สศอ.ชี้ช่องอุตสาหกรรมอาหารของไทยชิงความได้เปรียบในกลุ่มประเทศอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2013 15:09 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การนำเข้าสินค้าอาหารของตลาดอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ในปี 2554 นั้นมีมูลค่านำเข้ารวม 3,443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสินค้าประเภทอื่นๆ ประกอบด้วย น้ำตาลทราย นมและผลิตภัณฑ์นม สิ่งปรุงรส ซุปและอาหารปรุงแต่ง มูลค่ารวม 1,793 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้านำเข้ารองลงมาได้แก่ สินค้าจากข้าวและแป้ง มูลค่ารวม 847 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสินค้าปศุสัตว์มีมูลค่านำเข้า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการนำเข้าสินค้าอาหารของตลาดอาเซียนนั้นได้นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากที่สุด โดยในปี 2554 คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 47.34 รองลงมาได้แก่ มาเลเซียร้อยละ 21.84 และสิงคโปร์ร้อยละ 13.74 ตามลำดับ

นายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังตลาดอาเซียนประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารประเภทต่างๆ ประกอบด้วย น้ำตาลทราย สิ่งปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม ซุปและอาหารปรุงแต่งมีมูลค่า 1,238 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาได้แก่ สินค้าจากข้าวและแป้งมูลค่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสินค้าประมงมูลค่า 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ความสามารถในการแข่งขันสินค้าอาหารไทยเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนหลัง AEC

จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) นั้นพบว่าภาพรวมสินค้าอาหารของไทยหลัง AEC จะมีทิศทางที่ดีขึ้น คือ จากการศึกษาขีดความสามารถในการแข่งขันหลังการเข้าสู่ AEC สินค้าอาหารของไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอาหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 73 ที่ส่งออกไปตลาดอาเซียนมีความได้เปรียบเพิ่มขึ้น

สำหรับสินค้าอาหารอีก ร้อยละ 26 ที่ไทยส่งออกไปอาเซียนไทยยังมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ แต่ความได้เปรียบนั้นเริ่มลดลงหลังการเข้าสู่ AEC ประกอบด้วย

  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป มีความได้เปรียบลดลงเนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความได้เปรียบมากขึ้น ซึ่งจากเดิมที่มีความได้เปรียบอยู่แล้ว ประกอบกับประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์มีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว
  • ปลา ( แช่แข็ง ) มีความได้เปรียบลดลงเนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว
  • ไก่แปรรูป มีความได้เปรียบลดลงเนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว

สำหรับสินค้าอาหารของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ที่ 3 ที่สูญเสียความได้เปรียบมี 3 รายการ คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกไปอาเซียน คือ สินค้าพืช ผัก ผลไม้ สูญเสียความได้เปรียบเนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว ประกอบกับประเทศมาเลเซียได้รับความได้เปรียบจากเดิมที่มีความเสียเปรียบ

สินค้าอาหารที่ไทยมีความเสียเปรียบมากขึ้นจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้วซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ 4 มีเพียง 1 รายการคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกไปอาเซียน ได้แก่ สัตว์น้ำเปลือกแข็ง (ปู หอย)แช่แข็ง เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์มีความได้เปรียบมากขึ้น ประกอบกับประเทศมาเลเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้วจากสินค้าที่เริ่มมีปัญหาความสามารถในการแข่งขันหลัง AEC คือ สินค้าที่อยู่ในเกณฑ์ที่ 2 (มีความได้เปรียบลดลง) เกณฑ์ที่ 3(สูญเสียความได้เปรียบ) และเกณฑ์ที่ 4 ( มีความเสียเปรียบมากขึ้น )

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่า ประเทศที่มีสินค้าอยู่ในกลุ่มต้องรับการพิจารณามากที่สุด คือ สิงคโปร์ โดยมีทั้งสิ้น 14 รายการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.50 ของมูลค่าสินค้าอาหารทั้งหมดที่สิงคโปร์ส่งออกไปยังอาเซียนในปี 2554 รองลงมา คือ ประเทศไทย ซึ่งมีสินค้าที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 14 รายการเช่นกัน แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 26.32 ของมูลค่าสินค้าอาหารทั้งหมดที่ไทยส่งออกไปยังอาเซียนในปี 2554 ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีสินค้าที่อยู่ในกลุ่มต้องรับการพิจารณาน้อยที่สุดเพียง 2 รายการ และมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.37 ของมูลค่าสินค้าอาหารทั้งหมดที่มาเลเซียส่งออกไปยังอาเซียนในปี 2554

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ