สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 4 ก.ค. — 8 ก.ค. 54

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 4, 2011 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 27 มิ.ย. — 1 ก.ค. 54 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 110.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เพิ่มขึ้น 0.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 93.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 104.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลง 1.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 1.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 120.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่ ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - Mr. Abdullah al-Badri เลขาธิการ OPEC เห็นว่าองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ควรหยุดใช้น้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากปริมาณน้ำมันในตลาดมีพอเพียง - 30 มิ.ย. 54 รัฐสภากรีซผ่านมาตรการรัดเข็มขัดที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี George Papandreou นำเสนอ ซึ่งจะช่วยให้ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสหภาพยุโรป - ประธานธนาคารกลางของกลุ่มสหภาพยุโรป (ECB) นาย Jean-Claude Trichet ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มิ.ย. 54 ลดลง 1,000 ราย จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 428,000 ราย - สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเชิงพาณิชย์สัปดาห์สิ้นสุด 24 มิ.ย. 54 น้ำมันดิบอยู่ที่ 359.5 ล้านบาร์เรล ลดลง 4.4 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ลดลงติดต่อกัน 4 สัปดาห์) และ Gasoline อยู่ที่ 213.2 ล้านบาร์เรล ลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Distillate เพิ่มขึ้น 0.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 142.3 ล้านบาร์เรล ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เปิดเผยรายนามบริษัทบางส่วนที่ประมูลซื้อน้ำมันดิบจากปริมาณสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves) ปริมาณรวม 30.6 ล้านบาร์เรล อาทิ Valero (6.9 ล้านบาร์เรล), Vitol (4 ล้านบาร์เรล) และ Shell (3.7 ล้านบาร์เรล) - ซาอุดีอาระเบียยืนยันการเพิ่มระดับการผลิตน้ำมันดิบปริมาณ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 54 - ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของไนจีเรียเดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อน) สูงสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง - ผู้บริหารบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียคนใหม่ นาย Omran Abukraa กล่าวว่าลิเบียเก็บสำรองน้ำมันดิบในคลังปริมาณกว่า 1 ล้านบาร์เรล ซึ่งสามารถส่งออกได้ทันทีเมื่อเหตุการณ์ไม่สงบคลี่คลาย - อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 1/2554 ลดลง 1.2% จากไตรมาส 4/2553 อยู่ที่ 1.9% เนื่องจากอัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง และธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว - Conference Board ของสหรัฐฯ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. 54 ลดลง 3.2 จุด อยู่ที่ 58.5 จุด - Institute for Supply Management รายงานดัชนีภาคอุตสาหกรรมของประเทศสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 54 ลดลงจากเดือนก่อน 1.7 จุด อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด - Mr.Wen Jiabao นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชาชนจีน กล่าวว่าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อปี 54 ให้ต่ำกว่า 5% (เดือน พ.ค. 54 อยู่ที่ 5.5%) ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 107-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและ 89-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ ทั้งนี้ราคาน้ำมันมีความผันผวนปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา โดยนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซมากขึ้น หลังจากรัฐสภากรีซมีมติผ่านมาตรการรัดเข็มขัดระยะเวลา 5 ปี มูลค่า 2.84 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการรับเงินช่วยเหลือ 1.2 หมื่นล้านยูโร จาก IMF และสหภาพยุโรป ขณะที่อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปของจีนมีแนวโน้มแข็งแกร่งในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยทางการยกเลิกการจัดเก็บภาษีนำเข้า Diesel และ Jet Fuel เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 54 อย่างไรก็ตามการขาดดุลงบประมาณและการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่มีข้อจำกัด ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง นอกจากนั้น IEA อาจมีมาตรการระบายน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ออกสู่ตลาดอีกหากมีความจำเป็น ทั้งนี้ให้จับตาการประชุมของธนาคารกลางยุโรป ในวันที่ 7 ก.ค. 54 ซึ่งมีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และติดตามปริมาณสำรองน้ำมันของสหรัฐฯ, ยอดสั่งซื้อสินค้า อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป ในไตรมาส 1/54 ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อราคาน้ำมัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ