สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2560 (มกราคม - มีนาคม) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 2, 2017 15:11 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ส่วนอุตสาหกรรม3 สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา2

0 2202 4383

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมยังขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศลดลงเล็กน้อยในบางผลิตภัณฑ์ แต่ในภาพรวมถือว่าตลาดทั้งในและต่างประเทศมีการขยายตัวที่ดี สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวตามการขยายตัวของตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น และมาเลเซีย ตามลำดับ

การผลิต

ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2560เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.96ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.62 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ปลูกยางที่สำคัญของไทย ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางขาดรายได้ จึงมีการเร่งกรีดยางตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณผลผลิตสำหรับป้อนเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางล้อ (ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน รวมถึงยางหล่อดอก) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยานยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.41 13.14 6.52 8.61และ 6.39ตามลำดับ ในขณะที่มีปริมาณการผลิตยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ลดลงร้อยละ 1.12และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์และยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ลดลงร้อยละ 1.62 7.36และ 3.30ตามลำดับในขณะที่มีปริมาณการผลิตยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.53และ 4.19 ตามลำดับในภาพรวมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อของไทยขยายตัวได้ตามการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับปริมาณการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 1.67ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.76 ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทั่วโลกมีความต้องการใช้สูง และตลาดทั้งในและต่างประเทศมีการขยายตัวที่ดี

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.54 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศลดลงร้อยละ 10.04 เนื่องจากจีนประสบภาวะขาดแคลนยางในสต็อก ทำให้มีความต้องการใช้ยางจากไทยสูงขึ้น จึงมีการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นไปจีนมากขึ้นต่อเนื่องจากช่วง ไตรมาสที่ผ่านมา

สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อในประเทศ(ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน รวมถึงยางหล่อดอก) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณการจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร และยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.49 4.28 17.52 7.69 และ 8.67ตามลำดับ ในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยางหล่อดอกลดลงร้อยละ 4.24และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร และยางหล่อดอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.56 2.66 2.43และ 3.31ตามลำดับ ในขณะที่ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์และยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานลดลงร้อยละ 2.66 และ 3.89 ตามลำดับ

สำหรับการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขยายตัวร้อยละ 21.54ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหดตัวลงร้อยละ 10.04ในภาพรวมการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศยังขยายตัวได้เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทั้งต่อภาคการผลิตการใช้งานทั่วไปในครัวเรือน และการบริการทางการแพทย์

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย (ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ)ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่ารวม1,805.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.69 และ 78.40ตามลำดับ โดยกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดเป็นการส่งออกไปยังจีน เนื่องจากจีนประสบปัญหาขาดแคลนยางพาราในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราจากไทยเพิ่มขึ้น สำหรับตลาดส่งออกยางพาราอื่นๆ ที่สำคัญในไตรมาสนี้ยังคงเป็นมาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง(ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ ยางคอมพาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่ารวม2,458.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 44.16 และ 62.00 ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวของการส่งออกยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ยางวัลแคไนซ์ ยางคอมพาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆโดยเฉพาะในส่วนของยางล้อและถุงมือยางที่ขยายตัวจากปีก่อนถึงร้อยละ 25.38 และ 14.20 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวที่ดีของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยทั้งสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน และเวียดนาม

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560มีมูลค่าการนำเข้ายางและเศษยางรวม 295.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 26.82 และ 39.79 ตามลำดับโดยการนำเข้ายางในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้ายางสังเคราะห์ ซึ่งมีตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และสิงคโปร์ ตามลำดับ

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง (ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ) มีมูลค่ารวม 276.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิดยกเว้นในส่วนของยางวัลแคไนซ์หดตัวลงร้อยละ5.44 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 2.17โดยเป็นการขยายตัวของการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางวัลแคไนซ์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ จากญี่ปุ่น จีน และโปแลนด์

ราคาสินค้า

ราคาเฉลี่ยของยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันไตรมาสที่ 1 ปี 2560อยู่ที่ 80.23 บาท/กิโลกรัม และ 82.89 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ 40.38 บาท/กิโลกรัม และ 42.60บาท/กิโลกรัม ตามลำดับถึงประมาณสองเท่าตัว เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ที่สุดของโลกประสบปัญหาขาดแคลนสต็อกยางในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราจากไทยมากขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐอยู่ระหว่างดำเนินโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยางโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา โครงการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยาง อัตราไร่ละ 1,500 บาท และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐรวมวงเงินงบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท

สรุปและแนวโน้ม
สรุป

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงเล็กน้อยในส่วนของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อมีปริมาณการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ และยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ลดลง ในขณะที่มีปริมาณการผลิตยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอกเพิ่มขึ้น สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการใช้ของทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศลดลง ในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร และยางหล่อดอกเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ

มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2560เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวตามความต้องการใช้ยางจากไทยของนานาประเทศโดยเฉพาะจีน ในส่วนของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมีการขยายตัวที่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของยางล้อและถุงมือยางซึ่งมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น และมาเลเซีย ตามลำดับ

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศสำหรับการผลิตและจำหน่ายยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ในประเทศคาดว่าจะหดตัวลงจากแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศที่ลดลงในขณะที่การผลิตยางหล่อดอกน่าจะยังมีการขยายตัวที่ดี ในส่วนของการผลิตและจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามความจำเป็นของภาคอุตสาหกรรมและการใช้ในทางการแพทย์

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกามาเลเซีย และจีน ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในผลิตภัณฑ์ถุงมือยางและถุงมือตรวจของไทย

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ