สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554 (อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 11:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 3 ปี 2554 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียมีความผันผวนอย่างมาก โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นและลดลงตลอดไตรมาส ตามความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนราคาเอทิลีนโดยเฉลี่ยของตลาดเอเชียมีการปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบและแนฟธา มีสินค้าจากตะวันออกกลางไหลเข้าสู่ภูมิภาค ขณะเดียวกันโรงงานปิโตรเคมีขั้นปลายหลายแห่งมีการปิดซ่อมบำรุง จึงทำให้กิจกรรมการซื้อขายมีน้อย

สำหรับการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP อุปทานมีการตึงตัวเพราะโรงงานหลายแห่งมีกำหนดปิดซ่อมบำรุง ตลาดมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น เพราะผู้ค้าและผู้ขึ้นรูปต่างหันมาซื้อเพื่อเพิ่มสินค้าคงคลังเตรียมพร้อมสำหรับช่วงการผลิตสูงสุดเพื่อส่งออกสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

การผลิต

ไตรมาส 3 ปี 2554 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิต Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) เป็น 180,000 ตัน/ปี เพื่อสนองตอบอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ มีแผนขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

สำหรับการผลิตในภูมิภาค ประเทศจีน เร่งดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตโพรพิลีนและพอลิโพรพิลีน (PP) แห่งใหม่ โดยใช้โพรเพนจากการแยกก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบขนาดกำลังการผลิต 650,000 ตัน/ปีรวมถึงมีแผนขยายการผลิตสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลาย โดยสร้างโรงงานผลิต PP ขนาดกำลังการผลิต 660,000ตัน/ปี ในมลฑลเจียงซู คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2557-2558 มีแผนเริ่มเปิดโรงงานผลิต PP แห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 140,000 ตัน/ปี ในมลฑลเหอหนาน ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ในขณะเดียวกัน ทางตอนใต้ของประเทศได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิต PP แห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 200,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2556 และทางตอนเหนือของประเทศ ได้ก่อตั้งโรงงาน PP แห่งใหม่ เพื่อผลิตโพรพิลีนจากเอทานอล กำลังการผลิต 460,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ปี 2554 นอกจากนี้ ได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตโอลิฟินส์จากเทานอล (Methanol-to-Olefins: MTO) 2 แห่ง แห่งแรกในมลฑลซานซี กำลังการผลิต600,000 ตัน/ปี เมทานอลที่ผลิตได้จะเป็นวัตถุดิบผลิต PE ปริมาณ 300,000 ตัน/ปี และ PP 300,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ส่วนแห่งที่ 2 จะสร้างในสวนอุตสาหกรรมเคมีหนานจิง มีกำลังการผลิตเอธิลีนและโพรพิลีน 295,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2556

  • ประเทศญี่ปุ่น ขยายกำลังการผลิตพอลิออกซิเมทิลีน (Polyoxymethylene: POM) ที่โรงงานในมาเลเซียจาก 33,000 ตัน/ปี เป็น 123,000 ตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2556 และเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสแรก ปี 2557 มีแผนลงทุนเพื่อขยายคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี โดยจะมีการก่อสร้างโรงงานใหม่ถึง 43 โรงงาน ทั้งที่เป็นขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมจาก Environmental Protection Administration (EPA) ของไตหวัน
  • ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนขยายเอธิลีนแครกเกอร์ขนาดกำลังการผลิตปัจจุบัน 600,000 ตัน/ปี เป็น 1,000,000 ตัน/ปี และโรงงานผลิต PP ขนาดกำลังการผลิตปัจจุบัน225,000 ตัน/ปี โดยสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตได้ระหว่าง HDPE และ LLDPE ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 425,000 ตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในราวปลายไตรมาสสุดท้ายของปี 2558
  • ประเทศซาอุดิอาระเบีย เตรียมเปิดโรงงานผลิต HDPE 2 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ550,000 ตัน/ปี และโรงงานผลิต PP กำลังการผลิต 400,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการในไตรมาส 4 ปี2554 นอกจากนี้เตรียมเปิดดำเนินการโรงงานผลิต LDPE กำลังการผลิต 300,000 ตัน/ปี ในช่วงกลางปี 2555

การตลาด

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2554 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก (ราคาเฉลี่ย SE Asia CIF) ในเดือนกันยายน 2554 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 48.33, 43.02 และ 49.11บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE มีระดับราคาเฉลี่ยลดลงจากปลายไตรมาสที่ผ่านมา ที่ระดับราคา 51.27บาท/กิโลกรัม ส่วน HDPE และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปลายไตรมาสที่ผ่านมา ที่ระดับราคา 42.69และ 48.82 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 3 ปี 2554 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 5,735.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ29.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 8,390.01 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ26.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 28,270.99 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 3 ปี 2554 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 14,700.77 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 16,303.53 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 65,916.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554นั้น คาดว่าอัตราการขยายตัวจะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านของปริมาณและมูลค่า รวมทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าและส่งออก และจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก ชะลอความต้องการวัตถุดิบปิโตรเคมีลง ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมปรับลดลง ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจำเป็นต้องพึ่งพิงการส่งออกเพิ่มมากขึ้น และต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ