต่อเนื่องให้ความต้องการอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มตามไปด้วย รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งที่อยู่อาศัยและเครื่องเรือนเป็นจำนวนมาก

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สถานการณ์การเมืองภายในประเทศเริ่มคลี่คลายตลาดโดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบนยังมีศักยภาพ และผู้ประกอบการน่าจะหันมาทำการตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยลบ คือ การแข็งค่าของเงินบาท และความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร อีกทั้งตลาดรองของไทย เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศสมาชิกอาเซียน ขยายตัวได้ดี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2553คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาท และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักของไทยที่ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตลาดรองของไทย โดยเฉพาะออสเตรเลีย อินเดีย และประเทศแถบตะวันออกกลาง ยังมีศักยภาพสูง

ในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่าดังในปัจจุบัน ผู้ประกอบการควรเพิ่มการทำการตลาดภายในประเทศ และเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีต่างๆ โดยเฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า เพื่อกระจายความเสี่ยงของการส่งออก อีกทั้งควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและการตอบสนองต่อกระแสปกป้องสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ในเชิงนิเวศ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการทำตลาดเฉพาะ เช่น ตลาดของผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ