สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2010 15:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย)ลดลงร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้ง และผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 52.7 และ 11.1 (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตที่เป็นวัตถุดิบได้รับความเสียหายประกอบกับเกิดการระบาดอย่างรุนแรงของเพลี้ยแป้งที่เป็นศัตรูพืชของมันสำปะหลังส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบลดลง แต่หากพิจารณารวมการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 53.3 เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิต สำหรับภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีการผลิตลดลงร้อยละ 79.2จากปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง ประกอบกับมีความกังวลกับปัญหาภัยแล้ง ทำให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยอายุไม่ถึงเกณฑ์ ส่งผลต่อคุณภาพหรือค่าความหวานของอ้อยในภาพรวมปี 2552/53 ลดลง

การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะภัยธรรมชาติทำให้พืชผลซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักลดลง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลัง และธัญพืช การผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.8 สำหรับการผลิตสินค้าแปรรูปปศุสัตว์ และประมง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.3 และ 7.2 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าสินค้าอาหารคุณภาพจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกุ้งและผลิตภัณฑ์ ปลาทูน่ากระป๋อง ที่ได้รับผลดีจากการเกิดวิกฤตน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก ทำให้สหรัฐอเมริกาและแคนาดา นำเข้าสินค้าประมงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้การผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.5

ในส่วนสินค้าอาหารเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและบริโภคในประเทศ เช่น น้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์นม พบว่า มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.1 และ 23.6 เนื่องจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ทำให้การนำเข้านมและผลิตภัณฑ์ และเมล็ดน้ำมันพืช เพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.8 และ 22.4 ตามลำดับเป็นผลจากภาวะราคาสินค้าอาหาร เช่น ผัก ไข่ไก่และเนื้อสัตว์มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับเกิดสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทำให้ผู้บริโภคกักตุนสินค้าอาหารในช่วงดังกล่าว และหันมาบริโภคสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูปทดแทนเนื้อสัตว์ที่มีราคาเปรียบเทียบสูงกว่า

ภาพรวมการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารครึ่งปี 2553 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของครึ่งปีก่อน เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดและหากพิจารณาเป็นรายกลุ่ม กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกสำคัญ เช่น ประมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ผักผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 ซึ่งถ้าไม่รวมการผลิตน้ำตาล ที่มีการผลิตลดลงร้อยละ 8.9จะทำให้ภาพรวมการผลิตอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของครึ่งปีก่อน

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) เป็นผลมาจากความวิตกกังวลในภาวะเศรษฐกิจเริ่มลดลง และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดภาระค่าครองชีพ และการแจกเช็คช่วยชาติกับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังเกิดสถานการณ์การกักตุนสินค้าอาหารจากผลกระทบความรุนแรงการเมือง ส่งผลให้ความต้องการที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในภาพรวมเกือบทุกกลุ่มสินค้าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ ผักและผลไม้ ร้อยละ 44.2 น้ำมันพืช ร้อยละ 14.7 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 30.5 ประมง ร้อยละ 5.5 และปศุสัตว์ ร้อยละ 7.1

นอกจากนี้ สินค้าอาหารอื่น ๆ ที่มีการจำ หน่ายลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.8 ธัญพืชและแป้ง ร้อยละ 29.7 และน้ำตาล ร้อยละ 23.5 เนื่องจากมีการปรับขึ้นราคา และเกิดความขาดแคลนของน้ำตาลที่จะส่งเข้าตลาดในประเทศ จากการจัดสรรโควตาน้ำตาลเพื่อใช้ในประเทศภายหลังการระบายการส่งออกตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

สำหรับการจำหน่ายในประเทศเปรียบเทียบระหว่างครึ่งปี 2552 และ 2553 พบว่าภาพรวมการจำหน่ายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของครึ่งปีก่อนร้อยละ5.0 และเมื่อพิจารณาเป็นหมวดสินค้าส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.8 ธัญพืชและแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 20.2 ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ร้อยละ 4.9 และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 29.8 อย่างไรก็ตามสินค้าสำคัญที่มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศสูง ได้แก่ น้ำตาล กลับมีปริมาณจำหน่ายลดลงร้อยละ 8.3 เนื่องจากประชาชนยังมีการคาดการณ์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่เพิ่มขึ้นมากนัก จากปัจจัยด้านราคาน้ำมันเป็นสำคัญที่ส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

2.2 ตลาดต่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 5,913.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 191,510.3 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ0.6 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 7.5 ในรูปของเงินบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 จะพบว่า ภาวะการส่งออกในรูปของมูลค่าเพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงในอัตราที่มากกว่า จึงสรุปได้ว่าแม้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่จากภาวะเศรษฐกิจของตลาดโลกที่มีสัญญาณฟื้นตัว ทำให้ราคาเปรียบเทียบเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบระหว่างครึ่งปี 2553 และ 2552 จะเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 15.7 ในรูปของเงินบาท สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป มีมูลค่าการส่งออก 1,630.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 52,797.8 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 6.1 ในรูปเงินบาทจากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 15.6 ในรูปดอลลาร์ฯและร้อยละ 13.8 ในรูปเงินบาท ส่วนอาหารทะเลกระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 2.0ในรูปเงินบาท และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ในรูปดอลลาร์ฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในรูปเงินบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกโดยเปรียบเทียบครึ่งปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 3,143.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 102,562.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 16.0 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.2 ในรูปเงินบาท โดยหากพิจารณาการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น จากการที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในอาหารทะเลจากภายในประเทศ และเกิดโรคระบาดในกุ้งจากผู้ผลิตกุ้งหลายประเทศประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ในส่วนปลาทูน่ากระป๋อง มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ราคาเปรียบเทียบปรับเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปริมาณส่งออกยังสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูป มีมูลค่าการส่งออก 666.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ 21,581.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 16.9 ในรูปเงินบาทจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 0.9 ในรูปเงินบาท เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการสับปะรดกระป๋องจากตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และหากเทียบระหว่างครึ่งปี 2553 และ 2552 พบว่า มูลค่าการส่งออกผักผลไม้แปรรูปในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 และ 5.9 ในรูปดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามลำดับ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์แปรรูป มีมูลค่าการส่งออก 431.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ 13,986.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.4 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 7.8 ในรูปเงินบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไก่แปรรูปที่มีการขยายตัวสูงขึ้น และได้มีการรับรองโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าหลักสินค้าไก่แปรรูป คือ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปสั่งซื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ประเทศแถบตะวันออกกลางที่เป็นมุสลิมให้การยอมรับอาหารฮาลาลจากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศรัสเซีย และเวียดนามมีการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเพิ่มขึ้น สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างครึ่งปี 2553 และ 2552 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 2.1 ในรูปเงินบาท โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 1,949.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 63,127.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.2 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 11.6 ในรูปเงินบาทจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากราคาส่งออกสินค้าข้าวยังปรับลดลง เนื่องจากปริมาณข้าวของประเทศผู้ผลิตและส่งออก ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 จากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังของไทย รวมทั้งมีตลาดรองรับอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ในรูปดอลลาร์ฯและร้อยละ 0.1 ในรูปเงินบาท จากราคาที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน และหากเทียบระหว่างครึ่งปี 2553 และ2552 มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 13.8 ในรูปเงินบาท เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 860.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ27,851.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.0 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 54.8 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 2.2 ในรูปเงินบาท สำหรับการเทียบระหว่างครึ่งปี 2553 และ 2552 พบว่า มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 92.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 79.2 ในรูปเงินบาท เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลก เนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดต่ำลง จากการที่อินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง สามารถผลิตและส่งออกได้ลดลง
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 375.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ12,165.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 14.9 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 4.5 ในรูปเงินบาท และเมื่อเทียบระหว่างครึ่งปี 2552 และ 2553 มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ10.5 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 2.9 ในรูปเงินบาท โดยเป็นผลจากราคาส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า

2) การนำเข้า

การนำเข้าสินค้าอาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีมูลค่ารวม 1,106.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 44,651.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.9 ในรูปเงินบาทจากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน ร้อยละ 88.4 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 84.2 ในรูปเงินบาท และปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 11.4 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.6 ในรูปเงินบาท (ตารางที่ 5) และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จะพบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 5.9 ในรูปเงินบาท จากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้ากากพืชน้ำมันร้อยละ 20.3 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 10.5 ในรูปเงินบาท จากความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

เมื่อเทียบระหว่างครึ่งปี 2552 และ 2553 จะพบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 12.8 ในรูปเงินบาท โดยเป็นการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 66.6 ในรูปดอลลาร์ หรือร้อยละ 55.5 ในรูปเงินบาท ส่วนหนึ่งมาจากราคาเปรียบเทียบที่ลดลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รองลงมา คือ กากพืชน้ำมัน ร้อยละ 46.1 ในรูปดอลลาร์ฯหรือร้อยละ 36.2 ในรูปเงินบาท และปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 12.9 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 5.5ในรูปเงินบาท ในส่วนการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมันเพิ่มขึ้นในรูปดอลลาร์ฯ ร้อยละ 4.9 แต่ลดลงร้อยละ 2.5 ในรูปเงินบาท

3. นโยบายของภาครัฐ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น การประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับการขออนุมัติย้ายโรงงานน้ำตาลที่ต้องมีผลผลิตรองรับตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม ได้แก่

3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เห็นชอบในหลักยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553-2556 เพื่อยกระดับด้านมาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมาตรฐานคุณภาพ และความปลอดภัย เพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งเพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

3.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบในหลักการแผนการพัฒนาสุกรทั้งระบบและแผนปฏิบัติงาน พ.ศ. 2553-2557 เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานพัฒนาสุกรทั้งระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสาระสำคัญของแผนฯ เป็นการพัฒนาและควบคุมคุณภาพการผลิตสุกรตั้งแต่การจัดการฟาร์มที่ถูกสุขลักษณะ การเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรค ตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์ ปัจจัยการผลิต และการปรับปรุงพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ การฆ่าชำแหละ รวมถึงการขนส่งซากสุกรที่ถูกสุขอนามัย โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยศัตรูพืชระบาด (เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล)ของจังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก สุพรรณบุรี และอุตรดิตถ์ โดยจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวมทั้งสิ้น 358 ล้านบาท เพื่อตั้งจ่ายที่กรมส่งเสริมการเกษตร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และต้องมีการตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรผู้ได้รับความเสียหายให้ครบถ้วนถูกต้องและไม่ซ้ำซ้อน ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกอยู่บ้าง แต่ยังจัดอยู่ในระดับดี โดยภาคการผลิตบางส่วนจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศอยู่ในระดับชะลอตัวจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท แต่ในภาพรวมภาคการผลิตเพื่อการส่งออกกลับได้รับการยอมรับจากประเทศนำเข้าอย่างต่อเนื่อง จากอุปทานในตลาดโลกที่ลดลง เพราะประเทศผู้ผลิตสำคัญประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และโรคระบาด นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดไปยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 คาดว่า จะยังคงมีทิศทางการผลิต และการส่งออกที่ชะลอตัว ตามฤดูกาลของอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาวะวิกฤตการณ์การเงินในประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่แม้จะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น และภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวชี้นำราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการใช้นโยบายแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าโดยการกดค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนตัวเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ นอกจากนี้สินค้าอาหารจะถูกกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะทำ ให้การส่งออกช่วงไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงได้ สำหรับแนวโน้มการจำหน่ายในประเทศจะยังคงชะลอตัวเช่นกัน เนื่องจากยังมีความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย ภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ