ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนกันยายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 30, 2020 14:32 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2563 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)หดตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) เดือนมิถุนายน การผลิตหดตัวร้อยละ 17.8 เดือนกรกฎาคม หดตัวร้อยละ 12.9 และเดือนสิงหาคม หดตัวร้อยละ 9.1

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายน ขยายตัวร้อยละ 4.0 เดือนกรกฎาคม ขยายตัวร้อยละ 5.3 และเดือนสิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 5.2

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกันยายน 2563 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

  • รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 13.1 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบต่อความต้องการใช้รถยนต์ลดลง โดยสินค้าหลักที่ลดลงได้แก่ รถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล
  • น้ำมันปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 9.1 จากน้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตาและน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 เป็นหลัก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบกับการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงกว่าช่วงปกติและการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
  • น้ำตาล หดตัวร้อยละ 63.8 เนื่องจากผลผลิตอ้อยในปีนี้มีน้อย ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลทรายดิบ ที่มีอยู่นำมาแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายได้น้อยกว่าปีก่อน

อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนกันยายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

  • เภสัชภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 เนื่องจากปีก่อนผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตเพื่อเตรียมย้ายโรงงาน ไปยังสถานที่ตั้งแห่งใหม่และกลับมาผลิตปกติแล้วในปีนี้ รวมถึงได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ
  • เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 จากตู้เย็นที่มีความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และเครื่องซักผ้าที่มีการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ๆ และมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากมาเลเซียและญี่ปุ่น

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนกันยายน 2563

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 1,306.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวจากเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และส่วนประกอบ เครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว และ ตลับลูกปืน เป็นต้น
  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 6,294.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวจากเหล็กและเหล็กกล้า และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ โรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 331 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ร้อยละ 59.9 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.64 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่ารวม 15,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ร้อยละ 19.82 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 30.44 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนกันยายน 2563 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 29 โรงงาน และอุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 25 โรงงาน"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2563 คือ อุตสาหกรรมผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ และโรงงานส่งหรือจำหน่ายก๊าซ จำนวนเงินทุน 1,792.75 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวนเงินทุน 1,634.81 ล้านบาท

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนกันยายน 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 51 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ร้อยละ 41.67 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่ารวม 1,723 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ร้อยละ 103.22 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.39 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่มีการเลิกประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนกันยายน 2563 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม และอุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน ทั้งสองอุตสาหกรรมจำนวน 5 โรงงานเท่ากัน

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนกันยายน 2563 คือ อุตสาหกรรมการหั่น ผสม รีดให้เป็นแผ่น หรือตัดแผ่น ยางธรรมชาติ มูลค่าเงินลงทุน 500 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบ ดัดแปลง หรือซ่อมแซมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุน 280 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนกันยายน 2563

1.อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต ดัชนีผลผลิตในภาพรวมกลุ่มสินค้าอาหารเดือนกันยายน 2563 ปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 1.1 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง รวมถึงความต้องการบริโภคสินค้าบางชนิดในต่างประเทศชะลอตัว สำหรับสินค้าที่มีผลต่อการปรับลดของดัชนีผลผลิต มีดังนี้ (1) น้ำตาล ลดลง (YoY) ร้อยละ 63.8 (2) เครื่องปรุงอาหารประจำโต๊ะและเครื่องประกอบอาหาร ลดลง (YoY) ร้อยละ 22.9 (3) แป้งมันสำปะหลัง ลดลง (YoY) ร้อยละ 8.5 (4) กุ้งแช่แข็ง ลดลง (YoY) ร้อยละ 16.8 และ (5) เนื้อไก่แช่เย็นและแช่แข็ง ลดลง (YoY) ร้อยละ 1.8

ทั้งนี้ หากไม่รวมน้ำตาล ภาพรวมดัชนีผลผลิตอาหารขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (YoY) นอกจากนี้ ผลผลิตของอาหารสำเร็จรูปและอาหารพื้นฐาน (commodity) บางชนิดยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ (1) ผลไม้และผักแปรรูป ขยายตัว (YoY) ร้อยละ 27.0 (2) ทูน่ากระป๋อง ขยายตัว (YoY) ร้อยละ 11.5 (3) อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ขยายตัว (YoY) ร้อยละ 6.2 (4) ผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 8.2 และ (5) น้ำมันปาล์ม ขยายตัว (YoY) ร้อยละ 5.9

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศเดือนกันยายน 2563 ขยายตัว (YoY) ร้อยละ 19.8 ส่วนหนึ่งมาจากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว "เราเที่ยวด้วยกัน" สำหรับสินค้าบางประเภทที่มีแนวโน้มการบริโภคในประเทศดีขึ้น ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง ขยายตัว (YoY) ร้อยละ 46.6 เนื้อไก่สุกปรุงรส ขยายตัว (YoY) ร้อยละ 35.0 กุ้งแช่แข็ง ขยายตัว (YoY) ร้อยละ 33.4 และปลาแช่แข็ง ขยายตัว (YoY) ร้อยละ 12.5

+ ตลาดส่งออก ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 2,499.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ 3.3 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ (1) น้ำมันปาล์มเนื่องจากการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน (2) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผักกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากความต้องการของตลาดจีน เวียดนาม และฮ่องกง ในช่วงวันไหว้พระจันทร์และวันชาติจีน (3) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการของตลาดหลักอย่างจีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล แทนข้าวโพดที่มีปริมาณผลผลิตลดลง (4) สิ่งปรุงรสอาหาร เนื่องจากการกักตัวของประชาชนในบางประเทศที่ยังมีการระบาดของของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย (5) อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป เนื่องจากความนิยมเลี้ยงสัตว์และพฤติกรรมการเลี้ยงแบบสมาชิกในครอบครัว

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ในภาพรวมเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษที่ได้รับ special tourist visa (STV) เข้ามาพำนักระยะยาว (long stay) ในไทย โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่กระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงโครงการคนละครึ่งและโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย สำหรับมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยตามสถานการณ์ผลผลิตที่ลดลง อย่างไรก็ตาม สินค้าสำเร็จรูปและอาหารพื้นฐานบางรายการยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เช่น ทูน่ากระป๋อง ผลไม้บรรจุกระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อรักษาระดับความมั่นคงด้านอาหาร

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 92.3 สินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ตู้เย็น หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อน สายไฟฟ้า หม้อหุงข้าว เตาอบไมโครเวฟ มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.9, 31.6, 30.6, 27.8, 24.9, 15.0, 12.7, 7.0 และ 5.9 ตามลำดับ โดยตู้เย็น เครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อนและสายไฟฟ้า มีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนเตาอบไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว และมอเตอร์ไฟฟ้า มีการจำหน่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สายเคเบิ้ล คอมเพรสเซอร์ และพัดลมตามบ้าน ปรับตัวลดลงร้อยละ 22.0, 15.8 และ 0.4 ตามลำดับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากในประเทศและต่างประเทศลดลง

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,192.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ มีมูลค่า 197.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 จากตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียนและญี่ปุ่นที่มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และเครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ มีมูลค่า 124.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 ในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและอาเซียน ในขณะที่สินค้าที่มีคำสั่งซื้อลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 401.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.5 ในตลาดญี่ปุ่นและอาเซียน

"คาดการณ์การผลิตเดือนตุลาคม 2563 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตสินค้าในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหยุดชะงัก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่สนับสนุนให้เกิดการซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิต อยู่ที่ระดับ 103.8 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ PWB, Printer, IC, Semiconductor devices transistor และ HDD เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.6, 12.1, 4.5, 1.2 และ 1.1 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ PCBA โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9 เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดต่างประเทศลดลง

+ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,395.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้า Semiconductor devices transistor มีมูลค่า 205.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 ในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียนและจีน และสินค้า HDD มีมูลค่า 995.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ในตลาดสหรัฐอเมริกา จีนและอาเซียน ในขณะที่สินค้า IC มีมูลค่า 640.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.0 ในตลาดจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียนและยุโรป เนื่องจากคำสั่งซื้อในตลาดต่างประเทศลดลง

"คาดการณ์การผลิตเดือนตุลาคม 2563 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก Semiconductor devices transistor เป็นสารกึ่งตัวนำที่ใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทโซลาร์เซลล์ ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงความต้องการ HDD ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G, Data Center และผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ทำให้ยังคงมีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีจำนวน 150,345 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 28.22 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.29 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีจำนวน 77,907 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 13.10 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.54 (%YoY) จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในประเทศมีการฟื้นตัวจากเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการทางด้านการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการทั่วไป ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลและเยีบวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ จึงส่งผลกระทบด้านบวกต่อตลาดรถยนต์

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีจำนวน 63,941 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 11.39 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 34.45 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และอเมริกากลางและใต้ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกมีการฟื้นตัวจากเดือนที่ผ่านมา

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนตุลาคม ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2562 เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีจำนวน 174,645 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 26.69 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.61 (%YoY) จากการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2563 มียอดจำหน่ายจำนวน 133,441 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 6.96 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.22 (%YoY)จากการลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีจำนวน 28,514 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 0.79 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.39 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2562 เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 8.78 โดยเป็นการปรับลดลงในสินค้ายางแปรรูปขั้นปฐมทุกชนิด เนื่องจากมีฝนตกชุกในพื้นที่ กรีดยาง ประกอบกับมีคำสั่งซื้อยางแผ่นรมควันและยางแท่งลดลง

+ ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.50 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศและตลาดส่งออก

+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.09 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ยังคงมีความต้องการใช้ทางการแพทย์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.31 โดยเป็นการขยายตัวในผลิตภัณฑ์น้ำยางข้นตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้น

+ ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.08 ตามการขยายตัว ดีขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 28.75 เนื่องจากผู้ผลิต ในประเทศปรับลดการส่งสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลาง และหันไปทำตลาดต่างประเทศเองมากขึ้น
การส่งออก
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 12.20 ตามความต้องการใช้ของจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.91 ตามการเร่งกักตุนสินค้าของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการขยายตัวของตลาดเกาหลีใต้ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 154.93 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2563

การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากมี ฝนตกชุกในพื้นที่กรีดยางทำให้มีแนวโน้มปริมาณยางเข้าสู่ตลาดลดลง ประกอบกับมีแนวโน้มความต้องการใช้ยางแผ่นรมควันและยางแท่งทั้งในและต่างประเทศลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน สำหรับการผลิตและจำหน่าย ยางรถยนต์คาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มการขยายตัว ดีขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีตามแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออก ในขณะที่การจำหน่ายถุงมือยาง ในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงตามการปรับลดการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางของผู้ผลิตถุงมือยางในประเทศ

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้ภาคการผลิตในหลายประเทศโดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในสินค้าดังกล่าวมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สำหรับการส่งออกยางรถยนต์คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามการเร่งนำเข้าเพื่อกักตุนสินค้าก่อนการประกาศผลการพิจารณาความเสียหายเบื้องต้น กรณีการไต่สวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้า Passenger Vehicle and Light Truck Tires ของไทยในสหรัฐอเมริกา สำหรับการส่งออกถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้นในตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

ดัชนีผลผลิต-ดัชนีการส่งสินค้า

+ ดัชนีผลผลิต เดือนกันยายน 2563 ค่าดัชนีผลผลิต อยู่ที่ระดับ 89.49 ขยายตัวร้อยละ 0.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตขยายตัวในหลาย ๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น พลาสติกแผ่น ขยายตัวร้อยละ 19.40 ถุงพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 13.88 และกระสอบพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 7.75

  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนกันยายน 2563 ค่าดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 87.31 หดตัวร้อยละ 1.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำ โต๊ะ อาหาร ครัวและห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 40.42 แผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 20.50 และท่อ ข้อต่อพลาสติก หดตัว ร้อยละ 7.80
  • การส่งออก เดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 343.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 1.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการส่งออกหดตัวสูงที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (HS 3916) หดตัวร้อยละ 55.15 รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน (HS 3924) หดตัวร้อยละ 27.88 และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบของอาคาร (HS 3925) หดตัวร้อยละ 16.47 การส่งออกหดตัวในตลาดหลัก เช่น จีน และญี่ปุ่น
ปริมาณและมูลค่าการส่งออก-นำเข้า
  • การนำเข้าเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 380.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 7.07 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่ส่งผลให้การนำเข้าหดตัว เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (HS 3921) หดตัวร้อยละ 20.65 กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (HS 3916) หดตัวร้อยละ 19.15 และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของอื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (HS 3926) หดตัวร้อยละ 11.76

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนตุลาคม 2563 คาดการณ์ว่าการผลิตและการส่งออกจะขยายตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นในประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ และอินเดีย รวมถึงการระบาดรอบใหม่ในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยและอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลาสติก

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

+ ดัชนีผลผลิต เดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 102.76 ขยายตัวร้อยละ 0.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน หดตัว ร้อยละ 1.50 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการหดตัวสูงสุด ได้แก่ โซดาไฟ หดตัวร้อยละ 6.91 สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ ขั้นปลาย ขยายตัวร้อยละ 1.40 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตขยายตัวสูงสุด ได้แก่ การผลิตผงซักฟอก ขยายตัว ร้อยละ 25.00

+ ดัชนีการส่งสินค้า เดือนกันยายน 2563 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 106.14 ขยายตัวร้อยละ 4.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการส่งสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน หดตัวร้อยละ 6.13 หดตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์โซดาไฟ สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ดัชนีการส่งสินค้าขยายตัว ร้อยละ 7.03 ขยายตัวในหลาย ๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น ผงซักฟอก ยาสระผม และปุ๋ยเคมี เป็นต้น

+ การส่งออก เดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 716.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่า การส่งออก 393.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 12.24 สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการส่งออก 323.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.98 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด ขยายตัวร้อยละ 45.01 สารลดแรงตึงผิว ขยายตัวร้อยละ 7.54 และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ ขยายตัวร้อยละ 1.37 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในตลาดญี่ปุ่น

  • การนำเข้า เดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 1,198.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 755.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.25 สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้า 443.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.53

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2563 การผลิตและการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในประเทศคู่ค้าหลัก รวมถึงการระบาดรอบใหม่ในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกของไทย

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • ดัชนีผลผลิต การผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเดือนกันยายน ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 111.05 หรือหดตัวร้อยละ 0.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 1.25 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเป็นปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ Ethylene หดตัวร้อยละ 2.21 และปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ Polypropylene resin (PP) หดตัวร้อยละ 2.27

+ ดัชนีการส่งสินค้า ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 109.31 ขยายตัวร้อยละ 1.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 0.08 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเป็นปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ Benzene ขยายตัวร้อยละ 2.12 และปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ ABS resin, PET, PP resin และ PVC resin ขยายตัวร้อยละ 18.08, 14.04, 6.54 และ 4.73 ตามลำดับ

+ การส่งออก การส่งออกเดือนกันยายน ปี 2563 มีมูลค่า 841.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 9.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 8.65 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวในกลุ่มปิโตรเคมี ขั้นพื้นฐาน (เช่น Terephthalic acid, Para-Xylene, Benzene และ Toluene เป็นต้น) หดตัวร้อยละ 37.68 และ หดตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลาย (เช่น PE resin, PP resin, PC resin, PVC resin และ PET resin เป็นต้น) หดตัวร้อยละ 1.20

  • การนำเข้า การนำเข้าเดือนกันยายน ปี 2563 มีมูลค่า 349.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 14.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว ร้อยละ 8.44 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งหดตัวในกลุ่ม ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน (เช่น Vinyl Chloride, Acetic Acid, Ethylene Glycol และ Styrene เป็นต้น) หดตัวร้อยละ 4.63 และหดตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลาย (เช่น PE resin, PP resin, Nylon resin, SR BR rubber และ PMMA resin เป็นต้น) หดตัวร้อยละ 15.63

คาดการณ์แนวโน้ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เดือนตุลาคม ปี 2563 คาดว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาจจะยังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และความกังวลของตลาดโลกกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ (Second Wave Covid-19) ที่ยังคงไม่เข้าสู่สภาวะปกติ

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

+ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน2563 มีค่า 87.5 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการปรับฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มในกลุ่มเหล็กทรงแบน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีค่า 80.9 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่ขยายตัวร้อยละ 52.6 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ขยายตัวร้อยละ 40.1 และ 26.2 ตามลำดับ ตามการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 86.1 หดตัวร้อยละ 4.9 จากการผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อยที่หดตัวร้อยละ 25.5 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน และลวดเหล็ก หดตัวร้อยละ 7.6 และ 6.4 ตามลำดับ

  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 1.2 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.4 ล้านตัน หดตัว ร้อยละ 12.5 จากการจำหน่ายเหล็กลวดที่หดตัวร้อยละ 16.5 และเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรีดร้อน หดตัวร้อยละ 11.0 ในส่วนของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 0.8 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.4 จากการจำหน่ายเหล็กแผ่นหนารีดร้อนที่หดตัวร้อยละ 51.0 รองลงมา คือ เหล็กแผ่น เคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดเย็น หดตัวร้อยละ 22.6 และ 21.30 ตามลำดับ
  • การนำเข้า ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีปริมาณนำเข้า 0.7 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.1 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 39.2 จากการนำเข้าเหล็กเส้น ประเภท Carbon Steel ซึ่งหดตัวร้อยละ 79.1 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน) รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรีดร้อน ประเภท Carbon Steel และเหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel หดตัวร้อยละ 68.1 และ 67.3 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 0.6 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 17.2 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Alloy Steel ซึ่งลดลงร้อยละ 92.6 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น จีน และเบลเยียม) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบาง รีดร้อนประเภท Carbon Steel P&O และเหล็กโครงสร้างรีดเย็น หดตัวร้อยละ 73.4 และ 70.2 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนตุลาคม 2563 คาดการณ์ว่า การผลิตปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่น่าติดตาม เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ราคาสินค้าเหล็กต่างประเทศ และการดำเนินการโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณการผลิต และการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศ"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 16.05 32.58 และ 14.42 (YoY) เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังส่งผลต่อการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป และกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ทำให้การผลิตตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำจนถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 2.41 11.34 และ 4.04 จากการที่คู่ค้าหลายประเทศผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น
การจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ร้อยละ 14.41 28.67 และ 22.15 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบเพื่อการส่งออกลดลง รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศชะลอตัวจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า การจำหน่ายเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน ขยายตัว ร้อยละ 2.55 และ 2.77 ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
การส่งออก
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าลดลง ร้อยละ 12.92 24.33 และ 25.00 ตามลำดับ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตลาดสำคัญที่ลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น อย่างไร ก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า การส่งออกเส้นใยสิ่งทอ ขยายตัว ร้อยละ 5.72 จากการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และบังคลาเทศ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าปลายน้ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการคลายล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศทำให้เริ่มมีความต้องการสินค้าอุปโภคเพิ่มขึ้น
คาดการณ์แนวโน้มเดือนตุลาคม 2563

คาดว่า ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะชะลอตัวตามกำลังซื้อในประเทศ และภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัวทั้งในภาคการผลิตและการส่งออก

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
  • การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีจำนวน 6.74 ล้านตัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 4.97 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.57 (%YoY)

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 2.90 ล้านตัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 5.10 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.00 (%YoY)

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีจำนวน 1.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 149.88 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.98 (%YoY) เป็นผลจากการปรับลดคำสั่งซื้อในตลาดหลัก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา นอกจากนี้ เวียดนาม และศรีลังกา ยังไม่มีคำสั่งซื้อในเดือนนี้ด้วย

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนตุลาคม ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่ามีการปรับตัวลดลงโดยมีหลายปัจจัยลบ ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ทำให้ความต้องการใช้ลดลงการเข้าสู่ช่วงฤดูฝนและการเกิดความไม่สงบทางการเมือง

+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีจำนวน 3.25 ล้านตัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 2.16 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.17 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เดือนกันยายน ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 2.90 ล้านตัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 5.10 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.38 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกันยายน ปี 2563 มีจำนวน 0.31 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ปี 2563 ร้อยละ 8.97 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32.12 (%YoY) เป็นผลจากการปรับลดคำสั่งซื้อในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ กัมพูชา และฟิลิปปินส์

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนตุลาคม ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากหลายปัจจัยลบเช่นเดียวกัน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ