รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2561 และแนวโน้มปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2019 14:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

บทสรุปผู้บริหาร

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ปี 2561 และแนวโน้ม ปี 2562

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2561 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ทรงตัวจากปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวร้อยละ 2.5 เช่นกัน โดย อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในปี 2561 อาทิ รถยนต์และเครื่องยนต์ เป็นการขยายตัวของตลาดในประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวดี อุตสาหกรรมน้ำตาล ด้วยสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้มีวัตถุดิบอ้อยเข้าหีบมากกว่าปี 2560 ค่อนข้างมาก อีกทั้งโรงงานส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น การกลั่นปิโตรเลียม ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขนส่งเดินทางที่ขยายตัว

แนวโน้ม ปี 2562

ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 โดยมีปัจจัยบวกจากความชัดเจนของการเลือกตั้ง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนค่อนข้างมาก แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญๆ รวมถึงการดำเนินงานภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ

เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่า การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.0-2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และกลุ่มเหล็ก ทรงแบน จากการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้การผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ส่วนการจำหน่ายเหล็กปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 17.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7

เครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.0 และ 5.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าของภาครัฐในช่วงปลายปี 2561 และการจัดเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งคาดว่ารัฐบาลใหม่จะมีมาตรการอัดฉีดทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง

อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และ 7.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รถยนต์ ประมาณการอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2562 คาดว่า จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,200,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.76 โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,050,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00 และเป็นการส่งออกประมาณ 1,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.55

รถจักรยานยนต์ ประมาณการอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของปี 2562 คาดว่า การผลิตจะทรงตัว คิดเป็นปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน ทั้งนี้ จากปริมาณการผลิตที่คาดการณ์ไว้ข้างต้นจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 85-90 และการผลิตเพื่อการส่งออก ร้อยละ 10-15

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ การผลิตกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษ และบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ ในปี 2562 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภคที่ยังคงเติบโตทั้งในไทยและอาเซียน การผลิตในปัจจุบันมีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น กล่องกระดาษที่มีน้ำหนักเบา สะดวกและลดต้นทุนในการขนส่ง และสามารถใช้บรรจุที่มีความหลากหลายตรงกับความต้องการใช้ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วจึงหันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้บรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุหรือลำเลียงสินค้ามีแนวโน้มเติบโตตามไปด้วย

เซรามิก คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นการลงทุนภาคธุรกิจและภาคเอกชน อีกทั้งการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน

ปูนซีเมนต์ การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมเม็ด) คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยแม้ว่าหลายหน่วยงานจะได้คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจในปี 2562 ว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2561 ซี่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวผลพวงจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา แต่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก็ยังสามารถขยายตัวได้จากปัจจัยบวกจากการเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่ และการลงทุนของอสังหาริมทรัพย์ตามแนวโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การเร่งพัฒนาพื้นที่ EEC และโครงการบ้านล้านหลัง ของ ธอส.

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2561 โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์และเส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ อย่างไรก็ตาม การผลิตผ้าผืนอาจชะลอตัว จากการนำเข้าผ้าผืนตกแต่งสำเร็จราคาถูกของจีนมาใช้ทดแทนวัตถุดิบในประเทศ ด้านการส่งออก คาดว่า จะขยายตัวได้โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์ และผ้าผืนจากเส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ต้องแข่งขันกับคู่ค้าสำคัญอย่างเวียดนาม ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องอาศัยจุดแข็งด้านการบริหารห่วงโซ่การผลิต และการออกแบบ แทนการแข่งขันด้านต้นทุน

ไม้และเครื่องเรือนไม้ การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ในปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 คาดว่าจะมีปริมาณลดลง โดยมีสาเหตุจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเริ่มส่งผลกระทบโดยตรงกับปริมาณการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีน

ยา คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายาของไทย

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ในปี 2562 คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้า ยางแปรรูปขั้นต้น และสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายางรถยนต์และถุงมือยางของไทย

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง ปี 2562 คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อการส่งออก และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทาง จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งชาวต่างชาติมีความนิยมในผลิตภัณฑ์เครื่องหนังของไทย และผลิตภัณฑ์หนัง Exotic เช่น หนังงู หนังปลากระเบน และหนังจระเข้ ส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีแนวโน้มชะลอตัว จากผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตัวเองได้เปลี่ยนวิธีการผลิต โดยการจ้างประเทศเพื่อนบ้านผลิตแทนการผลิตเอง เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่กระตุ้นการผลิต เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในตลาดจีนและตลาดหลักอื่น ๆ นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายของรัฐบาล และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ในปี 2562 ได้

อัญมณีและเครื่องประดับ การผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2562 คาดว่า จะมีทิศทางขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนสต็อกเดิมที่นำออกจำหน่ายเป็นจำนวนมากในปีก่อน สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) คาดว่าจะมีทิศทางหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา กัมพูชา เยอรมนี อินเดีย เบลเยียม จีน สหราชอาณาจักร จากผลกระทบต่อเนื่องของสถานการณ์ต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา เช่น กรณี Brexit กรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ขณะที่การส่งออกในภาพรวม คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัว จากราคาทองคำในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้น

อาหาร การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยบวกอย่างเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีก่อน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าด้วยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับแนวโน้มราคาส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง และสับปะรดกระป๋อง รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าสำคัญ เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง และซาร์ดีนกระป๋อง นอกจากนี้ คาดว่าสินค้าสำคัญอีกรายการที่จะกลับมาขยายตัวอย่าง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง จากการได้รับอานิสงส์ที่ผู้ผลิตรายใหญ่ (อินเดีย) ลดปริมาณการผลิตลง แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงอย่างความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้ง การเจรจาภายใต้กรอบ USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ความเสี่ยงจาก BREXIT ตลอดจนความผันผวนของราคาน้ำมัน

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ปี 2561 และแนวโน้ม ปี 2562

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในสามไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.3 ชะลอตัวลงจากสองไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 แต่ก็ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสามไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9

ปัจจัยสำคัญของการเติบโตของ GDP

การผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9

ภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3

การใช้จ่ายอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4

การลงทุนรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7

การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2

ในสามไตรมาสแรกของปี 2561 การผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 การใช้จ่ายอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 การลงทุนรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในสามไตรมาสแรกของปี 2561 ชะลอตัวลงจากสองไตรมาสแรกตามการชะลอตัวลงของอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ อาทิ การผลิตยานยนต์ การผลิตยางล้อและยางใน และการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

GDP สาขาอุตสาหกรรม ในสามไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากสองไตรมาสแรกที่มีการขยายตัวร้อยละ 3.5 แต่ก็ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยชะลอตัวจากการผลิตรถยนต์และการลดลงของการผลิตอุตสาหกรรมบางรายการ อาทิ การลดลงของการแปรรูปและการถนอมเนื้อสัตว์ การทอผ้าและการผลิตยางล้อและยางใน รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือของปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการขยายตัวด้านการลงทุนภาคเอกชน การสนับสนุนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตต่อไป

ดัชนีอุตสาหกรรมที่สำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ในช่วง 10 เดือนแรก (เดือนมกราคม -ตุลาคม) ของปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 115.01 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (111.62) ร้อยละ 3.04

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 อาทิ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมเป็นต้น

สำหรับแนวโน้มปี 2562 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2561 เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ควบคู่กับความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภคที่จะปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้ง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ในช่วง 10 เดือนแรก (เดือนมกราคม -ตุลาคม) ของปี 2561 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 113.42 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (110.66) ร้อยละ 2.50

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 อาทิ การผลิตยานยนต์การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มปี 2562 คาดว่า ดัชนีการส่งสินค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ข้างต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ในช่วง 10 เดือนแรก (เดือนมกราคม -ตุลาคม) ของปี 2561 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 110.15 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (108.17) ร้อยละ 1.83

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 อาทิ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร การผลิตยางล้อและยางใน รวมถึงการหล่อดอกยางและการซ่อมสร้างยางล้อ การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก เป็นต้น สำหรับแนวโน้มปี 2562 คาดว่า ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ตามภาวะอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อัตราการใช้กำลังการผลิต

ในช่วง 10 เดือนแรก (เดือนมกราคม -ตุลาคม) ของปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 68.43 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (ร้อยละ 66.86)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 อาทิ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มปี 2562 คาดว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2561 เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิอู่ตะเภา) แบบไร้รอยต่อ และการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลตะวันออก (EEC) ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง การดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

ในช่วงเดือน ม.ค. - ต.ค. (10 เดือนแรก) ของปี 2561 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 91.24 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (85.90) และดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 103.36 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (101.03)

สำหรับแนวโน้มในปี 2562 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561 เนื่องจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เป็นต้น นอกจากนี้เศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องหลังการเลือกตั้ง

การค้าต่างประเทศ
"มูลค่าการค้าต่างประเทศปี 2561 (ม.ค. - ต.ค.) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 (ม.ค. - ต.ค.) จากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลการค้าต่างประเทศเกินดุล 2,558.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ"

สถานการณ์การค้าต่างประเทศในปี 2561 (ม.ค. - ต.ค.)การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 420,416.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 211,487.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 208,928.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 ส่งผลให้ปี 2561 ดุลการค้าเกินดุล 2,558.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในปี 2561 (ม.ค. - ต.ค.)มีมูลค่า 211,487.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออก 19,312.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออก 168,029.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 9,215.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออก 14,929.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในปี 2561 (ม.ค. - ต.ค.)มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 สินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 24,354.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.3) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 16,711.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0) อัญมณีและเครื่องประดับ (มูลค่าการส่งออก 10,196.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.6) ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่าการส่งออก 9,090.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2) และเม็ดพลาสติก(มูลค่าการส่งออก 8,720.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3)

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักในปี 2561 (ม.ค. - ต.ค.)ซึ่งได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน (9 ประเทศ) จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกคิดรวมเป็นร้อยละ 69.7 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบว่า การส่งออกไปยังตลาดหลักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยการส่งออกไปยังอาเซียน (9 ประเทศ) มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 27.1 รองลงมา ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 11.0 10.0 และ 9.8 ตามลำดับ

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในปี 2561 (ม.ค. - ต.ค.)มีมูลค่า 208,928.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า การนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดย สินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้า 34,683.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.1 สินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้า 53,370.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้า 85,253.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 สินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่าการนำเข้า 22,717.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีมูลค่าการนำเข้า 12,278.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 และสินค้าหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 625.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6

แหล่งนำเข้า

ในปี 2561 (ม.ค. - ต.ค.)แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน (9 ประเทศ) จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 67.1 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบว่า แหล่งนำเข้าสำคัญส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดย นำเข้าจากจีน เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 19.8 รองลงมา ได้แก่ ประเทศอาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 14.0 9.0 และ 6.0 ตามลำดับ

แนวโน้มการส่งออก

ภาพรวมการส่งออกในปี 2561 ขยายตัวตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เป็นต้นมา และมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยการส่งออกในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.2 ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) และญี่ปุ่น ที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จากการส่งออกสินค้าหลายรายการยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2562 คาดว่าจะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่มีทิศทางการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าการส่งออก ในปี 2562 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.0 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมัน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้ทิศทางการค้า การผลิต การลงทุนระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป และอาจเป็นปัจจัยกดดันให้การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

เศรษฐกิจโลก ปี 2561
"เศรษฐกิจโลก การส่งออก และภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดี อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และ อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ"

ปี 2562 IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.7 เช่นเดียวกับปี 2561 โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกทยอยปรับตัวดีขึ้น ตามการค้าโลกในประเทศคู่ค้าหลักที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการผลิต การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ในช่วงปลายปี 2561 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.75-2.00% เป็น 2.00-2.25% สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินของสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก และคงอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ สำหรับเศรษฐกิจไทย ในปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ เดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 65.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ 60.81 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล สำหรับปี 2561 ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ 70.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 52.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล เนื่องจากตลาดยังคงกังวลกับอุปทานหรือการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกที่ลดลง ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนนโยบายปฏิรูประบบภาษีของสหรัฐฯ ที่ก่อให้เกิดสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ประกอบกับสหรัฐฯ อาจดำเนินการกับประเทศต่าง ๆ เพิ่มเติม มาตรการตอบโต้ทางการค้าของจีนหรือประเทศที่ได้รับผลกระทบ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความไม่แน่นอนทางการเมือง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น Brexit กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ไม่เต็มที่

เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยรายสาขาปี 2561 และแนวโน้มปี 2562

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กปี 2561เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560โดยเหล็กทรงแบนมีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ สำหรับเหล็กทรงยาวมีดัชนีผลผลิตทรงตัว

ดัชนีผลผลิต

การผลิตปี 2561 คาดว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 120.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 (%YoY) โดยการผลิตเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.8 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีประเภทเหล็กกัลวานีล (GA) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ แต่เหล็กทรงยาว มีดัชนีผลผลิตทรงตัว ลดลงร้อยละ 1.5 อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น คือ เหล็กลวด และลวดเหล็กแรงดึงสูง เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน

การจำหน่าย ปี 2561 คาดว่ามีปริมาณ 17.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 (%YoY) เพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น อาทิ เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็ก ทรงแบนที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น อาทิ เหล็กแผ่นบาง รีดร้อน เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นบางรีดเย็น

การนำเข้า ปี 2561 คาดว่ามีมูลค่า 10.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 (%YoY) เพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบน โดยการนำเข้าเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 จากการนำเข้าเหล็กเส้นคุณภาพสูง (นำเข้าเพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่น และจีน) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (นำเข้าเพิ่มขึ้นจากจีน และอินเดีย) และเหล็กลวด (นำเข้าเพิ่มขึ้นจากเวียดนาม และไต้หวัน) สำหรับการนำเข้าเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น คือ เหล็กแผ่นบางรีดเย็น (นำเข้าเพิ่มขึ้นจาก ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) เหล็กแผ่นบางรีดร้อน (นำเข้าเพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่น) และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม (นำเข้าเพิ่มขึ้นจากจีน)

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าปี 2562

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในปี 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.0-2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และกลุ่มเหล็ก ทรงแบน จากการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้การผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ส่วนการจำหน่ายเหล็กปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 17.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2561 ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 โดยลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.6 จากสินค้าเครื่องซักผ้า มอเตอร์ไฟฟ้า และตู้เย็นที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

ดัชนีผลผลิต มูลค่าการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกของเครื่องใช้ไฟฟ้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ในปี 2561 มีมูลค่า 16,062.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 6.4 (%YoY) จากการนำเข้าของตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จากการนำเข้าสินค้าแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบเพิ่มขึ้น

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2561 ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 112.9 ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.6 (%YoY) ทั้งนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องซักผ้า มอเตอร์ไฟฟ้า และตู้เย็น ลดลงร้อยละ 17.5, 13.7 และ 10.1 ตามลำดับ โดยเครื่องซักผ้าและตู้เย็นเป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ส่วนมอเตอร์ไฟฟ้าผลิตลดลงจากผู้ผลิตมีการเปลี่ยนแปลงรุ่นและโมเดล ในขณะที่สินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ พัดลมตามบ้าน กระติกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เตาไมโครเวฟ คอมเพรสเซอร์ หม้อหุงข้าว และสายไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2, 6.0, 4.4, 3.5, 3.2, 1.5, 1.4 และ 0.1 ตามลำดับ เนื่องจากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศมีการส่งออกไปตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมากขึ้น

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ในปี 2561 มีมูลค่า 23,371.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.4 (%YoY) จากการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐอเมริกาลดลง ได้แก่ เครื่องซักผ้า และแผงโซล่าร์เซลล์ เนื่องจากมาตรการ Safeguard เครื่องซักผ้าและแผงโซล่าร์เซลล์ที่สหรัฐอเมริกา มีต่อไทย ในขณะที่สินค้าเครื่องปรับอากาศมีมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าของปี 2562

ในปี 2562 คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.0 และ 5.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าของภาครัฐในช่วงปลายปี 2561 การจัดเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งคาดว่ารัฐบาลใหม่จะมีมาตรการอัดฉีดทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับแนวโน้มความตึงเครียดสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามีท่าทีที่ผ่อนคลายลง

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในสินค้า HDD, IC, Semiconductor และ PCBA เป็นผลจากการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น รวมถึงมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น อาเซียน จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ดัชนีผลผลิต มูลค่าการนำเข้า และมูลค่าการส่งออก อิเล็กทรอนิกส์

การนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2561 มีมูลค่า 33,719.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.9 (%YoY) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ วงจรรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2561 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 105.8 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 4.5 (%YoY) โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ HDD, Monolithic IC, Semiconductor, PCBA และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1, 6.8, 4.5, 4.3 และ 0.3 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น โดย IC ใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet และในตลาดมีการพัฒนา Semiconductor มากขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สมาร์ทต่าง ๆ และ HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ใน ปี 2561 มีมูลค่า 38,841.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 6.4 (%YoY) โดยตลาดส่งออกหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งญี่ปุ่น จีน อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 วงจรรวม (IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากผู้ผลิต บางรายมีการผลิตเพื่อส่งออกสินค้ากลับไปที่บริษัทแม่ ในประเทศญี่ปุ่น

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2562

ในปี 2562 คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และ 7.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2561 คาดว่า ปริมาณการผลิตขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของตลาดในประเทศ อันเนื่องมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนรวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกคาดว่าจะมีการชะลอตัว

การผลิตรถยนต์

ปี 2561 คาดว่า มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 2,100,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิต 1,988,823 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.59 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 42 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 56 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ร้อยละ 2

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ปี 2561 คาดว่า มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ 1,000,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการจำหน่าย 871,650 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.72 โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ร้อยละ 40 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 41 รถ PPV และ SUV ร้อยละ 14 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 5

การส่งออกรถยนต์

ปี 2561 คาดว่า มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 1,100,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซี่งมีปริมาณการส่งออก 1,139,696 คัน ลดลงร้อยละ 3.48

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์

ปี 2561 คาดว่า มีมูลค่า 9,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า 9,032.27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.61 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

ปี 2561 คาดว่า มีมูลค่า 11,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซี่งมีมูลค่า 11,402.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.49 ตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ปี 2562

ประมาณการอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2562 จากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คาดว่า จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,200,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.76 โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,050,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00 และเป็นการส่งออกประมาณ 1,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.55

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ปี 2561 คาดว่า การผลิตรถจักรยานยนต์จะขยายตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกชะลอตัว

การผลิตรถจักรยานยนต์

ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง ปี 2561 คาดว่า มีจำนวน 2,120,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการผลิตจำนวน 2,055,193 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.15

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยปี 2561 คาดว่า มีจำนวน 1,870,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการจำหน่ายจำนวน 1,810,771 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27

การส่งออกรถจักรยานยนต์(CBU&CKD)

ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยปี 2561 คาดว่า มีจำนวน 840,000 คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 370,000 คัน และ CKD จำนวน 470,000 ชุด) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการส่งออกจำนวน 849,081 คัน ลดลงร้อยละ 1.07

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์

ปี 2561 คาดว่า มีมูลค่า 740 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซี่งมีมูลค่า 734.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน

ปี 2561 คาดว่า มีมูลค่า 560 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซี่งมีมูลค่า 545.42 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.67 ตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยานได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ปี 2562

สำหรับประมาณการอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของปี 2562 คาดว่า การผลิตจะทรงตัว คิดเป็นปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน ทั้งนี้ จากปริมาณการผลิตที่คาดการณ์ไว้ข้างต้นจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 85-90 และการผลิตเพื่อการส่งออก ร้อยละ 10-15

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

การค้าเคมีภัณฑ์ภาพรวมปี 2561มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 โดยมูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.06 ซึ่งตลาดหลักในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.63 และคาดว่าแนวโน้มปี 2562 จะมีมูลค่าการค้าเคมีภัณฑ์ ในภาพรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 โดยมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง อาทิเช่น ความผันผวนของราคาน้ำมัน ในตลาดโลก และผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นในการผลิตและส่งออกของไทยในอนาคต

การส่งออกเคมีภัณฑ์ ในปี 2561 คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 8,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 15.06 (%YoY) แบ่งเป็นเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานประมาณ 4,644 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.25 และเคมีภัณฑ์ขั้นปลายประมาณ 3,956 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.54 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ที่ส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เครื่องสำอาง สี และสารลดแรงตึงผิว เป็นต้น สำหรับตลาดในการส่งออกหลักของเคมีภัณฑ์ ได้แก่ ตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนยังมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ ในปี 2561 คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 16,212 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 9.63 (%YoY) แบ่งเป็นเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานประมาณ 9,822 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 และเคมีภัณฑ์ขั้นปลายประมาณ 6,390 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.88 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญที่ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานและเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ยังมีแนวโน้มอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ตามภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาค

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปี 2562

แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมปี 2562 คาดว่าการส่งออกและการนำเข้าเคมีภัณฑ์ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8 ซึ่งมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง อาทิเช่น ความ ผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นในการผลิตและส่งออกของไทยในอนาคต

อุตสาหกรรมพลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมปี 2561 คาดว่าดัชนีผลผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 และดัชนี การส่งสินค้าจะลดลงร้อยละ 1.20 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.10 และมูลค่าการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.42 เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก และความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับราคาน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีผลผลิต ปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ และผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก คิดเป็นร้อยละ 6.27 และ 2.04 ตามลำดับ

ดัชนีการส่งสินค้า ปี 2561 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.20 เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่น ร้อยละ 6.79

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก ปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่า 4,376.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 11.10 จากการส่งออกทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) มากที่สุด

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่า 4,763.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 8.42 จากการนำเข้าทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) เครื่องสุขภัณฑ์ (3922) เครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) เป็นต้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ปี 2562

สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกปี 2562 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3-5 เนื่องจากไทยอาจได้รับประโยชน์จากสงครามการค้า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งการมองหาคู่ค้าในแถบอาเซียนมากขึ้น การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก คาดว่ามีมูลค่า 4,529.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.50 เมื่อเทียบกับปี 2561 ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก คาดว่ามีมูลค่า 4,953.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.00 เมื่อเทียบกับปี 2561

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 11,352.58ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 24.51 จากตลาดส่งออกหลักปิโตรเคมีของไทยขยายตัว ได้แก่ ประเทศจีน อินโดนีเซีย และ CLMV

การส่งออกปิโตรเคมี ปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 11,352.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปี 2560 ร้อยละ 24.51 (%YoY)

การนำเข้าปิโตรเคมี ปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 4,631.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 8.77 (%YoY)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เกิดจากตลาดส่งออกหลักปิโตรเคมีของไทยขยายตัว ได้แก่ ประเทศจีน อินโดนีเซีย และ CLMV ส่วนนำเข้าเกิดจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลง

ราคาสินค้า ราคาเอทิลีนและโพรพิลีนในตลาดเอเชีย ปี 2561 คาดว่าจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 37.73 และ 33.20 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ราคาเอทิลีนและโพรพิลีนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคา 37.04 และ 28.16 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

ราคาเม็ดพลาสติก PE และ PP ปี 2561 คาดว่าจะมีราคาจำหน่าย (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, LLDPE, HDPE และ PP อยู่ที่ประมาณ 39.51, 35.61, 43.77 และ 41.58 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ราคา LDPE และ LLDPE จะมีการปรับตัวลดลงจากระดับราคา 43.55 และ 40.20 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ส่วนราคา HDPE และ PP จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับราคา 39.83 และ 39.74 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปี 2562

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งทางราง และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 - 4.5 และคาดว่าปริมาณการส่งออกปิโตรเคมีของไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 - 4.0 และมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวประมาณประมาณร้อยละ 10.0 - 15.0 ในปี 2562

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

การผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ใน ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟต์ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อื่น ๆ ตลอดจนธุรกิจ e-commerce มีความต้องการบรรจุภัณฑ์จากกระดาษที่ใช้กับสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วย

การผลิตกระดาษ ในปี 2561 คาดว่า ดัชนีฯ จะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน จากกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟต์ ร้อยละ 8.71 2.16 และ 3.72 ตามลำดับ เพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ส่งผลให้กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์จากกระดาษมีกระแสตอบรับที่ดี นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ เครื่องสำอาง ยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนธุรกิจ e-commerce มีความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ใช้กับสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วย

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ปี 2561 คาดว่า จะมีมูลค่าส่งออกรวม 2,243.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.43 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกเยื่อกระดาษ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.55 ในชนิดเยื่อไม้เคมีละลายน้ำได้ไปยังประเทศคู่ค้าอย่างจีน และฝรั่งเศส สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.40 ไปเวียดนาม มาเลเซีย และจีน ในส่วนหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.43 ไปยังประเทศคู่ค้าหลักอย่างฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ในประเภทสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ภาพพิมพ์ภาพถ่าย และหนังสือที่พิมพเป็นเล่ม

การนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ปี 2561 คาดว่า จะมีมูลค่ารวม 2,840.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.34 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศโดยเฉพาะกระดาษหรือกระดาษแข็งที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก ในขณะที่หนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.15 จากสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ในประเภทปฏิทินทุกชนิด สิ่งพิมพ์ อื่น ๆ และแบบแปลนต่างๆ ทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม เป็นต้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ปี 2562

การผลิตกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษ และบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ ในปี 2562 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภคที่ยังคงเติบโตทั้งในไทยและอาเซียน การผลิตในปัจจุบันมีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น กล่องกระดาษที่มีน้ำหนักเบา สะดวกและลดต้นทุนในการขนส่ง และสามารถใช้บรรจุที่มีความหลากหลายตรงกับความต้องการใช้ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วจึงหันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้บรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุหรือลำเลียงสินค้ามีแนวโน้มเติบโตตามไปด้วย

อุตสาหกรรมเซรามิก

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวจากความต้องการใช้ของภาคก่อสร้าง ภาคอสังหาริมทรัพยท์ภายในประเทศ และคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากต่างประเทศ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและอาเซียน โดยเครื่องสุขภัณฑ์ จะมีอัตราการขยายตัวและมูลค่าการส่งออกสูงสุด ซึ่งส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น

การผลิต ปี 2561 กระเบื้องบุพื้น บุผนัง คาดว่าจะมีปริมาณการผลิต 136.95 ล้านตารางเมตร ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 2.60 (%YoY) เนื่องจากการชะลอการผลิตจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิต 7.47 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 2.40 (%YoY) ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลักทุกตลาด

การจำหน่าย ปี 2561 กระเบื้องบุพื้น บุผนัง คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่าย 163.51 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อน ร้อยละ 3.73 (%YoY) จากความต้องการใช้ที่เริ่มฟื้นตัวจากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีจำนวน 4.09 ล้านชิ้น ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 4.38 (%YoY)

การส่งออก ปี 2561 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 93.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 5.93 (%YoY) จากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงของ สปป.ลาวและ เมียนมา ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ คาดว่าจะมีมูลค่า 212.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 16.67 (%YoY) จากขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศจีนถึงร้อยละ 98.60 ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักรองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

แนวโน้มอุตสาหกรรมเซรามิก ปี 2562

การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ ปี 2562 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นการลงทุนภาคธุรกิจและภาคเอกชน อีกทั้งการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในปี 2561 เมื่อเทียบกับกับปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายยังขยายตัวได้แรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ การส่งออกมีมูลค่าลดลงจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยเข้าไปตั้งฐานผลิตในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักที่เปิดการผลิตแล้ว การนำเข้ามีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจากปูนซีเมนต์ราคถูกจากลาว

การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 0.79 เป็นการขยายตัวเพื่อรองรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 2.34 ตามการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีความคืบหน้า อย่างต่อเนื่อง การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนที่เกิดขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และการลงทุนในพื้นที่ EEC

การส่งออก-นำเข้าปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในปี 2561 เมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่ามูลค่าจะหดตัวลงร้อยละ 7.68 จากการปรับลดคำสั่งซื้อจากประเทศส่งออกหลักหลายตลาดของไทยที่มีผู้ประกอบการของไทยออกไปลงทุน เช่น เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ เป็นต้น

ส่วนมูลค่าการนำเข้าเมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่า จะขยายตัวถึง ร้อยละ 24.54 จากการนำเข้าปูนซีเมนต์ราคาถูกจากลาว

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ปี 2562

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมเม็ด) ในปี 2562 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมเม็ด) คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย โดยแม้ว่า สศช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะได้คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจในปี 2562 จะขยายตัวลดลง ซี่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวผลพวงจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา แต่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก็ยังสามารถขยายตัวได้จากปัจจัยบวกจากการเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่ และการลงทุนของอสังหาริมทรัพย์ตามแนวโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การเร่งพัฒนาพื้นที่ EEC และโครงการบ้านล้านหลัง ของธนาคารอาคารสงเคราะห์

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

สถานการณ์ปี 2561 คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะขยายตัวสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของคู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศในเอเชีย ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ และเครื่องแต่งกายบุรุษและสตรี ในส่วนผ้าผืน คาดว่าจะ มีการผลิตชะลอตัวในกลุ่มผ้าฝ้าย อย่างไรก็ตาม การผลิตผ้าทอจากใยสังเคราะห์ยังคงขยายตัวรองรับความต้องการของตลาดต่างประเทศ

การผลิต

ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะ ขยายตัว ร้อยละ 1.6 และ 1.0 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ อาทิ เส้นใยคอลลาเจน เส้นใยคอมโพสิต ขยายตัวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะขยายตัวจากผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกลุ่มเครื่องแต่งกายบุรุษและสตรี ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

ผ้าผืน คาดว่าจะ ลดลง ร้อยละ 11.2 เนื่องจากมีผู้ประกอบการโรงงานทอผ้ายกเลิกการผลิตผ้าทอจากฝ้าย ซึ่งความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและส่งออกลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตผ้าทอใยสังเคราะห์ยังคงขยายตัวรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ

การจำหน่ายในประเทศ

กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะลดลง ร้อยละ 1.8 3.8 และ 0.8 ตามลำดับ โดยเส้นใยสิ่งทอเน้นการส่งออกเป็นหลัก ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคสนใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นจากต่างประเทศทั้งในกลุ่มเสื้อผ้าราคาถูกที่นำเข้าจากจีนและเวียดนาม รวมถึงกลุ่มเสื้อผ้าแบรนด์ที่เป็นสินค้าหรู

การส่งออก

กลุ่มเส้นใยสิ่งทอผ้าผืน และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.3 3.2 และ 6.1 ตามลำดับ โดยเส้นใย สิ่งทอขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ และผ้าผืนจากเส้นใยสังเคราะห์ที่มีสมบัติพิเศษที่ไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออก โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา ญี่ปุ่น บังคลาเทศ และจีน ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัวจากการที่ไทยได้รับความไว้วางใจในการผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ ในรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิต

แนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2562

ภาพรวมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2561 โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์และเส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ อย่างไรก็ตาม การผลิตผ้าผืนอาจชะลอตัว จากการนำเข้าผ้าผืนตกแต่งสำเร็จราคาถูกของจีนมาใช้ทดแทนวัตถุดิบในประเทศ ด้านการส่งออก คาดว่า จะขยายตัวได้โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืนจากเส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ต้องแข่งขันกับคู่ค้าสำคัญอย่างเวียดนาม ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องอาศัยจุดแข็งด้านการบริหารห่วงโซ่การผลิตและการออกแบบ แทนการแข่งขันด้านต้นทุน

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ปี 2561 ลดลงจาก ปี 2560 ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ลดลงจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีน

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ปี 2561 มีจำนวน 6.15 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับ ปี 2560 ลดลงร้อยละ 11.00 สาเหตุจากปริมาณคำสั่งซื้อที่ลดลงตามยอดจำหน่ายของร้านค้าปลีกในประเทศที่ชะลอตัว

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ปี 2561 มีจำนวน 1.34 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับ ปี 2560 ลดลงร้อยละ 1.47 สาเหตุจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศ และภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายภาคครัวเรือน

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ปี 2561 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,709.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับ ปี 2560 ลดลงร้อยละ 2.53 แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนและชิ้นส่วน 972.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 3.65 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ 157.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจาก ปีก่อนร้อยละ 6.68 และมูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ 2,580.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจากปีก่อนร้อยละ 4.38 ในภาพรวมการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มีการปรับลดลง โดยเฉพาะการส่งออก ไม้แปรรูปไปยังจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนปี 2562

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ในปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 คาดว่าจะมีปริมาณลดลง โดยมีสาเหตุจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยังไม่มีแนวโน้ม จะยุติซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับปริมาณการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีน

อุตสาหกรรมยา

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศ ปี 2561คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดเมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา

การผลิตยา ในปี 2561 คาดว่าจะ มีปริมาณ 47,357.85 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.49 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด ยาครีม และยาผง ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของยาเม็ดที่ผู้ผลิตบางรายสามารถทำตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้มีการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตยาน้ำมีปริมาณลดลง เนื่องจากยังมีการจำกัดปริมาณการจำหน่ายในยาน้ำบางชนิด

การจำหน่ายยา ในปี 2561 คาดว่าจะมีปริมาณ 46,651.20 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.77 ในภาพรวมการจำหน่ายยาของผู้ผลิตในประเทศยังขยายตัวได้ โดยมีการจำหน่ายยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด และยาผง เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของตลาดยาในประเทศ ในขณะที่มีการจำหน่ายยาน้ำและยาครีมลดลง ตามคำสั่งซื้อที่ลดลง

การส่งออกยาในปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่า 395.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.39 จากการขยายตัวที่ดีของตลาดเมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง สำหรับการนำเข้ายามีมูลค่า 1,815.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อนร้อยละ 14.03 โดยส่วนมากเป็นการนำเข้ายาต้นแบบจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส และการนำเข้ายาชื่อสามัญราคาถูกจากอินเดีย

แนวโน้มอุตสาหกรรมยา ปี 2562

สำหรับการผลิตยาในปี 2562 คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายาของไทย

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง

ปริมาณการผลิตยางรถยนต์และถุงมือยาง ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามการขยายตัวของการส่งออกโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา สำหรับปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นปรับตัวลดลงตามปริมาณวัตถุดิบ ที่ออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาราคายางตกต่ำ และการสั่งซื้อเพื่อเก็บสต็อกที่ลดลงของจีน

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ในปี 2561 คาดว่าจะมีปริมาณ 1.34 ล้านตัน 35.02 ล้านเส้น และ 24.00 ล้านชิ้น ตามลำดับ ในส่วนของการผลิตยางรถยนต์และ ถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.54 และ 38.48 ตามลำดับ จากการขยายตัวที่ดีของตลาดส่งออก ในขณะที่การผลิต ยางแปรรูปขั้นต้นลดลงจากปีก่อนร้อยละ 6.29 จากปริมาณวัตถุดิบที่เข้าสู่ตลาดลดลงและการหดตัวของตลาดจีน

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ในปี 2561 คาดว่าจะมีปริมาณ 1.57 แสนตัน 23.20 ล้านเส้น และ 3,640.50 ล้านชิ้น ตามลำดับ ในส่วนของการจำหน่ายยางรถยนต์ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.10 จากสถานการณ์ยางรถยนต์ในตลาดทดแทนที่ยังชะลอตัว ในขณะที่การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นและถุงมือยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.33 และ 20.07 ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้น

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางในปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่า 4,828.89 5,055.85 และ 1,195.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนมูลค่าการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.24 และ 13.22 ตามลำดับ จากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นลดลงร้อยละ 19.96 จากการหดตัวลงของตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีใต้

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ปี 2562

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ในปี 2562 คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายางแปรรูปขั้นต้น และสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในสินค้ายางรถยนต์และถุงมือยางของไทย

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง

ปี 2561 การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.70 จากการผลิตเพื่อการส่งออกและการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับการผลิตกระเป๋าเดินทาง และรองเท้า มีการผลิตลดลง ร้อยละ 5.65 และ 2.49 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตัวเองได้เปลี่ยนวิธีการผลิต โดยจ้างประเทศเพื่อนบ้านผลิตแทนการผลิตในประเทศ

การผลิต

การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ปี 2561 มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.70 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออก และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

กระเป๋าเดินทาง* มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.65 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

รองเท้า มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 2.49 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตัวเองได้เปลี่ยนวิธีการผลิต โดยจ้างประเทศ เพื่อนบ้านผลิตแทนการผลิตเอง เช่น เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออก ปี 2561 มีมูลค่ารวม 1,764.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.57 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด และเครื่องใช้สำหรับเดินทางเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.38 และ 21.86 ตามลำดับ จากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

การนำเข้า ปี 2561 มีมูลค่ารวม 1,963.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.51 จากการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอก กระเป๋า และรองเท้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.05 14.82 และ 30.51 ตามลำดับ โดยมีตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน เวียดนาม และอิตาลี

แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ปี 2562

การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง ปี 2562 คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อการส่งออก และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทาง จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งชาวต่างชาติมีความนิยมในผลิตภัณฑ์เครื่องหนังของไทย และผลิตภัณฑ์หนัง Exotic เช่น หนังงู หนังปลากระเบน และหนังจระเข้ ส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีแนวโน้มชะลอตัว จากผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตัวเองได้เปลี่ยนวิธีการผลิต โดยการจ้างประเทศเพื่อนบ้านผลิตแทนการผลิตเอง เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่กระตุ้นการผลิต เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในตลาดจีนและตลาดหลักอื่น ๆ นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายของรัฐบาล และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2562 ได้

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

ปี 2561 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับในเชิงปริมาณจะหดตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากรูปแบบความต้องการสินค้าที่มีขนาดเล็ก เรียบง่าย แต่มีคุณค่าและเอกลักษณ์เฉพาะในตัวสินค้ามากขึ้น ในส่วนของ การส่งออก (ไม่รวมทองคำ) คาดว่าจะมีทิศทางขยายตัวสูงขึ้น จากมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบเพชรและพลอย และเครื่องประดับสำเร็จรูป ทั้งที่ทำด้วยอัญมณีแท้ และอัญมณีเทียม

การผลิต อัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2561 คาดว่าจะหดตัว ร้อยละ 8.05 เชิงปริมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้าให้มีขนาดเล็กลงสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

การจำหน่าย อัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2561 คาดว่าจะหดตัว ร้อยละ 5.67 เชิงปริมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเครื่องประดับที่เน้นรูปแบบ minimal ที่มีขนาดเล็ก เรียบง่าย แต่มีคุณค่าและเอกลักษณ์เฉพาะในตัวสินค้ามากขึ้น

การส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ปี 2561 คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.85 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบอัญมณีสำคัญ ได้แก่ เพชร และพลอย และเครื่องประดับสำเร็จรูป ทั้งที่ ทำด้วยอัญมณีแท้ และอัญมณีเทียม เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาในภาพรวม พบว่า มูลค่าการส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ร้อยละ 5.17 ตามความผันผวนของราคาทองคำในตลาดโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทองคำ ยังไม่ขึ้นรูปมีทิศทางลดลง

แนวโน้มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2562

การผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2562 คาดว่า จะมีทิศทางขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนสต็อกเดิมที่นำออกจำหน่ายเป็นจำนวนมากในปีก่อน สำหรับแนวโน้มการส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) คาดว่าจะมีทิศทางหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอการเติบโต และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา กัมพูชา เยอรมนี อินเดีย เบลเยียม จีน สหราชอาณาจักร จากผลกระทบต่อเนื่องของสถานการณ์ต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา เช่น กรณี Brexit กรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ขณะที่การส่งออกในภาพรวม คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัว จากราคาทองคำในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้น

อุตสาหกรรมอาหาร

ปริมาณการผลิตอุตสาหกรรมอาหารปี 2561ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 เพื่อรองรับผลิตผลทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารยังได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ความต้องการบริโภคขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การผลิตอาหาร ปี 2561 มีปริมาณ 40,212,383.241 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 14.21 (%YoY) เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ด้วยผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40-45 จากปีก่อน การผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ที่ผลผลิตมากกว่าปีก่อนมาก รวมทั้งการผลิตไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋องเพื่อรองรับความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

การจำหน่ายอาหารในประเทศ ปี 2561 มีปริมาณ 21,546,159.471 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 4.37 (%YoY) จากการจำหน่ายในกลุ่มน้ำตาล น้ำมันพืช ปศุสัตว์ นม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังซื้อในประเทศแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น

การส่งออก ปี 2561 มีมูลค่า 31,447.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ปี 2560 ร้อยละ 8.59 (%YoY) จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ อาทิ ข้าว ไก่แช่แข็งและแช่แย็น ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทรายดิบ แป้งมันสำปะหลัง ทุเรียนสด และสิ่งปรุงรสอาหาร จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ฟื้นตัว อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต

การนำเข้า ปี 2561 มีมูลค่า 14,007.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ปี 2560 ร้อยละ 7.15 (%YoY) จากปริมาณการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการของอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องที่ขยายตัวในปี 2561 รวมทั้งการนำเข้ากากพืชน้ำมัน รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์นม เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมนมและอาหารอื่น ๆ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2562

การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยบวกอย่างเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีก่อน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าด้วยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับแนวโน้มราคาส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง และสับปะรดกระป๋อง รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าสำคัญ เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง และซาร์ดีนกระป๋อง นอกจากนี้ คาดว่าสินค้าสำคัญอีกรายการที่จะกลับมาขยายตัวอย่าง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง จากการได้รับอานิสงค์ที่ผู้ผลิตรายใหญ่ (อินเดีย) ลดปริมาณการผลิตลง แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงอย่างความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้ง การเจรจาภายใต้กรอบ USMCA (United StatesMexico-Canada Agreement) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ความเสี่ยงจาก BREXIT ตลอดจนความผันผวนของราคาน้ำมัน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ