สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2010 15:11 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีการผลิตยางแผ่นและยางแท่งลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 40.38 และ 25.76 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำยางน้อยลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางแผ่นและยางแท่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.47 และ ร้อยละ 25.87 ตามลำดับ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง แบ่งออกเป็น การผลิตยางนอกรถยนต์ประมาณ 6.41 ล้านเส้น ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน 10.49 ล้านเส้น และยางใน 16.17 ล้านเส้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.28 ในขณะที่การผลิตยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน ลดลงร้อยละ 7.23 และ 8.78 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.75 13.50 และ 10.56 ตามลำดับ ในส่วนของการผลิตถุงมือยางมีการผลิต จำนวน 3,053.98 ล้านชิ้นเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.27 และ 8.96 ตามลำดับ

สำหรับในครึ่งแรก ปี 2553 ผลิตภัณฑ์ยางของกลุ่มยางนอกรถยนต์มีการผลิตประมาณ 12.82 ล้านเส้น ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน 21.80 ล้านเส้น และยางใน 33.90 ล้านเส้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.81 20.27 และ 22.43 ตามลำดับ และในส่วนของการผลิตถุงมือยาง มีปริมาณการผลิต 5,955.15 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.36

การผลิตผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำยางธรรมชาติน้อยลง สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะในกลุ่มยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน มีการชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากปัญหาทางการเมืองทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคชะลอการลงทุนและการบริโภคออกไป แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อมองในภาพรวมช่วงครึ่งแรกปี 2553 แล้ว การผลิตผลิตภัณฑ์ยางมีการขยายตัวเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางยานพาหนะเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางไม่มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 การจำหน่ายยางแผ่นและยางแท่งในประเทศลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 40.06 และ 17.19 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 4.75และ 28.31 ตามลำดับ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาง แบ่งออกเป็น การจำหน่ายยางนอกรถยนต์ 4.82 ล้านเส้นยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน 5.48 ล้านเส้น และยางใน 9.53 ล้านเส้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการจำหน่ายยางนอกรถยนต์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.08 ในขณะที่การการจำหน่ายยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน ลดลงร้อยละ 2.82 และ 6.30 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.18 9.74 และ 2.98 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายถุงมือยาง มีจำนวน 180.35 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 12.26 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.71

สำหรับในภาพรวม ครึ่งแรก ปี 2553 มีการจำหน่ายยางนอกรถยนต์ประมาณ 9.65 ล้านเส้น ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน 11.11 ล้านเส้น และยางใน 19.69 ล้านเส้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.76 19.16 และ 14.02 ตามลำดับ สำหรับถุงมือยางมีการจำหน่าย385.89 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.14

การจำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเกิดปัญหาทางการเมืองทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคชะลอการลงทุนและการบริโภคออกไป แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมีการขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น

2.2 ตลาดส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทยประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยมีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 จำนวน 1,625.47 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 15.62 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ สำหรับในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางประกอบด้วยยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของหลอดและท่อ สายพานลำเลียงและสายพานส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก จำนวน 1,489.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ2.20 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.55 ตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีนสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี

สำหรับในภาพรวม ครึ่งแรกปี 2553 มูลค่าการส่งออก ยางแปรรูปขั้นต้นมีมูลค่า 3,551.77ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น กว่าหนึ่งเท่า และการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง มีมูลค่า 3,013.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.30

มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทยลดลงในไตรมาส 2 ปี 2553 เป็นผลจากเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก คือ ประเทศจีนชะลอตัวลง เนื่องจากรัฐบาลจีนมีการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ลดภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าที่สำคัญของจีน ซึ่งรวมไปถึงยางพาราชะลอตัวลงตามไปด้วย ประกอบกับผู้ส่งออกยางไทยส่วนหนึ่งหันไปส่งออกยางคอมปาวด์ หรือยางผสม แทนยางแผ่น ยางแท่ง เนื่องจากจีนลดภาษีผลิตภัณฑ์ยางลง เหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ต้นปี 2552 ในขณะที่การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นยังคงเสียภาษีร้อยละ 5 อีกทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปยังขยายตัวไม่เต็มที่ ทำให้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคการบริโภคในประเทศเหลา นี้ลดลงตามไปด้วย ในขณะที่เมื่อพิจารณาในภาพรวมช่วงครึ่งแรก ปี 2553 การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ซึ่งปัจจัยสำคัญคือภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวด้วย

2.3 ตลาดนำเข้า

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางรวมเศษยาง และวัสดุทำจากยางมีมูลค่า 456.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 18.79 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว และในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 847.21 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 93.55 เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับประเภทสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางวัลแคไนซ์ ยางรถยนต์ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง โดยเป็นการนำเข้ายางสังเคราะห์ถึง ร้อยละ 50 ตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี

3. สรุปและแนวโน้ม

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางเริ่มขยายตัว ตั้งแต่ต้นปี 2553 แต่ชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ทั้งนี้เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำยางน้อยลง รวมทั้งปัญหาทางการเมืองทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคชะลอการลงทุนและการบริโภคออกไป อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมช่วงครึ่งแรกปี 2553 แล้ว อุตสาหกรรมยางแลผลิตภัณฑ์ยางยังมีการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางยานพาหนะ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางไม่มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

สำหรับการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับยางแปรรูปขั้นต้นชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ลดภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าที่สำคัญซึ่งรวมไปถึงยางพาราลดลงตามไปด้วย แต่เมื่อมองในภาพรวม การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางยังขยายตัวได้ดีตามฃภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นและกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวด้วย

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางจะยังขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าการส่งออกไปยังประเทศจีนจะเริ่มชะลอตัว แต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวด้วยสำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย

ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ความผันแปรของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการผลิตยาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบยางและต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญเช่น ประเทศมาเลเซีย และจากการขยายการผลิตของประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ เช่นประเทศเวียดนามซึ่งทำให้ประเทศผู้ใช้ยางมีทางเลือกอื่นมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ