สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2010 14:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีค่าดัชนีผลผลิต 104.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 8.3 ในส่วนของภาวะการผลิตกระดาษ โดยเฉพาะกระดาษที่ใช้สำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเช่นเดียวกันกับค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษโดยรวมที่ลดลง (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) เนื่องจากยังคงมีสินค้าคงเหลือจากการผลิตในไตรมาสก่อน ประกอบกับในไตรมาสนี้เป็นช่วงที่การผลิตชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในที่ส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน ค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษเกือบทุกประเภท เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยบวกที่สำคัญ อาทิ การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ตลาดในประเทศและตลาดโลก การขยายตัวในสินค้าส่งออกเกือบทุกหมวด และการขยายตลาดใหม่ ตลอดจนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ล้วนส่งผลให้เกิดความต้องการในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษสำหรับจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณา ไปรษณียบัตรและบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่า 188.6 349.6 และ 121.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.8 10.1 และ 52.6 ตามลำดับ และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และครึ่งปีแรกของปี 2553 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน(ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และครึ่งปีแรกของปี 2553 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า แต่สำหรับสิ่งพิมพ์ ปริมาณการนำเข้า กลับลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4)

สาเหตุที่มีการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานของตลาดภายในและตลาดต่างประเทศขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น โดยมีแหล่งนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษที่สำคัญจากประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าเศษกระดาส่วนแหล่งนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษโดยรวมที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีนแต่หากพิจารณาจากประเภทกระดาษย่อยที่มีการนำเข้ามากที่สุด คือ กระดาษแข็งประเภทเคลือบโพลิเอทิลีนสำหรับการผลิตที่รองก้นถ้วยกระดาษ นำเข้าจากสิงคโปร์ถึงร้อยละ 90 สำหรับการที่ปริมาณนำเข้าสิ่งพิมพ์ ลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยมีแหล่งนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเภทสิ่งพิมพ์ที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ จะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้า ส่วนประเภทสิ่งพิมพ์ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา จะเป็นหนังสือ ตำราแบบเรียน

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่า 21.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 14.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ปริมาณความต้องการใช้เยื่อกระดาษของคู่ค้าที่สำคัญอย่างจีนลดลง เนื่องจากจีนสามารถผลิตเยื่อกระดาษรองรับกับปริมาณความต้องการใช้ภายในประเทศได้เพิ่มขึ้น และมีส่วนเหลือสำหรับส่งออกด้วย แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และครึ่งปีแรกของปี 2553 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.9 และ 11.8 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย และบังคลาเทศ

ในส่วนปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และครึ่งปีแรกของ ปี 2553 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน ปริมาณกลับลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6) เนื่องจากราคาเยื่อกระดาษได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณตันละ 150 - 200 เหรียญสหรัฐฯ

ภาวะการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่า322.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.9 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และครึ่งปีแรกของปี 2553 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับไตรมาสก่อน(ตารางที่ 5) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีทิศทางลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6) สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ปัจจัยทางด้านราคากระดาษที่ปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบที่สูงขึ้นทั้งเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ส่งผลให้บางประเทศ อาทิ เวียดนามสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ชะลอการนำเข้าลง แต่สำหรับประเทศที่เป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของไทยอย่างมาเลเซีย ยังคงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและมูลค่า

ภาวะการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่า 306 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 44.8 เป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกไปยังฮ่องกงซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญ อาจด้วยเหตุผลความไม่สงบทางการเมืองภายใน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และครึ่งปีแรกของปี 2553 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน มูลค่าการส่งออกกลับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.4 และ 28.4 ตามลำดับ ซึ่งสวนทางกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 5)

ในส่วนปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และครึ่งปีแรกของปี 2553 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน (ตารางที่ 6) เป็นเพราะการขยายตัวของการส่งออกสิ่งพิมพ์จำพวกปลอดการปลอมแปลง ในตลาดส่งออกหลัก คือ ฮ่องกง

3. สรุปและแนวโน้ม

สถานการณ์ภาวะการผลิต และการส่งออกอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ โดยรวมในไตรมาสนี้ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่การผลิตในประเทศชะลอตัว ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ รวมถึงราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ส่งผลให้ผู้นำเข้าเริ่มชะลอคำสั่งซื้อไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบครึ่งปีแรกของปี 2553 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจาก การขยายตัวของอุปสงค์และอุปทานตลาดภายในและตลาดโลก รวมถึงการขยายตัวในสินค้าส่งออกเกือบทุกหมวด ส่งผลให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ได้รับอานิสงค์ในการขยายตัวตามไปด้วย โดยมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษในการห่อหุ้ม หรือการขนส่งสินค้า การพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้า และคู่มือการใช้สินค้า

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่า ทั้งภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ มาเลเซียเวียดนาม และเกาหลีใต้ รวมถึงตลาดภายใน และการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ น่าจะมีทิศทางเป็นบวกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย คาดว่า จะเริ่มมีการทยอยผลิตสินค้าเพื่อเตรียมรองรับเทศกาลต่าง ๆ อาทิ คริสต์มาส และปีใหม่

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ