สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2010 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากหลายปัจจัยด้วยกันคือ การปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมต่างๆส่งผลดีต่อการบริโภคพลาสติกเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากการตัวเลขการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแนวโน้มดีอย่างต่อเนื่อง ยอดขายในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่องและส่งออกที่สูงกว่าตลาดในประเทศ โดยมีตลาดสำคัญที่ออสเตรเลียและอาเซียนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็ขยายตัวเช่นกัน ส่งผลให้การบริโภคพลาสติกดีตามไปด้วย อีกทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยังคงดีอยู่จากปัจจัยกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงทำให้มีการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้จ่ายในการตกแต่งบ้าน

ด้านราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวค่อนข้างผันผวน เนื่องจากหลายปัจจัยได้แก่ การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานที่ดีขึ้นแต่ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันแกว่งตัว คือ ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ของสหรัฐยังไม่ดีขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 76.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

การผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

เม็ดพลาสติกมีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เป็นผลมาจากมีความต้องการในการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น อุตสาหกรรมยายยนต์ที่มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น อีกทั้งด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการเจริญเติบโตเพิ่ม ความมั่นใจของผู้บริโภคในการใช้จ่าย รวมถึงผู้ประกอบการพลาสติกมีการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อส่งออกที่มีการส่งออกมากขึ้นในไตรมาสนี้

การค้า

การนำเข้า

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีมูลค่านำเข้าประมาณ จาก 24,091 ล้านบาท มาที่ 25,890 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดอยู่ที่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าสูงถึง 11,384 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด รองลงมาเป็นหมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า3,889 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

การส่งออก

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าส่งออกเท่ากับ 22,804 ล้านบาท จากเดิม 21,430 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2ของปี 2552 โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 6,868 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

สำหรับ ดุลการค้าจะเห็นได้ว่าไทยก็ยังคงขาดดุลการค้าในผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่องการค้าของผลิตภัณฑ์พลาสติกถึงว่าดีกว่าไตรมาสที่ 1 มูลค่าการส่งออกยังคงมีอัตราเติบโตที่ดี ทั้งนี้เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีอัตราการขยายตัวอยู่ ในไตรมาสที่นี้

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ภาพรวมในแต่ละอุตสาหกรรมที่พลาสติกเข้าไปเกี่ยวข้องน่าจะปรับตัวดีขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงสัญญาณในตัวเลขทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตราการทางด้านการเงินปริมาณการส่งออก ส่งผลให้การผลิตภัณฑ์พลาสติกดีตามไปด้วย ทั้งนี้ยังมีสัญญาณที่ดีจากอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแนวโน้มดีอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายการผลิตของปี 2553 อยู่ที่ 1.5ถึง 1.6 ล้านคัน จะเป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคพลาสติกเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ความต้องการชิ้นส่วนของตลาดโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ของไทย อุตสาหกรรมก่อสร้าง การใช้จ่ายของภาครัฐในการลงทุนรถไฟฟ้าน่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น ในรถไฟฟ้าสายสีแดง สีม่วง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ