รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2561 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 6, 2019 14:43 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

บทสรุปผู้บริหาร

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 4/2561

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2561 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 2.43 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้ปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 2.80 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวร้อยละ 2.52 โดย อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาส ที่ 4/2561 อาทิ ยานยนต์ การผลิตเพิ่มขึ้นจากในเกือบทุกรายการสินค้า (ยกเว้นรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ และรถยนต์นั่งตรวจการณ์) เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่างมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง น้ำตาล เนื่องจากปีนี้เปิดหีบการผลิตเร็ว และโรงงานส่วนใหญ่ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น การกลั่นปิโตรเลียม ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเครื่องบินที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขนส่งเดินทาง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นจากน้ำอัดลม และน้ำดื่มให้กำลังงาน โดยเป็นผลจากปลายปีก่อน ผู้ผลิตรายหนึ่งเพิ่งเริ่มเปิดสายการผลิต และอยู่ในช่วงทดสอบเครื่องจักร ทำให้ยังผลิตสินค้าได้ไม่มาก มาในปีนี้สามารถทำการผลิตสินค้าได้เต็มความสามารถ รวมถึงมีการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตบางรายในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และเครื่องปรับอากาศ จากปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงปริมาณการส่งออกที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

แนวโน้มไตรมาสที่ 1/2562

เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะผลิตเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้างจากการขยายตัวของโครงการก่อสร้างของภาครัฐ อาทิ โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ EEC และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วง

เครื่องใช้ไฟฟ้า การผลิตและการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และ 4.8 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าของภาครัฐในช่วงปลายปี 2561 การจัดเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งคาดว่ารัฐบาลใหม่จะมีมาตรการอัดฉีดทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับแนวโน้มความตึงเครียดสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามีท่าทีที่ผ่อนคลายลง

อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า จะมีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ IC ตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก

รถยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 530,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45-50 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 50-55

รถจักรยานยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ กลุ่มเยื่อกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามทิศทางการตลาดจากประเทศคู่ค้าหลักทั้งจากจีนและตลาดอาเซียน ประกอบกับความต้องการของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีการใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษเพื่อการบรรจุและโลจิสติกส์ ค่อนข้างสูง สำหรับกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวตามผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปและสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เซรามิก การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศจีน ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับมูลค่าการนำเข้า คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกจากจีน

ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิต และการจำหน่าย คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากยังคงได้ปัจจัยบวก จากความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่างๆ ส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่ายังจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้น

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาพรวมการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า การผลิตเส้นใย สิ่งทอ และผ้าผืน จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน อาจส่งผลให้การค้า การลงทุนในตลาดดังกล่าวชะลอตัว ซึ่งจะมีผลต่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตสินค้าที่มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะ ขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มที่สามารถรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศได้

ไม้และเครื่องเรือนไม้ การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ แผ่นไม้คาดว่าจะมีปริมาณลดลง ตามแนวโน้มการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีนที่คาดว่าจะยังคงมีปริมาณลดลง

ยา การผลิตและจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.12 และ 0.26 ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวของการผลิตยาทุกชนิดตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดยาในประเทศ และตลาดส่งออกโดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา และฮ่องกง

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 1.60 และ 0.54 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นคาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 4.06 ตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่คาดว่าจะปรับลดลงของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีน

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การฟอกและตกแต่งหนังฟอกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาด CLMV ซึ่งกำลังขยายตัว เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางที่มีทิศทางการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจัยกระตุ้น ต่าง ๆ เช่น ช่วงเทศกาลสำคัญ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการขยายตัวของการท่องเที่ยว จากการที่ภาครัฐได้มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในตลาดจีนและตลาดหลักอื่น ๆ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผลิตภัณฑ์รองเท้ามีแนวโน้มการผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ การผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ จะมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการนำสินค้าบางรายการในสต๊อกออกจำหน่ายแทนการผลิตสินค้าใหม่ สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน จากความต้องการในช่วงตรุษจีน และวันวาเลนไทน์ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คาดว่า จะมีแนวโน้มหดตัว ตามการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความต้องการสินค้าที่ลดลง

อาหาร การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 1 ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 และ 3.8 ตามลำดับ จากปัจจัยบวกของการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่จะขยายตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV โดยเฉพาะสินค้าสำคัญอย่าง เนื้อไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง กุ้ง มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน ประกอบกับการปลดล็อกใบเหลืองประมงไทยของสหภาพยุโรป ที่ทำให้ประเทศคู่ค้าเกิดความเชื่อมั่นในสินค้าประมงไทยมากขึ้น และราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ แม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งภายนอกและภายในประเทศรุมเร้าเพิ่มขึ้น อย่างอุปสงค์ในประเทศของกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเริ่มทรงตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นตามการปรับขึ้นภาษีน้ำตาลและกระแสรักสุขภาพที่มีอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปจะทรงตัวจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อีกทั้งผู้ผลิตในไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดบางส่วนแก่ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอินเดียและอินโดนีเซียแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัวและเงินหยวนที่อ่อนค่าหลังเกิดข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อราคาและรายได้อีกด้วย

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2561

ดัชนีอุตสาหกรรมที่สำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 114.55 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (112.39) ร้อยละ 1.92 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (111.84) ร้อยละ 2.43

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ การผลิตน้ำแร่และน้ำดื่มบรรจุขวดประเภทอื่น ๆ รวมทั้งการแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น

ในปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 115.08 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (111.94) ร้อยละ 2.80 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 115.20 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (111.24) ร้อยละ 3.56 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (111.53) ร้อยละ 3.29

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ การผลิตน้ำแร่และน้ำดื่มบรรจุขวดประเภทอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร รวมทั้งการผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป เป็นต้น

ในปี 2561 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 113.74 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (111.07) ร้อยละ 2.40 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร รวมทั้งการผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 115.66 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (110.88) ร้อยละ 4.32 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (108.29) ร้อยละ 6.81

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

ในปี 2561ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 111.05 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (108.14) ร้อยละ 2.69 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร รวมทั้งการผลิตยางล้อและยางใน เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 68.35 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 66.44) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (ร้อยละ 67.35)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล รวมทั้งการแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตผลิตภัณฑ์จากยาสูบ เป็นต้น

ในปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 68.46 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (67.12) โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 93.23 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (92.40) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (87.33) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 106.67 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (102.70)

ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายในช่วงปลายปีและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดขายภายในประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มอาหาร กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

การค้าต่างประเทศ
"มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในภาพรวมการค้าต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยดุลการค้าไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขาดดุลการค้า 392.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ"

สถานการณ์การค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 125,145.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 62,376.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 62,768.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.0 และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 5.8 อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขาดดุลการค้า 392.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 62,376.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า สินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออก 5,831.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว ร้อยละ 4.0 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออก 4,380.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออก 49,142.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.8 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 3,022.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 18.4

สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ที่มีมูลค่าปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่การส่งออกขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่าการส่งออก 2,893.7 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.0) อัญมณีและเครื่องประดับ (มูลค่าการส่งออก 2,841.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4) เม็ดพลาสติก (มูลค่า การส่งออก 2,493.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3) เคมีภัณฑ์ (มูลค่าการส่งออก 2,409.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 1,985.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0)

ตลาดส่งออก

ไตรมาสที่ 4 ปี 2561การส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 27.8 12.4 11.7 9.5 และ 10.2 ตามลำดับ เมื่อรวมสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลัก คิดเป็นร้อยละ 71.6 และส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของการส่งออกทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกไปยังตลาดหลักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ทั้งนี้การส่งออกไปยังอาเซียน (9 ประเทศ) มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 9.4 รองลงมา คือ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 8.4 และ 6.7 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปจีนและสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) หดตัวลงร้อยละ 4.6 และ 3.2 ตามลำดับ

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 62,768.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า การนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้า 11,674.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.9 สินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้า 16,135.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.7 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้า 23,596.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.1 สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าการนำเข้า 7,412.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 8.4 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีมูลค่า การนำเข้า 3,822.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.7 และสินค้าหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 127.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 56.0

แหล่งนำเข้า

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 20.8 18.4 14.7 8.2 และ 6.3 ตามลำดับ เมื่อรวมสัดส่วนการนำเข้าไปยังตลาดสำคัญ คิดเป็นร้อยละ 68.4 และนำเข้าจากตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 31.6 ของการนำเข้าทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า แหล่งนำเข้าสำคัญของไทยมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 11.0 รองลงมา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (9 ประเทศ) ซึ่งมีมูลค่านำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 9.0 และ 7.5 ตามลำดับ ขณะที่สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) มีมูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ 10.5

เศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 4 ปี 2561

ภาวะเศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลิตและการส่งออกในหลายประเทศที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00-2.25% ตามพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งขึ้น อีกทั้ง หลายประเทศส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เพื่อกระตุ้นการลงทุนและรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค ประกาศปรับลดปริมาณการผลิตลง นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา อาจส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบไตรมาส 4 ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 67.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 59.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบช่วงเดือนธันวาคม อยู่ที่ 49.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบ ความไม่แน่นอนของ Brexit ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ในกรอบที่จำกัด

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 จากการผลิตเหล็กทรงแบนลดลง เช่น เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน แต่การผลิตเหล็ก ทรงยาวปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการผลิตลวดเหล็ก ลวดเหล็กแรงดึงสูง และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ดัชนีการผลิต

การผลิต ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 112.2 ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.8 (%YoY) และลดลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 11.2 (%QoQ) โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเหล็กทรงแบนลดลงร้อยละ 2.8 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 35.7 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 13.2 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาถูกเพิ่มขึ้น เช่น จีน เวียดนาม สำหรับเหล็กทรงยาว การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น คือ ลวดเหล็ก เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 รองลงมา คือ ลวดเหล็กแรงดึงสูง และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และ 3.8 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งการก่อสร้างพื้นฐานภาครัฐ และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน

การจำหน่าย ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีปริมาณ 4,199,533 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 (%YoY) แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 9.1 (%QoQ) โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยการจำหน่ายเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่น เคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 (เพิ่มขึ้นทั้งจากการผลิต และการนำเข้า โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน) เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรม อาหารทะเลกระป๋อง ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดบาง และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 และ 12.0 ตามลำดับ แต่การจำหน่ายเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 4.3 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลดลงร้อยละ 1.4 และ เหล็กลวด ลดลงร้อยละ 0.9

การนำเข้าไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.2 (%YoY) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 2.2 (%QoQ) โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น คือ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.1 (นำเข้าเพิ่มขึ้นจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel และลวดเหล็ก เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.7 และ 11.2 สำหรับการนำเข้าเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.8 (นำเข้าเพิ่มขึ้นจากจีน เกาหลีใต้ และสเปน) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดบาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.2 และ 23.2 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 1 ปี 2562 คาดการณ์ว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะผลิตเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้างจากการขยายตัวของโครงการก่อสร้างของภาครัฐ อาทิ โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ EEC และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วง

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับ ปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศยังชะลอตัว โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ สายไฟฟ้า เครื่องซักผ้า มอเตอร์ไฟฟ้า ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ และคอมเพรสเซอร์ ในขณะที่สินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระติกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ พัดลมตามบ้าน และหม้อหุงข้าว ส่วนการส่งออกมีมูลค่าลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป

ดัชนีผลผลิต มูลค่าการนำเข้า และมูลค่าการส่งออก การจำหน่ายในประเทศ ของเครื่องใช้ไฟฟ้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 3,984.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 3.3 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.8 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาส 4 ปี 2561ดัชนีผลผลิตอยู่ที่98.4 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 0.3 (%QoQ) และลดลงร้อยละ 2.1 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศยังชะลอตัว สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สายไฟฟ้า เครื่องซักผ้า มอเตอร์ไฟฟ้า ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ และคอมเพรสเซอร์ ลดลงร้อยละ 19.3, 18.3, 12.0, 6.8, 1.4 และ 0.9 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้ากระติกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ พัดลมตามบ้าน และหม้อหุงข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1, 14.1, 11.7 และ 0.1 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มในตลาดญี่ปุ่นเนื่องจากการเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในปี 2020 การจำหน่ายในประเทศ ไตรมาส 4 ปี 2561 สินค้าที่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เตาไมโครเวฟ คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และหม้อหุงข้าว ลดลงร้อยละ 27.6, 14.2, 13.9, 5.6 และ 4.5 ยกเว้น กระติกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ และพัดลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5, 16.8 และ 6.2 ตามลำดับ

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาส 4 ปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 5,936.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 3.1 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.3 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ลดลง ร้อยละ 15.1, 14.5 และ 4.0 โดยสินค้าตู้เย็นลดลงร้อยละ 5.4 และเครื่องซักผ้าลดลงร้อยละ 30.1 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 81.0 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการ Safeguard ที่สหรัฐอเมริกามีต่อไทย ในขณะที่สินค้าเครื่องปรับอากาศมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.9 แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

อุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 คาดว่า การผลิตและการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และ 4.8 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าของภาครัฐในช่วงปลายปี 2561 การจัดเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งคาดว่ารัฐบาลใหม่จะมีมาตรการ อัดฉีดทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับแนวโน้มความตึงเครียดสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามีท่าทีที่ผ่อนคลายลง

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4ปี 2561 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้ง HDD และ Other IC จากผลกระทบมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อห่วงโซ่การส่งออกของไทย ในขณะที่ PCBA, Printer, Monolithic IC และ Semiconductor ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

ดัชนีผลผลิต มูลค่าการนำเข้า และมูลค่าการส่งออก อิเล็กทรอนิกส์

การนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่าการนำเข้า 9,830.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 1.9 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.5 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นคือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.9 และวงจรรวม (IC) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 103.5 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 8.9 (%QoQ) และลดลงร้อยละ 0.4 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD และ Other IC ร้อยละ 12.8 และ 3.4 ในขณะที่ PCBA, Printer, Monolithic IC และ Semiconductor ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9, 11.3, 2.5 และ 2.1 ตามลำดับ โดย IC ยังคงใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 9,242.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 5.2 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.8 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 20.8, 5.4, 4.8, 4.4 และ 3.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.8 วงจรรวม โดย HDD และ IC ปรับตัวลดลง 17.9 และ 5.9 โดยลดในตลาดจีนถึงร้อย 36.9 และ 23.5 ตามลำดับ ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อห่วงโซ่การส่งออกของไทย ในขณะที่เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.1 โดยลดลงในตลาดญี่ปุ่นและอาเซียน ร้อยละ 27.2 และ 14.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 คาดว่า จะมีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ IC ตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก

อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

ปริมาณการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561มีปริมาณการผลิตขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดในประเทศมีการขยายตัว เนื่องมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่มีการชะลอตัวในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

การผลิตรถยนต์

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 563,578 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 2.93 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 10.27 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 39 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 59 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 2

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 295,155 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 14.64 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.62 (%YoY) แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ร้อยละ 40 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 41 รถ PPV และ SUV ร้อยละ 14 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 5

การส่งออกรถยนต์

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 281,853 คัน ลดลงจากไตรมาส ที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 5.04 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.71 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่ง ร้อยละ 36 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 54 และรถ PPV ร้อยละ 10

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 2,471.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 6.01 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.64 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 3,052.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 2.57 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.82 (%YoY) โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

จากการคาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประมาณการในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 530,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45-50 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 50-55

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561มีปริมาณการผลิตชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออก อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศมีการชะลอตัว

การผลิตรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 505,795คัน ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 0.88 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 0.62 (%YoY)

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 422,223 คัน ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 2.13 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 0.49 (%YoY)

การส่งออกรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 241,399 คัน (เป็นการส่งออก CBU 98,088 คัน และ CKD 143,311 ชุด) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 23.53 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.46 (%YoY)

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 208.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 13.36 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.47 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ กัมพูชา ญี่ปุ่น และ อินโดนีเซีย

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 154.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 17.64 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.50 (%YoY) โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

จากการคาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประมาณการในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

มูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4ปี 2561ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2561แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.67 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2560 โดยตลาดหลักในการส่งออก ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 9.40 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2560 โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ ตามลำดับ

การตลาดและการจำหน่าย

การส่งออกเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 2,124.45 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 4.30 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.67 (%YoY) แบ่งเป็นเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน 1,190.01 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.20 ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย 934.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 14.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2561 โดยเคมีภัณฑ์ขั้นปลายที่ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงที่สำคัญ ได้แก่ สี และเครื่องสำอาง ตามลำดับ

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 3,877.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 9.40 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.49 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน 2,522.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.66 และเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย 1,355.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งลดลงร้อยละ 12.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2561 โดยเคมีภัณฑ์ขั้นปลายที่ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงที่สำคัญ ได้แก่ ปุ๋ย สี และเครื่องสำอาง ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเคมีภัณฑ์จะมีมูลค่ารวมประมาณ 2,100 และ 4,145 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.00 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก และผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นในการผลิตและส่งออกของไทย

อุตสาหกรรมพลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีปริมาณการส่งออกและนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้าเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ASEAN มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต จึงช่วยหนุนปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

ดัชนีผลผลิต ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ลดลงร้อยละ 5.17 (%QoQ) จากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 และลดลงร้อยละ 3.02 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีผลผลิตที่ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ลดลงร้อยละ 0.96 (%QoQ) จากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 และลดลงร้อยละ 3.30 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.08 (%QoQ) จากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 แต่ลดลงร้อยละ 0.63 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่น

ปริมาณการส่งออก ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีปริมาณ 294,857 ตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 1.60 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.29 (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ชนิดยึดติดในตัว (3919) และแผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920)

ปริมาณการนำเข้าไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีปริมาณ 218,659 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 3.69 (%QoQ) และ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.21 (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) พลาสติกปูพื้น (3918) และเครื่องประกอบอาคาร(3925)

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 คาดว่ามีปริมาณการส่งออกและนำเข้าประมาณ 299,280 ตัน และ 223,032 ตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการปรับขึ้นราคาสินค้าจากปัญหาสงครามการค้า อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงได้

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ราคาแนฟทาของตลาดเอเชีย ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชีย และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

มูลค่าการส่งออก ไตรมาส 4 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 2,994.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.71 (%YoY)

มูลค่าการนำเข้า ไตรมาส 4 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 1,261.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.25 (%YoY)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เกิดจากตลาดส่งออกหลักมีการขยายตัว ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประเทศกัมพูชา และอินเดีย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันส่งผลต่อมูลค่าส่งออก และนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

ราคาสินค้า ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 แนฟทา (Naphtha) ของตลาดเอเชีย มีราคาเฉลี่ย 18.92 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากราคาเฉลี่ย 21.95 บาท/กิโลกรัม ตามการปรับลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนราคา เอทิลีนและโพรพิลีนของตลาดเอเชียในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 28.97 และ 30.72 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 พบว่า ราคาเอทิลีนปรับตัวลดลงจากราคา 38.85 บาท/กิโลกรัม ส่วนโพรพิลีนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคา 27.45 บาท/กิโลกรัม

สำหรับราคาเม็ดพลาสติก PE และ PP ไตรมาส 4 ปี 2561 (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, LLDPE, HDPE และ PP มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 36.16, 36.05, 39.60 และ 39.88 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่าราคาเฉลี่ยของ LDPE, LLDPE และ HDPE ปรับตัวลดลงจากระดับราคา 42.13, 39.52 และ 40.57 บาท/กิโลกรัมตามลำดับ ส่วน PP ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับราคา 39.54 บาท/กิโลกรัม

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 1 ปี 2562

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 1 ปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 3,300.239 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 1,317.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.88 และ 13.82 ตามลำดับ ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทยไปยังประเทศคู่ค้าหลักยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม คือ การปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชียและภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะมาตรการภาษีนำเข้าซึ่งจะนำไปสู่การการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

การผลิตเยื่อและกระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเยื่อกระดาษ และกล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งมีทิศทางเดียวกับการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลักเติบโตต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคในประเทศขยายตัว ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2562

แนวโน้มไตรมาสที่ 1 ปี 2562 กลุ่มเยื่อกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามทิศทางการตลาดของผู้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักทั้งจากจีนและตลาดอาเซียน ประกอบกับความต้องการของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีการใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษเพื่อการบรรจุและโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง สำหรับกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวตามผู้บริโภคที่ปรับ เปลี่ยนไปและสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

การผลิตเยื่อและกระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากกล่องกระดาษลูกฟูก และกระดาษพิมพ์เขียน ร้อยละ 1.22 และ 6.31 ตามลำดับ (%QoQ) ในขณะที่ (%YoY) ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเยื่อกระดาษ และกล่องกระดาษลูกฟูก ร้อยละ 15.85 และ 4.09 ตามลำดับ ตามความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ใช้บรรจุเพื่อการขนส่งและปกป้องสินค้า ซึ่งในปัจจุบันมีรูปแบบและความหลากหลายมากขึ้น

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 570.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.64 (%QoQ) โดยเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ร้อยละ 2.73 และ 2.80 ตามลำดับ จากการส่งออกเยื่อกระดาษชนิดเยื่อไม้เคมีละลายน้ำได้ และเมื่อเทียบ (%YoY) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 ในกลุ่มเยื่อกระดาษ ไปยังตลาดจีน (คู่ค้าหลัก) หนังสือและสิ่งพิมพ์ ส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม โบรชัวร์ แผ่นปลิว รูปลอก รวมถึงหนังสือภาพ สมุดวาดเขียน หรือสมุดระบายสีสำหรับเด็ก จะส่งออกไปยังประเทศฮ่องกง และมาเลเซียเป็นหลัก ในขณะที่กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ส่งออกชะลอตัวเล็กน้อย ร้อยละ 1.69 โดยส่งออกไปยังเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

การนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 671.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.37 (%QoQ) และลดลงร้อยละ 1.63 (%YoY) จากการนำเข้าที่ลดลงในกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ หนังสือและสิ่งพิมพ์รวมถึงภาพพิมพ์และภาพถ่าย และรูปลอกต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษ กระดาษชำระ และผลิตภัณฑ์กระดาษอื่น ๆ นำเข้าเพิ่มขึ้น ทั้ง (%QoQ) และ (%YoY) ร้อยละ 8.92 และ 9.81 ตามลำดับ และคาดว่าจะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในไตรมาสหน้า

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ค.ร.ม.มีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ปี 2562 จำนวน 52 รายการ โดยมีเยื่อกระดาษ เป็นรายการสินค้าที่ยกเลิกควบคุมราคาเนื่องจากราคาค่อนข้างทรงตัวและมีภาวะการค้าปกติ จึงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาดและมีการแข่งขันซึ่งภาคการผลิตควรติดตามสถานการณ์ราคาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการ การผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อุตสาหกรรมเซรามิก

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเซรามิกในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวจากการผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่นและจีน โดยเครื่องสุขภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดจากการขยายตัวไปยังประเทศจีน และคาดว่าจะยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การผลิต ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการผลิต 29.62 ล้านตารางเมตร ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 17.79 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.82 (%YoY) ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิต 1.91 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 1.23 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 0.43 จากการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศจีน

การจำหน่าย ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 กระเบื้องบุพื้น บุผนัง มีปริมาณการจำหน่าย 38.87 ล้านตารางเมตร ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 4.25 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.46 (%YoY) จากความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ในขณะที่ เครื่องสุขภัณฑ์มีจำนวน 1.05 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 4.94 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.66

การส่งออก ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 การส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีมูลค่า 23.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 5.59 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 2.29 จากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของ สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งเป็นตลาดหลัก ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีมูลค่า 54.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 2.39 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 9.11 และมีแนวโน้มที่จะขยายตัว อย่างต่อเนื่อง จากยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากจีน และกัมพูชา

แนวโน้มอุตสาหกรรมเซรามิก ไตรมาส 1 ของปี 2562

การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ ไตรมาส 1 ของปี 2562 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศจีน ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับมูลค่าการนำเข้า คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกจากจีน

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน มีการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยได้ปัจจัยบวกจากความคืบหน้าของการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐ การส่งออกหดตัวจากคำสั่งซื้อที่หายไปของตลาดส่งออกหลักที่ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนเข้าไปในประเทศ

การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 9.76 ล้านตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 2.91 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน ร้อยละ 1.54 (%YoY) เพื่อรองรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐต่างๆ ที่มีความคืบหน้าตามลำดับ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 8.45 ล้านตัน ลดลงจาก ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 3.99 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 3.25 (%YoY)

การส่งออก - นำเข้าปูนซีเมนต์ ( ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาส ที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่าจากการส่งออก 60.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.33 (%QoQ) เมื่อเทียบกับไตรมาส ที่ 2 ปี 2561 แต่ลดลงร้อยละ 24.62 (%YoY) จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการที่ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศที่เคยเป็นตลาดหลักสำคัญของไทยมาก่อน โดยมูลค่าส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงจากประเทศ กัมพูชา ร้อยละ 32.06 สปป.ลาว ร้อยละ 23.83 และ เมียนมา ร้อยละ 17.28 ส่วนการนำเข้าปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีมูลค่า 17.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 68.90 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.66 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจาก สปป.ลาว ร้อยละ 16.48

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณการผลิต และการจำหน่าย คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากยังคงได้ปัจจัยบวกจากความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่าง ๆ ส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่ายังจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืน ชะลอตัวตามแนวโน้มคำสั่งซื้อจากประเทศผู้ผลิตที่คาดว่าจะลดลงจากสถานการณ์ทางการเมืองและการค้าของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ ในส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มีการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้น จากการรับจ้างออกแบบและผลิตให้แบรนด์ต่างประเทศ

การผลิตและจำหน่ายในประเทศ

เส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืน มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 11.44 และ 5.43 (YoY) ในส่วนดัชนีการจำหน่ายในประเทศ ลดลงเช่นกัน ร้อยละ 20.68 และ 29.12 (YoY) ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการในประเทศลดลง ประกอบกับคำสั่งซื้อวัตถุดิบของตลาดผู้ผลิตเสื้อผ้าสำคัญ เช่น ตุรกี บังคลาเทศ เวียดนาม ที่มีแนวโน้มลดลงจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.07 จากการผลิตเสื้อผ้าบุรุษและสตรีในรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิต เพื่อส่งออกให้แบรนด์ต่างประเทศ

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,766.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.35 (YoY) ซึ่งหากพิจารณากลุ่มสิ่งทอ พบว่า ขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.03 ผลิตภัณฑ์ที่ขยายตัว ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ โดยเฉพาะกลุ่มเส้นใยที่มีสมบัติพิเศษ ขยายตัวในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และเวียดนาม ในส่วนผ้าที่ผลิตจากฝ้าย ขยายตัวเนื่องจากราคาฝ้ายในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ความต้องการผ้าฝ้ายจากผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในบังคลาเทศเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัว ร้อยละ 6.86 เป็นผลมาจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปบุรุษและสตรี ที่ไทยได้รับพิจารณาจากแบรนด์ต่างประเทศให้เป็นแหล่งผลิตในรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิตทำให้การส่งออกในตลาดญี่ปุ่น และจีน ขยายตัว

การนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,391.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.47 (YoY) โดยเป็นการนำเข้าด้ายและเส้นใยคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกา และผ้าผืนจากจีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออก และมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบรนด์ดังระดับโลกและระดับภูมิภาคมาจำหน่ายตามทิศทางความต้องการสินค้าหรูของผู้บริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้มไตรมาส 1 ปี 2562

ภาพรวมการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน อาจส่งผลให้การค้า การลงทุนในตลาดดังกล่าวชะลอตัว ซึ่งจะมีผลต่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตสินค้าที่มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะ ขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มที่สามารถรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศได้

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ปรับลดลงจากการชะลอตัวของตลาดในต่างประเทศ ในขณะที่การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นตลาดในช่วงปลายปี สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้มีปริมาณลดลงโดยเฉพาะการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีน

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 1.52 ล้านชิ้น ขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.01 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับลดลงร้อยละ 7.32 จากการชะลอตัวของตลาดในต่างประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 0.35 ล้านชิ้น ขยายตัวจากไตรมาสก่อนและ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.06 และ 2.94 ตามลำดับ เป็นผลจากการจัดงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์เพื่อกระตุ้นตลาดในช่วงปลายปี

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 796.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.18 และ 19.13 ตามลำดับ แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนและชิ้นส่วน 239.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.34 และ 3.14 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ 39.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.64 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัว ร้อยละ 0.75 และมูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ 518.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจากทั้งไตรมาสก่อนและ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.34 และ 25.88 ตามลำดับ ในภาพรวมการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มีการปรับลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไม้แปรรูปไปยังประเทศจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้คาดว่าจะมีปริมาณลดลง ตามแนวโน้มการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีนที่คาดว่าจะยังคงมีปริมาณลดลง

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างการจัดทำราคากลางของไม้ยืนต้นแต่ละชนิด เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงในการตีราคาของไม้ก่อนที่จะนำไม้มาคิดเป็นมูลค่าในการยื่นกู้หรือใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อรองรับการส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย

อุตสาหกรรมยา

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามการปรับเพิ่มกำลังการผลิตและการขยายตัวที่ดีของตลาดยาในประเทศ สำหรับการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดเมียนมา กัมพูชา และญี่ปุ่น ในขณะที่ตลาดเวียดนามยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

การผลิตยา ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 13,467.27 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.98 และ 13.83 ตามลำดับ ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดยา ทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตยาเม็ดและยาน้ำเป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตยารายใหญ่ของไทยบางรายมีการขยายกำลังการผลิตในช่วงไตรมาสนี้

การจำหน่ายยา ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 11,753.34 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.01 ในขณะที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.79 ในภาพรวมการจำหน่ายยาของผู้ผลิตในประเทศยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะในส่วนของยาแคปซูลและยาผง

การส่งออกยาไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 110.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.65 และ 8.93 ตามลำดับ ในภาพรวมการส่งออกยา มีการขยายตัวที่ดีจากการขยายตัว ของตลาดเมียนมา กัมพูชา และญี่ปุ่น ในส่วนของการนำเข้ายามีมูลค่า 424.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.20 และ 5.76 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้ายาจากเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเยอรมนีซึ่งใน ไตรมาสนี้มีมูลค่าการนำเข้ายาสูงถึง 60.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 14.27 ของมูลค่าการนำเข้ายาจากต่าง ประเทศของไทยทั้งหมดในไตรมาสนี้

แนวโน้มอุตสาหกรรมยา ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

สำหรับการผลิตและจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.12 และ 0.26 ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวของการผลิตยาทุกชนิดตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดยาในประเทศ และตลาดส่งออกโดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา และฮ่องกง

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยา

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งร่างพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและผ่านการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตถุงมือยางในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวที่ดีของตลาดส่งออก ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางรถยนต์ลดลงตามการหดตัวของตลาด Replacement และการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงตามการชะลอตัวของตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 3.37 แสนตัน 7.98 ล้านเส้น และ 6.03 พันล้านชิ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นมีปริมาณลดลงร้อยละ 16.16 ตามการหดตัวลงของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การผลิตยางรถยนต์ปรับลดลงร้อยละ 7.95 ตามการหดตัวของตลาด Replacement และในส่วนของการผลิตถุงมือยางมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.75 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดส่งออก

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีจำนวน 34.55 พันตัน 5.50 ล้านเส้น และ 795.25 ล้านชิ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางในประเทศมีปริมาณลดลงร้อยละ 7.12 5.00 และ 12.88 ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ที่ลดลง และการหดตัวของตลาด Replacement และฐานตัวเลขของปี 2560 ที่ค่อนข้างสูง

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 1,087.91 1,354.71 และ 308.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.95 และ 11.06 ตามลำดับ จากการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.22 จากการปรับลด คำสั่งซื้อลงของจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

การผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.60 และ 0.54 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นคาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 4.06 ตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่คาดว่าจะปรับลดลงของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีน

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง

ไตรมาส 4 ปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เล็กน้อย ร้อยละ 0.15 เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออก และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับกระเป๋าเดินทาง* มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 79.21 จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รับคำสั่งให้ผลิตกระเป๋าชำร่วยจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนรองเท้ามีดัชนีผลผลิตลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.33 เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

การผลิต

การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.15 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตเพื่อ การส่งออก และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับกระเป๋าเดินทาง* มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 79.21 จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รับคำสั่งให้ผลิตกระเป๋าชำร่วยจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่

รองเท้า มีดัชนีผลผลิตลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.33 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออกมีมูลค่ารวม 451.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.98 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.76 4.64 และ 1.38 ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีเวียดนาม จีน สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

การนำเข้ามีมูลค่ารวม 486.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.95 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าวัตถุดิบหนังดิบและหนังฟอก กระเป๋า และรองเท้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.80 21.28 และ 55.22 ตามลำดับ จากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การขยายตัวของการท่องเที่ยว และความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว

แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 1 ปี 2562

การฟอกและตกแต่งหนังฟอกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาด CLMV ซึ่งกำลังขยายตัว เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางที่มีทิศทางการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ช่วงเทศกาลสำคัญ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการขยายตัวของการท่องเที่ยว จากการที่ภาครัฐได้มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในตลาดจีนและตลาดหลักอื่น ๆ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผลิตภัณฑ์รองเท้ามีแนวโน้มการผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

การส่งออก (ไม่รวมทองคำ) แม้จะหดตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่มีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวทางธุรกิจที่เน้นสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งเครื่องประดับแท้และเครื่องประดับเทียม

การผลิต การจำหน่าย

การผลิต อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2561 ในเชิงปริมาณ ขยายตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 12.16 (%QoQ) จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลปลายปี ตรุษจีน และวันวาเลนไทน์ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 10.22 (%YoY) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อในตลาดหลักหลายแห่งลดลง

การจำหน่าย อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2561 ขยายตัว ร้อยละ 8.75 (%QoQ) ตามความต้องการที่สูงขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปี แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า หดตัว ร้อยละ 11.92 (%YoY) ในเชิงปริมาณ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมานิยมสวมใส่สินค้าเครื่องประดับแบบน้อยชิ้น แต่มีดีไซน์และเรื่องราวที่น่าสนใจ (minimal)

การส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ไตรมาส 4 ปี 2561 หดตัว ร้อยละ 14.31 (%QoQ) จากความไม่มั่นใจของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.97 (%YoY) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปรับตัวทางธุรกิจที่เน้นสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งเครื่องประดับแท้และเครื่องประดับเทียม และเมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ หดตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.46 (%QoQ) เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาทองคำเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในไตรมาสก่อน ทำให้มีความต้องการบริโภคลดลงในตลาดหลัก แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.46 (%YoY)

แนวโน้มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2562

ไตรมาส 1 ปี 2562 คาดว่า การผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ จะมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการนำสินค้าบางรายการในสต๊อกออกจำหน่ายแทนการผลิตสินค้าใหม่ สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน จากความต้องการในช่วงตรุษจีน และวันวาเลนไทน์ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คาดว่า จะมีแนวโน้มหดตัว ตามการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความต้องการสินค้าที่ลดลง

อุตสาหกรรมอาหาร

ปริมาณการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 จากการเติบโตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 3 เป็นผลจากวัตถุดิบผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น เช่น การเปิดหีบอ้อยของสินค้าน้ำตาล ต้นฤดูกาลของสับปะรดและปาล์มน้ำมัน และ ความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกเริ่มโตเต็มศักยภาพและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอลง และยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาบางส่วน

การผลิตอาหาร ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีปริมาณ 8,488,014.3 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 40.0 (%QoQ) เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลออกผลผลิตสินค้าสำคัญ เช่น การเปิดหีบอ้อยของสินค้าน้ำตาล ต้นฤดูกาลของสับปะรด และปาล์มน้ำมัน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 (%YoY) ตามความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ซาร์ดีนกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง ไก่แปรรูป น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ นมพร้อมดื่ม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประกอบกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบ เนื่องจากปีนี้เข้าช่วงเปิดหีบอ้อยเร็วกว่าปีก่อน ด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง

การจำหน่ายในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีปริมาณ 5,087,907.2 ตัน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561ร้อยละ 1.2 (%QoQ) แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.9 (%YoY) จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง นมพร้อมดื่ม น้ำผลไม้กระป๋อง น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ เนื่องจากเศรษฐกิจภาพรวมมีกำลังซื้อในประเทศแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคที่เริ่มดีขึ้น

การส่งออกไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 7,728.1 ล้านเหรียญ ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 2.0 (%QoQ) จากการส่งออกสินค้าสำคัญที่ลดลง อาทิ ข้าวขาว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทราย สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋องและแปรรูป และทุเรียนสด แต่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2 (%YoY) จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของสินค้าทั้งปริมาณและมูลค่า อาทิ ข้าวขาว แป้งมันสำปะหลัง ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์ข้าว และสิ่งปรุงรสอาหาร รวมทั้งสินค้าที่ปริมาณลดลงแต่มูลค่าเพิ่มขึ้นอาทิ ข้าวหอมมะลิ ทุเรียนสด และลำไยสด เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกเริ่มโตเต็มศักยภาพและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอลง และยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาบางส่วน

การนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีมูลค่า 3,524.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ร้อยละ 5.5 (%QoQ) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 (%YoY) จากการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ขนมหวานและช็อกโกแลต เพื่อรองรับการขยายตัวของการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 1 ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 และ 3.8 ตามลำดับ จากปัจจัยบวกของการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่จะขยายตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV โดยเฉพาะสินค้าสำคัญอย่าง เนื้อไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง กุ้ง มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน ประกอบกับการปลดล็อกใบเหลืองประมงไทยของสหภาพยุโรป ที่ทำให้ประเทศคู่ค้าเกิดความเชื่อมั่นในสินค้าประมงไทยมากขึ้น และราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ แม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งภายนอกและภายในประเทศรุมเร้าเพิ่มขึ้น อย่างอุปสงค์ในประเทศของกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเริ่มทรงตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นตามการปรับขึ้นภาษีน้ำตาลและกระแสรักสุขภาพที่มีอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปจะทรงตัวจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อีกทั้งผู้ผลิตในไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดบางส่วนแก่ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอินเดียและอินโดนีเซียแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัวและเงินหยวนที่อ่อนค่าหลังเกิดข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อราคาและรายได้อีกด้วย

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ