สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม — มีนาคม 2556)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 14:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของระบบการสื่อสาร ส่งผลให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับสื่อที่มีความฉลาดมากขึ้น เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ เป็นต้น มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของโลก สำหรับภูมิภาคเอเซียสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษในอุตสาหกรรมกระดาษ และสิ่งพิมพ์ของไทยยังคงมีความสำคัญอยู่ แม้ว่า อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บางชนิดอาจอยู่ในสถานะชะลอตัว อาทิ หนังสือพิมพ์ แต่สิ่งพิมพ์บางประเภทขยายตัว เช่น หนังสือ ตำราแบบเรียน และวารสารเพื่อการศึกษาและความบันเทิง อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวและเตรียมรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเทคโนโลยีสื่อใหม่ ๆ ที่เข้ามา เช่น จอโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือ จอแท็บเลต เป็นต้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สามารถเลือกเสพข่าวสารต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

การผลิต

ในไตรมาส 1 ปี 2556 การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) โดยเยื่อกระดาษลดลงร้อยละ 0.83 เนื่องจากมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ 1 โรง ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ ใน ส่วนของกระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก ลดลงเช่นกันร้อยละ 0.52 และ 2.27 ตามลำดับ สำหรับการผลิตกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีการผลิต เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.24 และ 2.47 ตามลำดับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อ เพิ่มขึ้นเพื่อเร่งส่งมอบสินค้าซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปผลิตใน อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องรองรับความต้องการบริโภค นอกจากนี้ บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ มีการแจกปฏิทิน ไดอารี่ และของพรีเมี่ยมต่าง ๆ และเมื่อเปรียบเทียบการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษในไตรมาสนี้กับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ส่วนใหญ่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ยกเว้น กระดาษแข็ง มีการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความต้องการใช้ในภาคการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 33.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 98.07 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) เป็นผลจากการส่งออกขยายตัวไปยัง ตลาดต่าง ๆ จากการส่งมอบสินค้าต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เพื่อจัดจำหน่ายและนำไปผลิตสินค้าที่ทำจากเยื่อกระดาษตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อาทิ จีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลัก คือ จีน ซึ่งมีอิทธิพลต่อตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยเพราะมีความต้องการใช้มากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากบางช่วงจีนไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ จึงต้อง มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 394.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.31 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.49 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่สำคัญโดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และเวียดนาม มีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน เพิ่มขึ้น ซึ่งกระดาษชนิดนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกมากที่สุดเมื่อเทียบกับกระดาษชนิดอื่น ๆ สูงถึงร้อยละ 42.25 ของมูลค่าการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รองลงมาคือ กระดาษชำระ กระดาษแข็งบรรจุภัณฑ์กระดาษ (หีบ กล่อง ซองฯ) กระดาษและผลิตภัณฑ์ กระดาษอื่น ๆ และกระดาษคราฟท์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.06 15.07 11.24 10.31 และ 1.07 ตามลำดับ

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 23.25 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.43 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.61 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 81.14 นอกจากนี้ยังมี เมียนมาร์ สหราชอาณาจักร และ ฮ่องกง ที่มีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.44 38.81 และ 59.94 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 167.13 ลดลงร้อยละ 1.31 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 12.91 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน (ตารางที่ 3) สาเหตุส่วนหนึ่งของการนำเข้าลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัวในไตรมาสนี้ ประกอบกับมีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าในสินค้าที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้ อาทิ เยื่อกระดาษใยยาว และกระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ และญี่ปุ่น

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 365.90 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.31 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.70 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกระดาษแข็งมีสัดส่วนนำเข้ามากที่สุดร้อยละ 54.93 ของการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รองลงมา คือ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษอื่น ๆ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ และกระดาษหนังสือพิมพ์ มีสัดส่วนร้อยละ 16.05 15.70 8.31 และ 5.00 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากจีนจำนวนมาก มาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เนื่องจากมีราคาถูกกว่าในประเทศ และอัตราภาษีเป็นศูนย์

3. สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 52.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 9.12 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 18.57 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าหนังสือ ตำราแบบเรียน และวารสาร เพื่อการศึกษาและความบันเทิง โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสหราชอาณาจักร มีสัดส่วนร้อยละ 19.32 14.54 13.96 และ 11.94 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

โครงการต่าง ๆ รองรับกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (World Book Capital 2013) จากการคัดเลือกของยูเนสโก กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้อัตราการอ่านเพิ่มขึ้นจาก 2-5 เล่ม เป็น 15 เล่มต่อคนต่อปี ภายใต้โครงการอ่านกันสนั่นเมือง การเพิ่มพื้นที่การอ่าน และการจัดพื้นที่และจัดหนังสือในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ขยายตัวได้

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิต อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ โดยรวมของไตรมาส 1 ปี 2556 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการเร่งส่งมอบสินค้าในไตรมาสก่อนเพื่อรองรับเทศกาลปลายปี ประกอบกับกำลังซื้อในภาคธุรกิจและภาคประชาชนชะลอตัวตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น และมีการนำเข้ากระดาษบางประเภทซึ่งมีราคาสินค้าต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศเพิ่มขึ้น ในส่วนการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น เป็นผลจากผู้ประกอบการสามารถรักษาฐานการส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ เวียดนาม เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท ราคาวัตถุดิบ ตลอดจนการปรับค่าจ้างแรงงาน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2556 คาดว่าการผลิตทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม จะชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจและมีทิศทางเดียวกันกับไตรมาสที่ 1 สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษและสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการนำเข้าเยื่อกระดาษ มีแนวโน้มขยายตัวแม้ว่าจะมีการใช้สื่อดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แต่กระดาษยังคงเป็นที่ต้องการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและการออกแบบใหม่ ๆ ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ